เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ตอนที่ 1

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ตอนที่ 1

 

รศ.นพ.ชัยยศ  ธีรผกาวงศ์

ภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Leiomyoma or fibromyoma or fibroid or myoma uteri) เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของกล้ามเนื้อมดลูก ตัวเนื้องอกประกอบด้วยกล้ามเนื้อมดลูกเป็นส่วนใหญ่ และมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเป็นองค์ประกอบอยู่บ้าง

เนื้องอกชิดนี้พบได้บ่อยในสตรีที่อายุเกิน 35 ปี ถึงร้อยละประมาณ 20-25 พบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 40-50 ปี พบมากในสตรีผิวดำ มากกว่าผิวขาวและชาวตะวันออก 2 ถึง 5 เท่า สตรีที่แต่งงานแล้วแต่ไม่มีบุตรมีแนวโน้มที่จะพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้น

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกเกิดจากการเปลี่ยนของเซลกล้ามเนื้อไปเป็น myoma (somatic mutation) ตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่ทราบแน่นอน สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม เนื่องจากพบในครอบครัวสืบทอดกันมาค่อนข้างบ่อย

เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศหญิง) และตัวเร่งการเติบโตที่มดลูก (Growth factor) มีส่วนเร่งให้ตัวเนื้องอกโตขึ้น ดังนั้นเนื้องอกนี้จะพบในวัยเจริญพันธุ์ และเล็กลงหลังเข้าวัยหมดระดู ยิ่งกว่านั้นการให้ฮอร์โมนทดแทน (เอสโตรเจน) จะทำให้ขนาดเนื้องอกโตเร็วกว่าธรรมดา

ลักษณะที่มองเห็นด้วยตาเปล่า โดยทั่วไปมดลูกโตไม่สม่ำเสมอ ส่วนก้อนเนื้องอกจะมีลักษณะค่อนข้างกลม และมักจะเป็นหลายๆก้อน แยกจากกล้ามเนื้อปกติได้ชัดเจน จะเห็นมีลักษณะคล้ายแคปซูลล้อมรอบ ซึ่งแคปซูลนี้ก็คือกล้ามเนื้อมดลูกปกติที่ถูกเบียดโดยก้อนเนื้องอกจนแบนคล้ายแคปซูลล้อมรอบเนื้องอกเอาไว้ ส่วนมากค่อนข้างแข็ง ยกเว้นรายที่มีการเสื่อมสภาพ หรือมีเลือดออกภายใน สีของเนื้องอกอาจเป็นสีเทาอ่อนหรือสีชมพูขาว ขึ้นอยู่กับจำนวนเลือดที่มาเลี้ยง ตัดดูตามขวางจะเห็นเป็นใยไขว้ไปมา หรือเห็นเป็นวงๆ
 

ชนิดของเนื้องอกเรียกชื่อตามตำแหน่งที่สัมพันธ์กับผนังมดลูก แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

1. อยู่ใต้ชั้น serosa เรียกว่า Subserous type

2. อยู่ในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก เรียกว่า Intramural type  

3. ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูกอยู่ใต้ชั้น mucosa เรียกว่า Sub-mucous type

 

อาการและอาการแสดง

            ประมาณร้อยละ 20-30  ของเนื้องอกเท่านั้นที่มีอาการ อาการสำคัญที่พบได้ คือ

            1. เลือดออก ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดเลือดประจำเดือนออกมากและนาน มีลิ่มเลือดปนเป็นก้อน เนื่องมาจากพื้นที่ผิวของมดลูกมีมากกว่าปกติจากการที่มีก้อนเนื้องอกไปเพิ่มพื้นที่ผิวภายในของเยื่อบุโพรงมดลูก บางครั้งเลือดอาจออกไม่ตรงกับรอบระดู อาจออกนานติดต่อกัน หรือออกๆ หยุดๆ สลับกับอาการตกขาว อาจเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อร้าย หรือมีแผลที่ผิวนอกของก้อนเนื้องอกชนิด submucous myoma มีครรภ์ร่วมด้วย มีมะเร็งของเยื่อบุมดลูก หรือมี endometrial polyp ร่วมด้วย

               2. อาการถูกกดเบียดจากเนื้องอก ก้อนเนื้องอกที่กดเบียดกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายที่บริเวณหัวหน่าว ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะค้างหรือไหลโดยไม่รู้สึกตัว ท้องผูก บางครั้งขาบวมหรือมีอาการหลอดเลือดขอดได้ถ้าก้อนใหญ่พอ บางครั้งมีการกดที่เส้นประสาทภายในอุ้งเชิงกราน อาจจะเจ็บปวดมากซึ่งส่วนใหญ่พบในกลุ่มที่เป็นเนื้อร้าย ถ้าเนื้องอกโตออกไปทางด้านข้างของอุ้งเชิงกรานก็อาจจะกดเบียดท่อไต ทำให้เกิดไตบวม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังข้างที่มีสภาพ                                                      

               3. ก้อนในท้อง อาจจะไม่มีอาการอะไรเลยนอกจากคลำได้ก้อนบริเวณท้องน้อยโดยบังเอิญ หรือรู้สึกว่าท้องโตขึ้น

               4. การเจ็บปวด โดยทั่วไปก้อนเนื้องอกนี้มักไม่มีอาการปวด ถ้ามีอาการปวดมักเกิดจาก

                  - การบิดของก้อนชนิด subserous 

                   - มีการเสื่อมสภาพของก้อน มีเลือดออกในก้อน หรือมีการอักเสบ

                   - มีการเปลี่ยนแปลงของก้อนไปเป็นมะเร็ง

                   - มีการบีบตัวของมดลูกเพื่อขับเอาก้อนเนื้องอกชนิด submucous

               5. หายใจลำบาก เป็นภาวะที่พบได้น้อย เกิดจากการที่มีการแพร่กระจายของตัวเนื้องอกไปที่ปอด

               6. ตกขาว เกิดจากมีการคั่งของเลือดในอุ้งเชิงกรานพร้อมๆกับมีการหนาตัวของเยื่อบุคอมดลูก ทำให้มีตกขาวเป็นมูก รายที่มีการเสื่อมสภาพของก้อนที่ยื่นเข้าในโพรงมดลูก ตกขาวจะมีลักษณะมูกปนหนองหรืออาจจะเป็นเลือดจางๆ ถ้ามีการอักเสบหรือเนื้อตาย จะมีตกขาวเป็นสีน้ำตาลและมีกลิ่นเหม็นคาวจัด

               7. การตกเลือดในช่องท้อง เป็นภาวะที่พบน้อยเกิดจากมีการแตกหรือฉีกขาดของหลอดเลือดที่ผิวนอกของก้อน จะมีอาการตกเลือดในช่องท้องคล้ายการตกเลือดในการตั้งครรภ์นอกมดลูก

 

การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก

               1. Hyaline and cystic degeneration เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการที่เลือดที่มาหล่อเลี้ยงน้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง

               2. Calcareous degeneration (Calcification) มักพบในเนื้องอกที่เป็นอยู่นานมีเลือดหล่อเลี้ยงน้อยลง เช่นในวัยหมดระดู หรือพวก subserous myoma ที่มีก้านเล็กลักษณะที่แคลเซียมมาจับนี้สามารถเห็นได้ด้วยภาพเอกซ์เรย์

               3. Red degeneration เกิดจากการที่มีเลือดออกในเนื้องอก เนื่องจากมีการอุดตันของหลอดเลือดดำ มักพบในขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอดใหม่ๆ มีอาการปวดตรงตำแหน่งก้อน กดเจ็บ บางครั้งมีไข้ต่ำๆ รักษาแบบประคับประครอง ให้ยาแก้ปวด อาการหายเองภายใน 2-3 วัน

               4. การติดเชื้อและเกิดหนอง การอักเสบติดเชื้อพบไม่บ่อยนัก มักจะเกิดกับพวก submucous 

เพราะมีทางติดต่อกับช่องคลอด เชื้อรุนแรงทำให้เป็นหนองได้ ส่วนชนิด subserous ถ้าอักเสบก็เพราะได้รับเชื้อจากท่อนำไข่

               5. Sarcomatous change โอกาสที่เนื้องอกชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ร้อยละ 0.5 ถ้าก้อนโตเร็วในวัยหมดระดูประกอบกับมีอาการตกเลือด ควรนึกถึงภาวะนี้ไว้เสมอ              

 

                             - มีต่อตอนที่ 2 -

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด