ภูมิแพ้…รักษาได้

ภูมิแพ้…รักษาได้  

รศ.นพ. ต่อพงษ์  ทองงาม

                              สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน
ภาควิชาอายุรศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โรคภูมิแพ้ เป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยากับ “สารก่อภูมิแพ้” ซึ่งที่พบได้บ่อยได้แก่  ไรฝุ่น  ละอองเกสรหญ้า  หรือพวกขนสัตว์ต่าง ๆ ฯลฯ เมื่อสารก่อภูมิแพ้สัมผัสกับเยื่อบุของร่างกาย ร่างกายจะปล่อยสารสำคัญ เรียกว่า “ฮีสตามีน” ออกมา ทำให้เกิดอาการะคายเคือง

 

โรคภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย ได้แก่

          1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

            อาการ น้ำมูกใส จาม คันจมูก คัดจมูก บางรายอาจมีอาการของไซนัสอักเสบร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการทางตา เช่น คันตา ตาแดง รอบตามีสีคล้ำ บางรายอาจมีอาการหูอื้อ หรือหูชั้นกลางอักเสบ

          2. โรคหืดภูมิแพ้

          อาการ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด ไอเรื้อรังโดยเฉพาะในเวลากลางคืน เวลาเป็นหวัดจะไอนานกว่าปกติ บางรายอาจเคยใช้ยาขยายหลอดลมแล้วรู้สึกดีขึ้น

          3. โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

          อาการ มีผื่นคันมาก ในระยะแรกผื่นอาจมีน้ำเหลืองปกคลุมอยู่ ในระยะเรื้อรังผื่นจะแห้ง และผิวหนังจะหนาขึ้น เกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ในเด็กจะพบได้บ่อยกว่า

 

ภูมิแพ้กับพันธุกรรม

           โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง  คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้บุตรมีโอกาสที่จะเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าหากคุณพ่อคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ลูกทุกคนจะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วย เด็กบางคนอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ทางสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อในทางเดินหายใจในวัยเด็ก เป็นต้น

 

ภูมิแพ้...รักษาได้  

สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือ  เราควรรู้ก่อนว่าเราแพ้อะไร  วิธีการที่จะรู้ได้ คือ ควรทำการทดสอบภูมิแพ้ หรือ Skin Test โดยแพทย์จะทำการหยดน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังบริเวณแขนหรือแผ่นหลัง แล้วใช้เข็มสะกิดที่ผิวหนังบริเวณนั้น การทดสอบนี้ไม่เจ็บและทราบผลภายใน 15 นาที

และเมื่อเรารู้แล้วว่าแพ้อะไรจะทำให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ดียิ่งขึ้น การรักษามีหลายวิธี ได้แก่

          1.หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เช่น ถ้าแพ้ขนสัตว์ก็ต้องไม่เลี้ยงสัตว์ดังกล่าวไว้ในบ้าน  โดยเฉพาะห้องนอน หรือถ้าตรวจพบว่าแพ้ไรฝุ่น  ซึ่งผู้ป่วยภูมิแพ้ส่วนใหญ่แพ้กันมากถึงร้อยละ 70 ก็ควรหลีกเลี่ยงการปูพรมในห้องนอน  เครื่องนอนทุกชิ้นควรซักด้วยน้ำร้อนทุก 2 สัปดาห์ หรืออาจใช้ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนกันไรฝุ่น

          2.รับประทานยาแก้แพ้ ใช้ในกรณีที่หลีกเลี่ยงหรือป้องกันสารที่ก่อภูมิแพ้แล้วยังมีอาการแพ้อีก การรับประทานยาแก้แพ้จำพวกยาต้านฮิสตามีนบางชนิด อาจทำให้มีผลข้างเคียงได้ เช่น อาการง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น

          3.การใช้ยาพ่นจมูกที่สำหรับรักษาภูมิแพ้โดยเฉพาะ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ชนิดปานกลาง ถึงรุนแรง ยาชนิดนี้อาจเกิดทำให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งพบได้น้อยแต่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการระคายเคืองของเยื่อบุจมูก และเลือดกำเดาไหล ซึ่งถ้าผู้ป่วยพ่นยาอย่างถูกวิธีจะเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวน้อยมาก

         4.การใช้ยาสูดเพื่อรักษาโรคหืดภูมิแพ้ ยาสูดเพื่อรักษาโรคหืดภูมิแพ้แบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่

                      4.1 ยาสูดเพื่อการรักษาและควบคุมโรคหืด จะเป็นยาที่ผู้ป่วยต้องสูดต่อเนื่องทุกวันด้วยเทคนิคที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรจะใช้ยาเฉพาะตอนมีอาการ หลังสูดเสร็จควรบ้วนปากและกลั้วคอ เพื่อชะล้างยาที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก

                      4.2 ยาสูดเพื่อบรรเทาอาการ ผู้ป่วยควรพกพาติดตัว และนำมาใช้เฉพาะเวลามีอาการ หรือใช้ก่อนออกกำลังกายประมาณ 30 นาที ไม่ควรใช้เป็นประจำ ในผู้ป่วยบางรายที่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ดี จะพบว่าผู้ป่วยมีความต้องการที่จะใช้ยาชนิดนี้น้อยครั้งมาก

          5. ยาทาเพื่อรักษาผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้ยาทาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยามาทาเอง เพราะยาทาบางชนิดอาจจะทำให้ผิวหนังบาง ฝ่อหรือเกิดการระคายเคือง ซึ่งอาจทำให้โรคเป็นมากขึ้นได้

          6.การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ โดยผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารก่อภูมิแพ้ เพื่อให้ร่างกายสร้างและปรับเปลี่ยนภูมิต้านทาน และจะค่อย ๆ เพิ่มขนาดยา  โดยในระยะแรกจะฉีดทุกสัปดาห์ เป็นเวลาประมาณ 4 - 6 เดือน หลังจากนั้น ฉีดทุกเดือนเป็นเวลา 3  ปี  ผลข้างเคียงของวัคซีนซึ่งพบน้อยแต่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ผื่นลมพิษ คัดจมูกและน้ำมูกไหล หายใจลำบาก เป็นต้น อาการเหล่านี้มักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังการฉีด 

การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ มักจะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้มาก ๆ  ก่อนการฉีดวัคซีนผู้ป่วยจะต้องทราบว่าตนเองแพ้อะไรบ้าง  เพื่อจะได้ให้วัคซีนที่ตรงกับสิ่งที่แพ้  โดยการฉีดวัคซีนในแต่ละครั้งจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งหลังจาก 6 เดือนแล้ว จึงฉีดในปริมาณคงที่ คือ ประมาณครึ่งซีซี

ผู้ป่วยที่แพ้สารก่อภูมิแพ้มากกว่า 1 ชนิดไม่ต้องเป็นกังวล เพราะแพทย์สามารถนำวัคซีนที่แพ้แต่ละชนิดมารวมกัน แล้วฉีดให้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งการฉีดวัคซีนภูมิแพ้จะให้ผลการรักษาในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

 

ระวัง ! สารก่อภูมิแพ้
          -
หลีกเลี่ยงการตากผ้าในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น เพราะจะทำให้เกิดความอับชื้น ทำให้เกิดเชื้อราขึ้นซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ได้
          -
ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท โดยเฉพาะห้องมีความชื้นมาก เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ  

          - ในกรณีที่มีอาการแพ้เกสรดอกไม้หรือดอกหญ้า ควรปิดหน้าต่างห้องในช่วงที่มีลมพัดแรง เพื่อป้องกันละอองเกสรที่โดนพัดพามา
          -
หมั่นทำความสะอาด ดูดฝุ่นบ้านและม่านกันแดด เพื่อขจัดฝุ่นละอองอย่างสม่ำเสมอ
          -
ควรมีเครื่องเรือนให้น้อยชิ้นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน เพราะอาจเป็นที่กักเก็บฝุ่น
          -
หลีกเลี่ยงพรมปูพื้น และไม่ใช้เก้าอี้หรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า ไม่เล่นของเล่นหรือตุ๊กตาที่เป็นขนเพราะอาจเป็นที่กักเก็บฝุ่น


บุหรี่ กับโรคภูมิแพ้ ...

นอกเหนือจากสารก่อภูมิแพ้แล้ว ควันบุหรี่ซึ่งถือว่าเป็นสารระคายเคืองก็เป็นตัวก่อให้เกิดมลภาวะที่สำคัญ ในควันบุหรี่มีสารพิษอยู่หลายร้อยชนิด ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีประชากรประมาณ 5.1 ล้านคน/ปีทั่วโลกเสียชีวิตโดยมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ และในจำนวนนี้พบว่าประชากรที่เสียชีวิต 1.2 ล้านคน/ปี อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควันบุหรี่มีผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และโรคหืด การศึกษาวิจัยพบว่า แม่ที่สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ จะมีผลให้ลูกที่เกิดมามีความเสี่ยงที่จะแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ และมีโอกาสเป็นโรคหืดได้ง่ายกว่าปกติ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงจะที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และโรคหืดมากกว่าปกติ และเมื่อเป็นโรคแล้ว หากยังสูบบุหรี่ต่อไปอีกก็จะยิ่งทำให้อาการของโรคแย่ลง มีอาการกำเริบบ่อย สมรรถภาพปอดลดลง และมีการตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

 

สารก่อภูมิแพ้ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งนั้น ซึ่งอาจเกิดจากการสัมผัสผ่านทางผิวหนัง สูดดมผ่านทางเดินหายใจ หรือผ่านทางระบบทางเดินอาหาร  สิ่งแรกที่ต้องรู้ คือ หาสาเหตุว่าตัวเราแพ้อะไร และถ้าได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งนอกจากจะรักษาโดยการใช้ยา การฉีดวัคซีนภูมิแพ้แล้ว เพื่อให้การควบคุมโรคภูมิแพ้ได้ผลดีที่สุด ควรดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และต้องรู้จักป้องกันหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากสิ่งที่เราแพ้ทั้งในและนอกบ้านครับ

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด