รูฉีกขาดที่จอตาและจอตาลอก
รูฉีกขาดที่จอตาและจอตาลอก
(Retinal Tear and Detachment)
ผศ.พญ.โสมนัส ถุงสุวรรณ
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
จอตา (retina) เป็นเนื้อเยื่อบางๆอยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง ทำหน้าที่รับภาพและส่งสัญญาณไปยังสมองทำให้คนเรามองเห็นภาพต่างๆ ถ้าเปรียบเทียบลูกตากับกล้องถ่ายรูปจอตาเปรียบได้กับฟิล์มถ่ายรูป หากฟิล์มเสื่อมสภาพย่อมทำให้รูปภาพไม่คมชัดเช่นเดียวกับจอตาหากเกิดความผิดปกติจะส่งผลให้ความคมชัดของการมองเห็นภาพลดลง
รูฉีกขาดเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในลูกตามีของเหลวใสคล้ายไข่ขาวที่เรียกว่าวุ้นตาซึ่งจะติดแน่นกับจอตา เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาเริ่มเหลวหดตัวและลอกตัวออกจากจอตา ส่งผลให้เกิดแรงดึงรั้งที่จอตาและอาจทำให้เนื้อเยื่อจอตาฉีกขาด หากน้ำที่อยู่ภายในวุ้นตาไหลผ่านรูฉีกขาดเข้าไปจะทำให้จอตาหลุดลอกออกมาซึ่งจะส่งผลให้เซลล์รับภาพค่อยๆเสื่อมตายไปและอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
อาการ
ผู้ป่วยที่มีรูฉีกขาดที่จอตาในระยะเริ่มแรกมักไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับสายตา ส่วนใหญ่จะมองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา หรือมองเห็นแสงคล้ายแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูปหรือแสงฟ้าแลบในตา แต่ถ้าจอตาลอกผู้ป่วยจะมีอาการตามัวคล้ายม่านหรือเงาดำมาบัง โดยเงาดำจะลามจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง
ทราบได้อย่างไรว่าจอตามีรูฉีกขาด
หากมีอาการดังที่กล่าวมาแล้วควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียด แพทย์จะหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อตรวจจอตาอย่างละเอียด ภายหลังการขยายรูม่านตาผู้ป่วยจะมีอาการตามัวสู้แสงไม่ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมงจนกว่ารูม่านตาจะหดกลับมาเป็นปกติ
การรักษา
รูฉีกขาดที่จอตาสามารถรักษาได้โดยการยิงแสงเลเซอร์ล้อมรอบรูฉีกขาดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านรูฉีกขาดจนเกิดเป็นจอตาลอก ในรายที่มีจอตาลอกแล้วควรรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดมีหลายวิธีได้แก่ การฉีดฟองก๊าซเพื่อปิดรูฉีกขาดที่จอตา การผ่าตัดวุ้นตา การเย็บหนุนซิลิโคนด้านนอกลูกตา เป็นต้น ภายหลังการผ่าตัดแพทย์มักฉีดก๊าซเพื่อดันจอตาให้ติดเข้าที่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องคว่ำหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ก๊าซจะถูกดูดซึมจนหมดจากตาไปเอง ในรายที่ไม่สามารถคว่ำหน้าได้สามารถเลือกใช้น้ำมันซิลิโคนแทนการใช้ก๊าซแต่จำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อนำเอาน้ำมันซิลิโคนออกในภายหลังเมื่อจอตาติดดีแล้ว การมองเห็นภายหลังการผ่าตัดจะดีขึ้นเพียงใดนั้นขึ้นกับระยะเวลาที่จอตาลอก หากจอตาลอกมานานถึงแม้การผ่าตัดสามารถทำให้จอตาราบลงได้ แต่ระดับสายตาอาจไม่ดีขึ้นนัก ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นโรคจอตาลอกควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตาโดยเร็ว
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์จอตา หน่วยตรวจโรคจักษุ (ห้อง 500) ตึกผู้ป่วยนอกชั้น 5 โรงพยาบาลศิริราช หมายเลขโทรศัพท์ 02-4199292 ต่อ 524 ในวันและเวลาราชการ