“โรคไต” ใครว่าไกลตัวเด็ก

“โรคไต” ใครว่าไกลตัวเด็ก

.พญ. ธนพร ไชยภักดิ์

                                                                    สาขาวิชาโรคไต ภ.กุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

หากกล่าวถึงโรคไต หลายคนมักคิดว่าเป็นโรคที่พบได้แต่ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงนั้น โรคไตสามารถพบได้ทุกช่วงอายุแม้แต่ในทารกแรกเกิด ซึ่งโรคไตในเด็กเป็นโรคที่สำคัญและพบมากขึ้นในปัจจุบัน

สาเหตุร้ายทำลายไต

            สาเหตุของโรคไตในเด็กมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากสาเหตุของโรคจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ ดังนี้

 เด็กเล็ก

สาเหตุมักจะเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะเนื้อไตผิดปกติแต่กำเนิดหรือโรคทางพันธุกรรม

 เด็กโต

สาเหตุมักเกิดจาก ภาวะไตอักเสบ ซึ่งอาจเกิดภายหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง หรือเกิดจาก โรคเอสแอลอี (โรคภูมิต้านทำลายเนื้อเยื่อตนเอง)

โรคไตที่พบบ่อยในเด็กไทย ได้แก่

            1. การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะไม่ถูกสุขลักษณะ หรือเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด

            2. กลุ่มอาการเนโฟรติก หรือ โรคไตรั่ว เด็กจะสูญเสียโปรตีนไข่ขาวไปทางปัสสาวะ ทำให้บวมไปทั้งตัว

                3. โรคไตอักเสบ อาจเกิดจากภายหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง หรือเกิดจาก โรคเอสแอลอี (โรคภูมิต้านทำลายเนื้อเยื่อตนเอง) ผู้ป่วยจะมีอาการบวม หรือปัสสาวะเป็นเลือด/สีน้ำล้างเนื้อ

ทารกในครรภ์เป็นโรคไตหรือไม่ ทราบได้อย่างไร

ปัจจุบันแพทย์จะตรวจสตรีตั้งครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อหาความผิดปกติของไตและระบบทางเดินปัสสาวะของทารกในครรภ์ ซึ่งจะสามาถตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดบางชนิดได้ เช่น กรวยไตขยายขนาดหรือถุงน้ำทีไต แต่โรคที่เกิดภายหลัง เช่น โรคไตอักเสบหรือกลุ่มอาการเนโฟรติก ยังไม่สามารถตรวจได้ตั้งแต่ในครรภ์

สัญญาณอันตรายของโรคไต

            - ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น เป็นฟอง  สีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ  ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ออกกระปริบกระปรอย บางรายจะออกมากหรือน้อยกว่าปกติ

            - อาการบวมหน้า หนังตา ขาหรือบวมทั่วตัว

            - อาการอื่นๆ เช่น ซีด เหนื่อยง่าย หรือตัวเล็ก

*ส่วนอาการปวดหลังเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อหลังอักเสบ โรคไตส่วนใหญ่มักไม่มีอาการปวดหลัง นอกจากจะมีภาวะไตอักเสบหรือนิ่ว
โรคไตจะมีผลต่อการเจริญเติบโตหรือไม่

ถ้าเด็กโรคไตไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมอาจจะเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะตัวเล็ก การเจริญเติบโตช้าเพราะร่างกายขาดสารอาหาร ความผิดปกติของเกลือแร่ หรือฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต

โรคไตรักษาหายขาดหรือไม่

โรคไตมีหลายชนิด บางชนิดหากยิ่งพบเร็วและรับการรักษาเร็วก็มีโอกาสหายขาดได้สูง เช่น ไตอักเสบ  การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ส่วนโรคในกลุ่มของความผิดปกติของโครงสร้างของไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตลงได้ และหากเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะได้รับการรักษาโดยการล้างไตผ่านทางช่องท้อง การฟอกเลือด หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

หากมารดาเป็นโรคไตสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่และลูกมีโอกาสเป็นโรคไตหรือไม่

ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคไต ถ้ามารดาเป็นโรคไตบางประเภท เช่น โรคไตอักเสบจากเอส แอล อี ทารกก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติหลังคลอดได้ หรือถ้ามารดา บิดา เป็นโรคไตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ก็สามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกได้เช่นกัน ดังนั้น คู่รัก / คู่สมรสที่ต้องการมีลูก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและประเมิน พร้อมรับคำแนะนำก่อนการตั้งครรภ์                 

ทารกที่เกิดมาปกติ สามารถเกิดโรคไตได้หรือไม่

เนื่องจากสาเหตุของโรคไตในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ ความผิดปกติบางชนิดเท่านั้นที่สามารถทราบได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ แต่ถึงแม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บิดามารดาสามารถสังเกตจากความผิดปกติของปัสสาวะหรืออาการบวม และพามาพบแพทย์ทันที 

5 วิธีห่างไกลจากโรคไต

            1. บิดามารดาควรสังเกตอาการแสดงของโรคไตข้างต้น ถ้าพบความผิดปกติควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที เพื่อแก้ไขสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคไต

            2. ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วยการรักษาสุขอนามัยในการถ่ายปัสสาวะ เช่น ทำความสะอาดทุกครั้งหลังปัสสาวะ ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจนสุดโดยไม่เร่งรีบ ดื่มน้ำให้เพียงพอ (ในเด็กโต ประมาณ 6-8 แก้ว / วัน)

            3. ไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากการกินยาซ้ำซ้อนหรือปริมาณยาไม่เหมาะสมจะมีพิษต่อไตได้

            4. ระวังอย่าให้อ้วน โดยหลีกเลี่ยงกินอาหารจุบจิบและออกกำลังกายสม่ำเสมอ

            5. อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้ามีการสูญเสียน้ำ เช่น ท้องเสีย ต้องกินน้ำเกลือแร่ทดแทน ถ้าท้องเสียรุนแรงต้องมาพบแพทย์

ดังนั้น ถ้าสงสัยว่าทารกและเด็กจะเป็นโรคไต แม้จะมีอาการเพียงเล็กๆ น้อยๆ ในกรณีที่สงสัยก็ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ก่อนที่จะสายเกินไป และแก้ไขอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตามโรคไตก็สามารถพบได้ทุกอายุทุกเพศ ควรป้องกันและพบแพทย์ตั้งแต่มีอาการผิดปกติระยะแรก ก็จะสามารถลดการเสื่อมของไตได้ค่ะ


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด