มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้

มะเร็งปากมดลูก  ป้องกันได้

 

  รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์

 ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 

แม้มะเร็งปากมดลูกจะป้องกันได้ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อไวรัส HPV หรือสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง แต่เหตุใดหญิงไทยยังคงป่วย  และเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ1  คำตอบรออยู่บรรทัดถัดไปครับ  

 

คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับหนึ่งและมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในจำนวนนี้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด  และยังคงครองอันดับ  1 มาหลายสิบปีนั้น  ก็เนื่องจากความละเลยและความเข้าใจผิดว่าตัวเองมิใช่กลุ่มเสี่ยง และระยะเริ่มต้นของมะเร็งนี้ไม่มีการผิดปกติจึงทำให้ผู้ป่วยมากกว่า80% มาพบแพทย์เมื่อมะเร็งลุกลามไปแล้ว ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกหรือมะเร็งระยะเริ่มแรก โอกาสหายขาดก็จะมีมากเกือบ 100%

 

มะเร็งปากมดลูก  เกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแพปปิลโลมาไวรัส หรือ เอชพีวี (HPV) สายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70% ซึ่งส่วนใหญ่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เช่น มีคู่นอนหลายคน ทำให้โอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น  หรือการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย รวมทั้งการสูบบุหรี่   ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังจากติดเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็ง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุปากมดลูก กลายเป็นระยะก่อนมะเร็งซึ่งใช้เวลาประมาณ 10ปี จึงจะกลายเป็นมะเร็ง จึงเป็นโอกาสดีที่จะตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง ถ้าตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะนี้ หรือพบระยะเริ่มแรกของมะเร็งก็สามารถรักษาหายได้  แถมค่าใช้จ่ายไม่แพงอย่างระยะมะเร็งลุกลาม  ซึ่งรักษายาก  มีผลข้างเคียงสูง ซ้ำค่าใช้จ่ายก็สูงด้วย โอกาสหายก็น้อยลงด้วย

 

การป้องกันสามารถทำได้ง่าย ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก  ซึ่งมีอยู่  2  วิธี คือ ตรวจแบบ Pap test  หรือตรวจหา DNAของเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งให้ผลการตรวจที่แม่นยำ    และภายหลังจากที่ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ  ก็ควรรับการตรวจเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ  โดยสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรรับการตรวจปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรรับการตรวจเมื่ออายุ  35  ปีขึ้นไป

 

อีกวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV คือ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ผลสูงถึง 70 %  แต่ยังจำเป็นต้องตรวจคัดกรองร่วมด้วย  โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม   เข็มแรกและเข็มที่สอง ฉีดห่างกัน 1-2 เดือน  และอีกเข็มในเดือนที่ 6 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด