แก้ไขภาวะบวมน้ำเหลืองด้วย supermicrosurgery

แก้ไขภาวะบวมน้ำเหลืองด้วย  supermicrosurgery

อ.นพ.ศิริชัย  กำเนิดนักตะ

ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

             เคยไหมที่แขนขาบวมแล้วไม่รู้สาเหตุ นั่นอาจเป็นเพราะคุณมีภาวะบวมน้ำเหลืองตามร่างกายเกิดขึ้น

                ภาวะบวมน้ำเหลือง ( Lymphedema)   เป็นการคั่งค้างสะสมของน้ำเหลืองชั้นใต้ผิวหนัง อันเนื่องมาจากทางเดินน้ำเหลืองบริเวณที่ใกล้เคียงกันนั้นอุดกั้นหรือถูกทำลาย  ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่แขน ขา และอวัยวะเพศ  โดยมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และภายหลังจากการผ่าตัดที่ต้องตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น เช่น การผ่าตัดมะเร็งหรือเนื้องอกบริเวณปากมดลูก เต้านม หรืออัณฑะ  และภายหลังได้รับการฉายรังสีรักษาใกล้ขาหนีบ รักแร้   รวมทั้งผิวหนังเกิดภาวะติดเชื้อและอักเสบรุนแรง  (cellulitis, erysipelas) อย่างซ้ำๆ  การได้รับอุบัติเหตุเป็นแผลลึก  ตลอดจนภาวะหลอดเลือดดำขอดหรือตีบตัน ซึ่งพบได้มากที่ขา  และอาจเกิดจากหนอนพยาธิฟิลาเรีย   ซึ่งมียุงเป็นพาหะ 

                สำหรับระยะและความรุนแรงของโรค  ขึ้นกับความเสียหายของหลอดน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อข้างเคียง  โดยในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใดๆ   ตามมาด้วยอาการบวม เมื่อใช้นิ้วกดแล้วเป็นรอยบุ๋ม แต่สามารถยุบบวมเองได้  ต่อมาผิวหนังมีความผิดปกติ เริ่มมีการสะสมของพังผืดใต้ผิวหนังมาก ผิวมีสีคล้ำและหนาขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการอักเสบติดเชื้อใต้ผิวหนัง (Cellulitis) และถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ โดยเชื้อจะกระจายสู่กระแสเลือด (Septicemia) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสัมผัสสิ่งสกปรก  หรือเป็นแผลเปิด  และบางรายเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด  อย่างไรก็ตาม  ยิ่งอักเสบติดเชื้อบ่อยเท่าใด อาการบวมยิ่งรุนแรงขึ้นเท่านั้น

                การรักษาภาวะบวมน้ำเหลืองนั้น  ทุกคนสามารถป้องกันและดูแลตัวเองได้  เริ่มจากรักษาความสะอาดอวัยวะที่บวมเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการติดเชื้ออักเสบ  ยกอวัยวะที่บวมให้สูงไว้ เพื่อช่วยน้ำเหลืองที่คั่งคืนสู่ร่างกาย งดอาหารเค็มและอาหารประเภทไขมันสูง เพราะเกลือที่มากเกินไปจะเหนี่ยวนำให้ร่างกายบวมน้ำ ส่วนไขมันจะไปพอกสะสมบริเวณที่น้ำเหลืองคั่ง ทำให้อาการบวมรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงการพันผ้ายืด (elastic bandage) ให้ตึงพอดี หรือสวมถุงน่อง (stocking) ที่กระชับพอดี  ไม่แน่น หรือหลวมไปตลอดเวลา  จะถอดเฉพาะเวลาอาบน้ำเท่านั้น   นอกจากนี้ยังมีนวดด้วยเครื่องอัดลม  ซึ่งมีบริการในโรงพยาบาลขนาดใหญ่บางแห่งเท่านั้น การขันชะเนาะลดบวม และการผ่าตัด โดยล่าสุดเป็นการต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำด้วยเทคนิค supermicrosurgery 

               การผ่าตัดต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำด้วยเทคนิค supermicrosurgery  นี้ ประกอบด้วย 1. กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง 40 เท่า ประมาณ  1-2  ตัว  โดยมีศัลยแพทย์ประจำกล้อง  2  คนต่อ 1 ตัว  2. อุปกรณ์เครื่องมือพิเศษขนาดเล็กกว่า 0.8  มิลลิเมตร  3. เข็มเย็บขนาดเล็ก 50-80 ไมครอน และไหมเย็บขนาดเล็กกว่าเส้นผม เบอร์ 11-0  หรือ 12-0  ทั้งนี้การผ่าตัดจะใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง โดยแพทย์จะทำการดมยาสลบก่อนเปิดแผลกว้างประมาณ  3-4 เซนติเมตร  จากนั้นจึงทำการต่อทางเดินน้ำเหลืองเข้ากับหลอดเลือดดำ 3-4 ตำแหน่ง ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือพิเศษร่วมกับกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง  ทั้งนี้ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 วัน แล้วจึงกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ  โดยผู้ป่วยต้องใช้ผ้ายืดพันหรือใส่ถุงน่องบริเวณที่ทำการผ่าตัดแล้วไปอีก 6-12 เดือน พร้อมกับมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการเป็นระยะๆ   ขณะเดียวกันจะต้องดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายเบาๆ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็มีโอกาสน้อยที่จะกลับมาเป็นโรคดังกล่าว  แต่ถ้าละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง นอกจากจะเป็นซ้ำแล้ว บางรายพบว่ามีพังผืดขึ้นเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถผ่าตัดซ้ำได้อีก  ต้องเปลี่ยนมารักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น การขันชะเนาะ  เป็นต้น

               การผ่าตัดด้วยเทคนิค “supermicrosurgery”  เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำบริเวณที่ผ่าตัดโดยตรง โดยไม่ผ่าทางเดินน้ำเหลืองบริเวณที่เคยได้รับการบาดเจ็บหรือผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองมาก่อน  จะช่วยให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย  บาดแผลเล็ก  ฟื้นตัวเร็ว  และยังลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ   เมื่อเทียบกับการผ่าตัดรักษาด้วยวิธีอื่นๆ   ซึ่งผู้ป่วยจะค่อนข้างเสียเลือดมาก  พักฟื้นนาน และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลติดเชื้อ แผลแยก หรือเลือดคั่ง  เป็นต้น   

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด