ถนอมดวงตาลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด
ถนอมดวงตาลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด
อ.พญ.ศนิตรา อนุวุฒินาวิน
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
อ.นพ.พิทยา ภมรเวชวรรณ
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สำหรับทารกแรกเกิด ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงทารกกับโลกรอบ ๆ ตัว ความสามารถในการมองเห็นที่ดีคือจุดเริ่มต้นนำไปสู่พัฒนาการที่ดีในด้านต่าง ๆ เช่น ทำให้การประสานงานของมือและตามีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูก และนำไปสู่การพัฒนาทางด้านกายภาพอื่น ๆ ทั้งการนั่ง คว่ำ คลาน หรือการเดิน
การเรียนรู้ทางการมองเห็นเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับการเรียนรู้จากทางอื่น เช่น จากการได้ยิน การได้กลิ่น การรับรู้รส และการสัมผัส ดังนั้น เด็กที่มีปัญหาในการมองเห็น จะส่งผลให้การเรียนรู้ถูกจำกัด พัฒนาการไม่ดีเท่าที่ควร และจะเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต เช่น ขาดความมั่นใจ เป็นเด็กที่มีปมด้อย และมีปัญหาได้
พัฒนาการของระบบการมองเห็นจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ได้นั้น ส่วนประกอบของดวงตาจะต้องสมบูรณ์ทั้งรูปร่างและการทำงาน และจอตาของทารกต้องถูกกระตุ้นด้วยภาพที่คมชัด ดังนั้น สาเหตุที่ทำให้ภาพที่เข้าสู่จอตาไม่คมชัด ได้แก่
- ทารกที่มีภาวะสายตาผิดปกติ (ไม่ว่าจะสายตาสั้นมาก ยาวมาก หรือเอียงมาก ก็ทำให้ภาพที่จอตาไม่ชัด)
- มีภาวะหนังตาตก
- ต้อกระจกในทารก หรือแม้แต่กระจกตา (ตาดำ) เป็นฝ้าขาว ซึ่งเป็นผลจากโรคเยื่อตาอักเสบจากการติดเชื้อหนองใน หรือกระจกตาติดเชื้อ จะทำให้พัฒนาการของระบบการมองเห็นเกิดขึ้นได้ไม่ดี
ทารกที่มีปัญหาดังกล่าว อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ขณะอยู่ในครรภ์ มารดามีความเสี่ยงเหล่านี้
- การติดเชื้อในครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน อีสุกอีใส เชื้อแบคทีเรียซิฟิลิส หรือ เชื้อปรสิต อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติทางตา เช่น ตาอักเสบรุนแรง ต้อกระจก ต้อหิน หรือตาบอดได้
(สำหรับโรคหัดเยอรมันและอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้ เพียงคุณแม่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้องฉีดวัคซีนป้องกันก่อนปล่อยให้ตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป)
- ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกมีความพิการทางตาได้หลายอย่าง เช่น ตาห่าง หนังตาตก ตาเหล่ สายตาสั้น ขั้วประสาทตาผิดปกติ นอกจากนี้ทารกอาจมีความพิการของใบหน้า น้ำหนักตัวน้อย เจริญเติบโตช้าหรือมีพัฒนาการผิดปกติ
- การรับประทานยาบางชนิด อาจมีผลกระทบต่อการเจริญของตาทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้รับในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการพัฒนาอวัยวะของทารก ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์
- โรคตาที่เกิดจากพันธุกรรมในครอบครัวที่มีประวัติเสี่ยง บางโรคอาจสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดด้วยวิธีการเจาะตรวจเนื้อรก น้ำคร่ำ หรือเลือดสายสะดือทารก
สัญญาณอันตราย ต้องหมั่นสังเกตลูกน้อย...
- มีน้ำตาไหลเอ่อตลอด มีขี้ตามาก ตาแดง หรือมีการติดเชื้อของตาบ่อย ๆ
- แก้วตา หรือเลนส์ตาขุ่นขาว
- หนังตาบวม หรือขนาดลูกตาดูใหญ่/เล็กผิดปกติ
- รูม่านตาไม่เท่ากัน
- สีของม่านตาผิดปกติ
- หนังตาตก
- ตาเหล่ ตาเข
- ชอบเอียงหรือหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงไม่ควรละเลยสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากทารกไม่สามารถสื่อสารหรือพูดคุยได้เหมือนผู้ใหญ่ ความผิดปกติทางตาของทารก สามารถสังเกตได้จากการเลี้ยงดู
ภัยร้ายคุกคามดวงตาน้อย ๆ ของทารกที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ คือ โรคเยื่อตาอักเสบในทารก เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยในช่วงหนึ่งเดือนแรกของชีวิต และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของอาการตาบอดในทารกแรกเกิด ทารกที่ติดเชื้อจะมีอาการหนังตาและเยื่อตาบวมแดง และ ขี้ตาเป็นหนอง
สาเหตุของโรค
มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งเชื้อก่อโรคที่พบได้บ่อยที่สุดและทำให้เกิดอาการรุนแรงจนทำให้ตาบอด คือ หนองในและหนองในเทียม ซึ่งเป็นเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทารกได้รับเชื้อมาจากช่องทางคลอดของมารดาที่ติดเชื้อ
*โดยโรคเยื่อตาอักเสบจากเชื้อหนองในจะมีอาการรุนแรงมากกว่าการติดเชื้อจากหนองในเทียม
วิธีป้องกัน
วิธีป้องกันโรคเยื่อตาอักเสบของทารกได้ดีที่สุด คือ การตรวจคัดกรองโรคหนองในและหนองในเทียมในสตรีตั้งครรภ์ทุกรายและให้การรักษาตั้งแต่ก่อนคลอด แต่ข้อจำกัดของวิธีนี้ คือ การติดเชื้อหนองในและหนองในเทียมส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ และการตรวจคัดกรองในสตรีตั้งครรภ์ทุกรายอาจไม่สามารถกระทำได้ จึงทำให้สตรีตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยง เช่น ไม่ได้รับการฝากครรภ์ มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการใช้สารเสพติด อาจไม่ได้รับการตรวจคัดกรองและไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ก่อนคลอด นอกจากนี้การตรวจคัดกรอง เชื้อหนองในเทียม นั้นวิธีการค่อนข้างยุ่งยากและมักจะมีการติดเชื้อซ้ำหลังการรักษาได้บ่อย
ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อโดยการใช้ยาหยอดตาในทารกแรกเกิดทุกราย จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่าการตรวจคัดกรองในมารดา เพราะปลอดภัย สะดวก สามารถทำได้ทุกราย ราคาไม่แพง และยังลดอัตราการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อหนองในได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หนองในเทียมอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ดีนัก
ยาหยอดตาที่แนะนำให้ใช้ในปัจจุบัน คือ
- 0.5% erythromycin eye ointment
- 1% tetracycline eye ointment
- 1% silver nitrate
ยาหยอดตาทั้ง 3 ชนิดนี้ แพทย์หรือพยาบาล จะเป็นผู้หยอดตาแก่ทารกแรกเกิดทุกรายเพื่อป้องกันโรคเยื่อตาอักเสบ และให้การรักษาเพิ่มเติมถ้าตรวจพบว่ามารดาหรือทารกมีการติดเชื้อ
ผลข้างเคียงของการใช้ยาหยอดตาที่สำคัญ คือ หนังตาและเยื่อบุตาบวมแดงร้อน โดยทั่วไปเกิดภายใน 24 ชั่วโมงและหายได้เองใน 48 ชั่วโมง แต่ไม่เป็นอันตรายกับดวงตาของทารก
การป้องกันทำได้ 4 วิธี คือ
1. สตรีวัยเจริญพันธุ์ต้องรู้จักป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
2. เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และรับการรักษาถ้ามีการติดเชื้อ
3. ทารกเมื่อแรกคลอด ควรได้รับการหยอดตาทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคเยื่อตาอักเสบ (ในกรณีนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์และพยาบาลผู้ทำคลอด)
4. มารดา-บิดาของทารก ควรสังเกตอาการผิดปกติที่กล่าวไว้ข้างต้น และหากพบว่าเข้าข่ายก็ควรพาทารกมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา
ความเชื่อผิด ๆ ที่ผู้ปกครองมักจะทำ และส่งผลต่อทารก
- การถ่ายภาพโดยเปิดแฟลช ถ้าตาของทารกสัมผัสแสงแฟลชในระยะเวลาสั้น จะมีผลเสียน้อย นอกเสียจากว่าจะเปิดแฟลชถ่ายภาพในระยะใกล้กับตาทารกมากและถ่ายบ่อย ๆ จะทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก จุดรับภาพชัดเสื่อมเร็วกว่าปกติได้
- ถ้าการถ่ายภาพโดยเปิดแฟลชในระยะห่างจากตาทารกพอสมควรและไม่บ่อยมาก ก็จะไม่มีอันตรายต่อตาทารก)
- หยอดตาทารกด้วยน้ำนมแม่ ในชนบทเชื่อว่าน้ำนมแม่มีความบริสุทธิ์ สามารถรักษาโรคตาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว น้ำนมแม่ถือเป็นแหล่งอาหารที่ดีของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านำไปหยอดตาทารกที่เป็นโรคตาแดงติดเชื้อหรือกระจกตาเป็นแผลติดเชื้อ จะยิ่งทำให้โรครุนแรงมากยิ่งขึ้น กระจกตา (ตาดำ) จะขุ่นขาวมากขึ้น และส่งผลต่อการมองเห็นในที่สุด
ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบความผิดปกติของตาทารก ควรนำทารกมาพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นของทารก
พบอาการเหล่านี้ อย่ารีรอ รีบพาทารกไปพบแพทย์ทันที
- เปลือกตาและเยื่อบุตาบวมแดง
- มีขี้ตาสีเหลือง หรือสีเขียวคล้ายหนอง
(ในกรณีการติดเชื้อหนองใน จะเริ่มแสดงอาการในวันที่ 2-5 หลังคลอด และพบการติดเชื้อได้น้อยมากถ้าหลังคลอดเกิน 10 วัน ส่วนการติดเชื้อหนองในเทียมอาการจะเกิดขึ้นช้ากว่าประมาณ 5-14 วันหลังคลอด)
ดวงตาของทารกเริ่มเจริญขึ้นขณะอายุครรภ์ประมาณ 4 - 5 สัปดาห์ ช่วงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ทารกสามารถลืมตาและตอบสนองต่อแสงสว่างได้ แต่ความสามารถของการมองเห็นยังคงต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ หลังคลอดจนกระทั่งอายุ 6 - 7 ปี ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญต่อสุขภาพตาและการมองเห็นของทารกมากยิ่งขึ้น และเมื่อสงสัยว่าทารกอาจมีการติดเชื้อโรคเยื่อตาอักเสบ ผู้ปกครองควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษา โดยการให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันอาการตาบอดและการกระจายของเชื้อไปสู่อวัยวะต่างๆของร่างกายค่ะ