ใช้คอนแทคเลนส์อย่างไรให้ปลอดภัย

ใช้คอนแทคเลนส์อย่างไรให้ปลอดภัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงภัทนี  สามเสน
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

          คอนแทคเลนส์เป็นเลนส์ขนาดเล็กที่ถูกผลิตมาเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาสายตาทดแทนการใช้แว่นตา มีการนำมาใช้มาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งคอนแทคเลนส์สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้สองชนิด คือ แบบแข็ง และแบบนิ่ม โดยที่แบบแข็งนั้นไม่เป็นที่นิยมใช้เนื่องจากมีความระคายเคืองตาในช่วงแรกที่เริ่มใช้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ การสั่งใช้ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญพอสมควรเพื่อให้ได้เลนส์ที่เหมาะสม  ตรงกันข้ามกับแบบนิ่มที่ใส่สบายประทับใจตั้งแต่แรกใช้ ในการสั่งใช้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ จึงทำให้คอนแทคเลนส์แบบนิ่มครองตลาด นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันได้มีการพัฒนาตัวเลนส์ให้มีสีต่างๆสามารถใส่เพื่อให้เกิดความสวยงาม เช่น เปลี่ยนสีตาเป็นสีฟ้า สีเขียว สีทอง และล่าสุดทำให้ตาดำดูมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย จึงส่งผลให้การใช้คอนแทคเลนส์แบบนิ่มเพิ่มมากขึ้นอย่างมากมายแม้ในผู้ที่ไม่มีปัญหาด้านสายตา แต่เป็นการใช้คอนแทคเลนส์เพื่อความสวยงามเท่านั้น โดยที่ผู้ใช้ (และผู้จำหน่าย) ไม่ได้รู้ถึงผลเสียตลอดจนอันตรายที่มีโอกาสเกิดขึ้นต่อตาแต่อย่างไรเลย

คอนแทคเลนส์ต่างจากแว่นตาตรงที่วางอยู่บนตาดำ (กระจกตา) ตลอดเวลาซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญหากับกระจกตาได้โดยง่าย อันตรายที่จักษุแพทย์กลัวมากที่สุดคือการติดเชื้อของกระจกตา เพราะรักษายาก มีโอกาสลุกลามไปติดเชื้อทั่วลูกตาได้ และถึงแม้จะรักษาหาย แต่ผู้ป่วยก็อาจจะเสียการมองเห็นไปเนื่องจากเกิดแผลเป็นฝ้าขาวขึ้นทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปสู่ลูกตาได้ ผลคือไม่สามารถมองเห็นได้เช่นเดิมอีกต่อไป

การที่จะใช้คอนแทคเลนส์แบบนิ่มได้อย่างปลอดภัยนั้นขึ้นกับอะไรบ้าง ประการแรก ตัวคอนแทคเลนส์เองต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งแต่ละประเทศตั้งแต่ประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ใช้ย่อมมีกระบวนการในการควบคุมคุณภาพเหล่านี้อยู่ แต่จะเข้มแข็งแค่ไหนก็อาจจะแตกต่างกันไป ในประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ควบคุมคุณภาพของคอนแทคเลนส์โดยกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนคอนแทคเลนส์ที่จะจำหน่าย ซึ่งการขึ้นทะเบียนนี้แยกขึ้นรายรุ่น ไม่ใช่รายยี่ห้อ เช่น เลนส์ยี่ห้อ ก. มีเลนส์รุ่น a 4 สี 4 แบบ และเลนส์รุ่น b 1 สี 3 ขนาด ก็ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งรุ่น a และรุ่น b แยกกัน ไม่ใช่บอกว่าขึ้นทะเบียนยี่ห้อ ก. โดยไม่ระบุรุ่น (เหมารวม)  ประการที่สอง การเลือกใช้ให้เหมาะสม (ขนาดสายตา ความโค้ง) สำหรับคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มนั้นความโค้งไม่ค่อยสำคัญนัก ลักษณะจะคล้ายกับ free size คือขนาดเดียวใช้ได้กับทุกคน ดังนั้นเพียงเลือกขนาดสายตาให้ถูกต้องเท่านั้นก็พอ ซึ่งขนาดสายตานี้อาจจะไม่เท่ากับขนาดแว่น แต่ถ้าขนาดไม่ตรงก็ไม่ส่งผลเสียมากมาย เพียงแค่มองเห็นไม่ชัดเท่านั้น  ประการสุดท้าย ได้แก่ การใช้และการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในทั้ง 3 ประการ

การใช้งาน   ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอน เนื่องจากจะทำให้กระจกตาขาดอากาศ เกิดการบวม ง่ายต่อการติดเชื้อ  ไม่ควรใช้เกินอายุของเลนส์ที่ระบุโดยผู้ผลิต คอนแทคเลนส์แบบนิ่มในท้องตลาดปัจจุบันมักจะมีอายุการใช้งานสั้น ตั้งแต่ 1 วัน รายสัปดาห์ รายเดือน ไม่ค่อยมีรายปีแล้ว ดังนั้นผู้ใช้ต้องรู้อายุของเลนส์ที่ใช้และใช้เลนส์ข้างนั้นตามไม่เกินอายุที่กำหนด เนื่องจากคุณสมบัติของเลนส์จะเสียไปถึงแม้จะดูด้วยตาเปล่าว่ายังคงสภาพดีอยู่ก็ตาม  การใส่และถอดเลนส์ควรได้รับการสอนอย่างถูกต้อง ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสเลนส์ทุกครั้ง ไม่ควรไว้เล็บยาว เนื่องจากจะทำให้เกิดบาดแผลที่กระจกตาได้  ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น (ผลัดกันใส่) เนื่องจากทำให้มีการนำความสกปรกและเชื้อโรคข้ามไปมาได้

การดูแลรักษา   แบ่งเป็น การทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อโรค ทุกครั้งที่ถอดเลนส์จากตาต้องทำความสะอาด ถูด้วยน้ำยา แล้วจึงเก็บแช่ค้างคืนในน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งในปัจจุบันมักจะรวมอยู่ในขวดเดียวกันเป็น น้ำยาเอนกประสงค์ (multipurpose solution) และล้างอีกครั้งก่อนใส่ เปลี่ยนน้ำยาแช่ทุกครั้ง ร่วมกับการล้างทำความสะอาดตลับแช่เลนส์ทั้งด้านนอกและด้านในด้วยน้ำสะอาดและสบู่ แล้วจึงปล่อยให้แห้ง ไม่ควรแช่เลนส์ทันทีหลังถอด โดยไม่ได้ทำความสะอาดก่อน เพราะนอกจากเลนส์สกปรกแล้วประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อจะไม่ดีอีกด้วย

ดังนั้นการที่จะใช้เลนส์สัมผัสได้อย่างปลอดภัยได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลนส์ได้มาตรฐานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบกับการใช้คำแนะนำ ความรู้แก่ผู้ใช้อย่างถูกต้อง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย นอกจากที่เลนส์สัมผัสที่เข้ามาจำหน่ายไม่ได้รับการตรวจสอบขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว การจำหน่ายยังไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาล คลินิก หรือร้านแว่นเท่านั้น ยังวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปตามแผงลอย เช่นเดียวกับเครื่องสำอางหรือขนมอย่างหนึ่ง นั่นหมายถึงว่าผู้บริโภคสามารถหยิบซื้อได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ได้รับการคัดกรองหรืออย่างน้อยที่สุดคือ คำแนะนำที่ถูกต้องเรื่องการใช้งานและการดูแลรักษาเลนส์จากผู้ขาย ทั้งนี้จึงทำให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย ซึ่งปัจจุบันจักษุแพทย์จะพบว่าการติดเชื้อที่กระจกตาที่เกิดจากคอนแทคเลนส์มีจำนวนมากขึ้น และพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยลง เช่น เด็กมัธยมต้น ซึ่งปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองในการติดตามดูแลความปลอดภัยของลูกหลานที่รักของท่าน

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด