แผลเริมที่อวัยวะเพศ

แผลเริมที่อวัยวะเพศ

โดย  นางสุจิตตรา  พงศ์ประสบชัย

นางชนากานต์ เกิดกลิ่นหอม

นางเพียงเพ็ญ ธัญญะตุลย์

ที่ปรึกษา  อาจารย์แพทย์หญิงเจนจิต  ฉายะจินดา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์มานพชัย  ธรรมคันโท

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ อัมพัน เฉลิมโชคเจริญกิจ

หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  

สาเหตุ  เชื้อที่ทำให้เกิดโรคคือ เชื้อเริมอวัยวะเพศ (Herpes simplex virus type 2) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มักติดจากการร่วมเพศกับผู้ที่มีแผลเริม เป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เนื่องจากภายหลังการติดเชื้อ เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแฝงตัวอยู่ที่ปมประสาทได้อย่างถาวรและถูกกระตุ้นให้เกิดโรคซ้ำในบริเวณเดิมได้เป็นครั้งคราว

ระยะฟักตัว  อยู่ระหว่าง 2-14 วัน

อาการ   ผู้ป่วยมักจะมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมกับมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสเล็กๆ ตุ่มน้ำนี้จะแตกภายใน 24-48 ชั่วโมงกลายเป็นแผลตื้นๆคล้ายแผลร้อนในภายในปาก ทำให้อวัยวะเพศบริเวณดังกล่าวบวมแดงแสบร้อนเจ็บปวดมาก ผู้ป่วยที่มีรอยโรคครั้งแรกมักมีรอยโรคจำนวนมากและแผลหายช้า มีอาการอักเสบและแสบบริเวณปากช่องคลอด และท่อปัสสาวะอย่างรุนแรง  ทำให้มีปัสสาวะแสบร่วมด้วยได้  แผลจะตกสะเก็ดแห้งหายไปภายใน 3 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางรายถ้าไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม แผลเล็กๆจะขยายรวมเป็นแผลกว้างร่วมกับมีอาการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนกลายเป็นแผลก้นลึกขนาดใหญ่  ทำให้การรักษาลำบาก 

            ในกรณีที่กลับเป็นซ้ำมักสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่างดังต่อไปนี้ เช่น ขณะที่มีประจำเดือน ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย  เป็นต้น แผลมักจะเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ 2-3 ตุ่มในบริเวณเดิม และมักจะหายเองภายใน 1สัปดาห์

            ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีรอยโรคขณะเจ็บครรภ์คลอดถือเป็นข้อบ่งชี้ให้แพทย์ทำการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องเนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อถึงทารกระหว่างคลอดได้ 

การรักษา

            ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกต้องมาพบแพทย์เพื่อรักษาโดยจะได้รับยาต้านเชื้อไวรัสเริมเช่น ยา acyclovir  เพราะสามารถทำให้อาการดีขึ้นเร็วและระยะเวลาแพร่กระจายเชื้อสั้นลง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจให้นอนโรงพยาบาล เพื่อให้ acyclovir ฉีดเข้าทางเส้นเลือด อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้ให้การรักษาอาจพิจารณาให้ยาแก้ปวด ลดไข้และยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในผู้ป่วยบางราย และแนะนำการดูแลความสะอาดแผลหรือการนั่งแช่แผลด้วยน้ำอุ่น

            ในรายที่มีอาการเกิดซ้ำมักมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 7 วัน หรือแพทย์อาจให้ยากินหรือทา ในรายที่มีอาการเกิดซ้ำมากกว่า 6 ครั้งต่อปี แพทย์ผู้ดูแลรักษามักจะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเริมระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) เพื่อเป็นการควบคุมเชื้อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

คำแนะนำการปฏิบัติตัว

    1. รับประทานยาตามแผนการรักษา

    2. ดูแลแผลให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น การแช่น้ำอุ่น

    3. ควรได้รับการตรวจเลือดและตรวจภายในเพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ

    4. งดเพศสัมพันธ์ระหว่างที่มีแผล เนื่องจากมีการส่งเชื้อเริมให้ผู้ที่สัมผัสแผลและมีการติดเชื้ออื่นได้ง่าย

    5. หากพบว่ามีอาการที่รุนแรงขึ้น หรือการรักษาไม่ได้ผล ให้มาพบแพทย์ก่อนนัดที่หน่วยตรวจได้ในวัน ราชการ เวลา 9.00-12.00น.

 

ถ้ามีข้อสงสัย   สอบถามได้ที่

หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี (คลีนิก 309)  เวลา  07.00-15.30น.
โทร  02-412-9689 หรือ 02-419-7377

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด