มะเร็งกระดูก

มะเร็งกระดูก

ร.ศ. น.พ.อภิชาติ  อัศวมงคลกุล

ภาควิชาศัลยศาสตรออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

            ในร่างกายของเราประกอบด้วยกระดูก  206  ชิ้น  ซึ่งมีหน้าที่หลายประการ  เช่น  ปกป้องอวัยวะภายใน  ได้แก่  กะโหลกศีรษะช่วยป้องกันสมอง  กระดูกซี่โครงช่วยปกป้องอวัยวะภายในทรวงอก  ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือด  รวมทั้งกระดูกยังเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนักของร่างกาย

            หน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกายมนุษย์  เรียกว่า  เซลล์  ซึ่งสามารถเจริญเติบโตอย่างปกติโดยอยู่ในความควบคุมของร่างกาย  แต่เมื่อเซลล์นั้นมีความปกติ  สามารถแบ่งตัวเจริญเติบโตโดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้  ทำให้กลายเป็นเนื้องอกตามอวัยวะที่ผิดปกตินั้น ๆ

            เนื้องอกแบ่งเป็น 2 ชนิด  คือ  เนื้องอกชนิดไม่ร้ายและเนื้องอกชนิดร้าย  เนื้องอกชนิดไม่ร้ายจะมีการดำเนินโรคที่ไม่รุนแรงไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น  และมักไม่ทำผู้ป่วยเสียชีวิต  ในกรณีที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดที่เหมาะสม  มักจะหายขาดและมีโอกาสกลับเป็นซ้ำน้อยกว่าเนื้องอกชนิดร้าย  เนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็งสามารถเติบโตทำลายอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง  เซลล์สามารถกระจายเข้าสู่กระแสโลหิตหรือระบบน้ำเหลืองไปอวัยวะอื่นได้ทั่วร่างกาย  เช่น  ไปที่ปอด  ตับ  หรือกระดูกที่อยู่ไกลออกไปจากเนื้องอกร้ายนั้น  โรคมะเร็งในปัจจุบันมีมากกว่า  100  ชนิด  โดยแบ่งตามชนิดของเซลล์ที่ผิดปกติตามอวัยวะที่เป็น  เช่น  มะเร็งเต้านม  มะเร็งตับ  มะเร็งกระดูก  เป็นต้น                   

            เนื้องอกกระดูกสามารถแบ่งตามลักษณะและสาเหตุการเกิดเป็น  2  กลุ่มใหญ่  คือ  เนื้องอกที่เกิดจากความผิดปกติในกระดูกนั้นๆ  (เนื้องอกกระดูกปฐมภูมิ)  และเนื้องอกชนิดอื่นที่แพร่กระจายมาที่กระดูก  (เนื้องอกกระดูกทุติยภูมิ) โดยเนื้องอกกระดูกทุติยภูมิพบได้มากกว่าเนื้องอกกระดูกปฐมภูมิหลายเท่า  มะเร็งที่มีการแพร่กระจายมาที่กระดูกได้บ่อย  ได้แก่  มะเร็งปอด  เต้านม  ต่อมไทรอยด์  ต่อมลูกหมาก  และไต  เป็นต้น  โดยเนื้องอกกระดูกปฐมภูมิพบเพียง 0.5 %  ของเนื้องอกปฐมภูมิทุกชนิด  เนื้องอกกระดูกปฐมภูมิสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือ  เนื้องอกกระดูกปฐมภูมิชนิดไม่ร้าย  และเนื้องอกกระดูกปฐมภูมิชนิดร้าย  (มะเร็งกระดูกปฐมภูมิ)

อาการผิดปกติที่เกิดจากเนื้องอกกระดูก

          โดยทั่วไปอาการของเนื้องอกกระดูกจะมีอาการผิดปกติช้า ๆ  ค่อยเป็นค่อยไป  โดยขึ้นกับชนิด  ตำแหน่ง  และขนาดของเนื้องอก  อาการปวดเป็นอาการที่พบบ่อยสุดของมะเร็งกระดูก  การคลำพบก้อน  อาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงของแขนหรือขา  การเกิดภาวะกระดูกหักในกระดูกที่มีพยาธิสภาพ  หรืออาจไม่มีอาการใด ๆ  ซึ่งเนื้องอกอาจพบโดยบังเอิญจากการถ่ายภาพรังสีตรวจร่างกายทั่วไปตามปกติ

 

การวินิจฉัยเนื้องอกกระดูก

          การวินิจฉัยโรคเนื้องอกกระดูกจะต้องอาศัยการประเมินข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วย  ซึ่งประกอบด้วยการสอบถามประวัติของผู้ป่วยและครอบครัว  การตรวจร่างกายอย่างละเอียด  การส่งตรวจพิเศษอื่น ๆ  เช่น  การตรวจเลือด  ตรวจปัสสาวะ  และการตรวจภาพรังสีชนิดต่าง ๆ   การวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกกระดูก  ซึ่งได้จากการผ่าตัดตรวจชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

             เมื่อได้การวินิจฉัยโรคเนื้องอกกระดูกแล้ว  จะต้องนำข้อมูลอื่น ๆ  มาร่วมพิจารณาเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป  ซึ่งประกอบด้วยการตรวจประเมินระยะของโรคอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย  ขนาด  และตำแหน่งของเนื้องอก

 

การรักษาเนื้องอกกระดูก

          เนื้องอกกระดูกปฐมภูมิชนิดไม่ร้ายมีการรักษาได้หลายรูปแบบตามแต่ชนิดย่อยของเนื้องอก  เช่น  ในเนื้องอกที่พบว่าเป็นมานานและผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติจากเนื้องอกดังกล่าว  เพียงแต่ให้คำแนะนำ  และนัดติดตามการรักษาโดยไม่ต้องใช้ยาหรือผ่าตัดรักษา  ในกรณีที่เนื้องอกกระดูกโตอย่างรวดเร็ว  ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติจากเนื้องอกดังกล่าว  อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด  เป็นต้น

            การรักษาเนื้องอกกระดูกปฐมภูมิชนิดร้าย  และเนื้องอกกระดูกทุติยภูมิจะมีความแตกต่างจากเนื้องอกปฐมภูมิชนิดไม่ร้ายค่อนข้างมาก  การรักษาประกอบด้วยการผ่าตัด  การใช้ยาเคมีบำบัด  หรือการใช้รังสีรักษา  โดยพิจารณาใช้วิธีการรักษาเป็นราย ๆ ไป  บางกรณีอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน

            การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญโดยมีหลายวิธี  เช่น  การตัดเนื้องอกออก  การยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะ  การตัดเนื้องงอกร่วมกับการตัดแขนหรือขาที่เป็นโรคออก  ซึ่งต้องมีการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย  และใส่อุปกรณ์แขนขาเทียมร่วมด้วยในภายหลัง

            การใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อฆ่าทำลายเซลล์มะเร็ง  มีการให้ยาได้หลายรูปแบบ  เช่น  ยาฉีด  หรือยารับประทาน  ส่วนการใช้รังสีรักษานั้นมีผลในการฆ่าทำลายเซลล์มะเร็ง  ช่วยลดขนาดของเนื้องอก  หรือใช้ระงับปวดก็ได้  การรักษามะเร็งกระดูกโดยวิธีดังกล่าวข้างต้น  โดยเฉพาะการใช้ยาเคมีบำบัดและการใช้รังสีรักษาเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงมาก  นอกจากจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว  เซลล์ปกติบางส่วนของร่างกายจะได้รับผลกระทบได้  เช่น  ทำให้ผมร่วง  มีอาการคลื่นไส้  อาเจียน  เบื่ออาหาร  หรืออาการอ่อนเพลีย  ปริมาณเม็ดเลือดลดน้อยลงจากการได้รับยาเคมีบำบัด  ผิวหนังแห้งแข็งตึงจากการได้รับรังสีรักษา

 

แนวทางการรักษาเนื้องอกกระดูกในอนาคต

          ถึงแม้ว่าปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุทั้งหมดที่แท้จริงของการเกิดเนื้องอกกระดูกได้  แต่ได้มีความพยายามในการศึกษาวิจัยเพื่อที่จะเข้าใจถึงสาเหตุกลไกการเติบโตการแพร่กระจาย  การรักษาให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคร้าย  รวมถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ตั้งแต่ระยะตัวอ่อนในครรภ์มารดา  ปัจจุบันมีการศึกษาในระดับยีนและการใช้เซลล์อ่อนเพื่อหวังผลในการป้องกันและรักษาเพื่อให้หายขาดจากโรคในอนาคต


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด