โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

อ.นพ. ชัยเจริญ  ตันธเนศ
ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

            ภาวะโลหิตจางเกิดได้จากหลายสาเหตุ  โดยที่พบบ่อยที่สุดคือโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก  เหล็กที่เราพูดถึงกันนี้ไม่ใช่เหล็กเป็นแท่งๆ  แต่จะหมายถึงธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปแร่ธาตุซึ่งเป็นส่วนประกอบในเซลล์ต่างๆของร่างกาย  เราจะได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเป็นหลัก  โดยอาหารที่พบธาตุเหล็กมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ  นอกจากนี้ ยังพบธาตุเหล็กได้ในผักใบเขียวและธัญพืช  แต่ธาตุเหล็กในอาหารประเภทหลังนี้จะถูกดูดซึมได้ไม่ดีเท่าธาตุเหล็กจากอาหารพวกเนื้อสัตว์และอาจมีสารยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กได้ด้วย  อาหารและเครื่องดื่มบางประเภทอาจมีผลยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กได้ เช่น ชา กาแฟ  ผู้ที่รับประทานยาเสริมแคลเซียมก็อาจไปรบกวนการดูดซึมธาตุเหล็กหากรับประทานพร้อมกัน  ส่วนอาหารที่วิตามินซีสูง เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว พบว่าช่วยการดูดซึมธาตุเหล็กให้ดีขึ้นได้บ้าง

เมื่อรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กแล้ว จะเกิดการดูดซึมธาตุเหล็กต่อ โดยอาศัยความเป็นกรดในกระเพาะอาหารช่วย  การดูดซึมจะเกิดที่ลำไส้เล็กส่วนต้น  หลังจากนั้นจะมีโปรตีนส่งธาตุเหล็กไปตามเซลล์ต่างๆและไปเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์  โดยกว่าสองในสามของธาตุเหล็กในร่างกายจะอยู่ในเม็ดเลือดแดงในส่วนที่เรียกว่า “ฮีม” ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยในการจับกับออกซิเจนและส่งไปให้ส่วนต่างๆของร่างกายนั่นเอง  ส่วนที่เหลือของธาตุเหล็กจะถูกเก็บสะสมไว้ในตับ ม้าม และไขกระดูก

เราขาดธาตุเหล็กเพราะอะไร

            สาเหตุของการขาดธาตุเหล็กพบได้หลากหลาย  ที่พบบ่อย เช่น

1. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย  พบได้บ่อยในเด็กทารกที่รับประทานแต่นมเพียงอย่างเดียว เนื่องจากในนมมีปริมาณธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อย  ในผู้ใหญ่ การขาดธาตุเหล็กจากการรับประทานน้อยเจอได้ไม่บ่อย

2. การดูดซึมธาตุเหล็กผิดปกติ  เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย  อาจเกิดจากการมีกรดในกระเพาะอาหารลดลง เช่น ผู้ที่รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหารนานๆหรือผู้สูงอายุ  ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออก  ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเอาลำไส้เล็กส่วนต้นออก  ผู้ที่มีการอักเสบของลำไส้เล็กส่วนต้นเรื้อรัง เป็นต้น
         
3. ความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มมากขึ้น  พบได้บ่อยในผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ หรือมีการให้นมบุตร  โดยความต้องการธาตุเหล็กของคนกลุ่มนี้จะมากกว่าคนทั่วไปถึงสามเท่า  ในเด็กเล็กที่กำลังเจริญเติบโตก็มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

     4. สูญเสียธาตุเหล็กมากกว่าปกติ  มักเกิดจากการเสียเลือดเรื้อรัง  สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ เลือดประจำเดือนออกมากและนานกว่าปกติในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์  เลือดออกในทางเดินอาหารจากสาเหตุต่างๆ เช่น แผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง เลือดออกในหลอดอาหาร ริดสีดวงทวารหนัก หรือแม้แต่มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็อาจจะมีอาการนำให้ทราบได้จากภาวะขาดธาตุเหล็ก การเสียเลือดจากสาเหตุอื่นๆที่พบไม่บ่อย เช่น จากเม็ดเลือดแดงแตกและเสียเลือดในทางเดินปัสสาวะ เสียเลือดจากระบบทางเดินหายใจ  การบริจาคเลือดบ่อยครั้งกว่าที่กำหนดและไม่รับประทานยาเสริมธาตุเหล็กทดแทน เป็นต้น


จะเกิดอาการอย่างไรเมื่อขาดธาตุเหล็ก

            ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กในระยะแรกอาจยังไม่มีอาการใดๆ เนื่องจากมีธาตุเหล็กที่เก็บสะสมสำรองอยู่  ต่อเมื่อการขาดธาตุเหล็กนั้นเป็นมากขึ้นจึงค่อยๆเริ่มเกิดอาการ  อาการอาจเป็นแบบไม่จำเพาะ เช่น รู้สึกหงุดหงิด ความคิดความอ่านไม่แจ่มใส นอนไม่หลับ  อาการที่เกิดได้บ่อยและทำให้แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดธาตุเหล็กได้นั้นมักเกิดจากอาการทางระบบเลือด ได้แก่การเกิดภาวะโลหิตจางนั่นเอง  อาการของภาวะโลหิตจาง ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายมากขึ้นเวลาออกแรง หรือหากเป็นมากอาจมีอาการเหนื่อยเวลาอยู่เฉยๆ มีอาการเวียนศีรษะ หมดสติ ใจสั่น หัวใจล้มเหลว  ผู้ป่วยบางรายอาจมีคนทักว่าดูซีดลง กินอาหารรสเผ็ดแล้วแสบลิ้นเนื่องจากมีลิ้นเลี่ยน  ในรายที่เป็นมานานๆอาจมีเล็บผิดรูปโดยงอเป็นรูปช้อน

จะวินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้อย่างไร

            โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยภาวะนี้จะการซักถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อน  จากนั้นจึงส่งตรวจเลือดเพื่อดูเม็ดเลือดสมบูรณ์, ปริมาณธาตุเหล็กในร่างกาย, และปริมาณธาตุเหล็กสะสม  ในสถานที่ที่การตรวจทำได้ไม่สมบูรณ์ อาจใช้การให้การรักษาด้วยยาธาตุเหล็กและตรวจติดตามว่าตอบสนองดีหรือไม่  หากตอบสนองดีก็น่าจะเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กจริง  แต่หากไม่ดีขึ้นก็ควรนึกถึงภาวะโลหิตจางจากสาเหตุอื่น

การรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

            การรักษาขึ้นกับความเร่งด่วนของอาการ  หากมีภาวะโลหิตจางรุนแรงมากหรือเป็นในผู้สูงอายุก็ควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้ออกซิเจน ให้เลือดแดงทดแทน  จากนั้นจึงให้ธาตุเหล็กทดแทนร่วมไปด้วย  โดยที่มีใช้จะอยู่ในรูปของยารับประทานและยาฉีดเข้าเส้นเลือด  ยาธาตุเหล็กในรูปรับประทานมักจะถูกใช้ก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากใช้ง่าย ให้ผลการรักษาดีและราคาไม่แพง  ยาจะมีหลายรูปแบบซึ่งจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณธาตุเหล็กที่เป็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่จะให้ผลการรักษาไม่ต่างกัน  เมื่อรับประทานยาธาตุเหล็กแล้วจะมีอุจจาระสีดำ ซึ่งเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นกับทุกคนที่กินยา  ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ อาการมวนท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด ซึ่งมักไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ในบางคนอาจทนภาวะนี้ไม่ไหว จำเป็นต้องให้ในรูปยาฉีดแทน ซึ่งจะยุ่งยากมากกว่า ราคาแพงและอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้  การรักษามักต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 3 – 6 เดือนเพื่อให้ธาตุเหล็กเก็บสะสมในร่างกายเต็มที่  ที่สำคัญระหว่างการรักษาโดยให้ธาตุเหล็กทดแทน จะต้องมีการหาสาเหตุที่ขาดธาตุเหล็กและรักษาไปด้วยเสมอเพื่อเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ  ในผู้ที่มีความเสี่ยงของการขาดธาตุเหล็ก เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กที่กำลังเจริญเติบโต ผู้ที่บริจาคโลหิตเป็นประจำ ถึงแม้ยังไม่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ก็ควรพิจารณารับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างเป็นประจำ

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด