เตรียมตัว!เมื่อส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร
เตรียมตัว!เมื่อส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร
อ.นพ.สุพจน์ นิ่มอนงค์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ใครที่มีปัญหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ที่ต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีส่องกล้อง
หลายคนอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่าจะเจ็บหรือไม่ ใช้เวลานานไหม และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจมากที่สุด จะเล่าให้ฟังครับ
การเตรียมตัวก่อนและหลังการส่องกล้อง แบ่งได้ 2 แบบ คือ
1.การตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน(Gastroscopy)จะตรวจตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือตั้งแต่เที่ยงคืนวันก่อนตรวจ
เมื่อมาถึงห้องตรวจ แพทย์จะอธิบายข้อบ่งชี้ แผนการตรวจรักษาและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นพยาบาลจะพ่นยาชาเข้าไปในบริเวณคอของผู้ป่วย 2-3 ครั้ง ผู้ป่วยจะรู้สึกคอหนาขึ้น หลังจากผู้ป่วยนอนตะแคงซ้ายบนเตียงตรวจ แพทย์จะใส่กล้อง ซึ่งมีลักษณะคล้ายสายยางสีดำขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย เข้าไปในลำคอผ่านไปในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น แพทย์อาจสะกิดชิ้นเนื้อออกมาตรวจหาพยาธิสภาพหรือแบคทีเรีย ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ โดยปกติการตรวจแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ10-15 นาที ขณะทำการตรวจผู้ป่วยควรหายใจลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อลดอาการคลื่นไส้ ในรายที่มีอาการคลื่นไส้มาก แพทย์อาจฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการสะลึมสะลือได้ชั่วคราว
ภายหลังการตรวจ แพทย์จะบอกผลการตรวจ อธิบายแผนการรักษาและนัดติดตามผล ผู้ป่วยจะนั่งพักประมาณ ครึ่ง-1 ชั่วโมง จนอาการรู้สึกคอหนาดีขึ้น ก็สามารถกลับไปทำงานและกินอาหารได้ตามปกติ
2.การตรวจลำไส้ใหญ่ หรือระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy)จะตรวจตั้งแต่ปากทวารหนัก ลำไส้ใหญ่ทั้งหมด และบางครั้งรวมถึงลำไส้เล็กส่วนปลายด้วย ซึ่งมีความยาวทั้งหมดประมาณ 1 เมตร ผู้ป่วยควรกินอาหารที่มีกากน้อยก่อนทำการตรวจ 1 วัน เช่น น้ำซุป โจ๊กเหลว ๆ ในตอนเย็นวันก่อนตรวจแพทย์จะให้ยาระบาย ผู้ป่วยควรกินยาให้หมดหรือจนกว่าจะถ่ายอุจจาระออกมาเป็นน้ำใส ๆ เพื่อไม่ให้มีอุจจาระตกค้างและบังผนังลำไส้ขณะตรวจ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนขณะที่กินยาระบาย ซึ่งอาจแก้ไขให้ดีขึ้นโดยการผสมน้ำหวานในยาระบายแล้วดื่มช้า ๆ และต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือตั้งแต่เที่ยงคืนวันก่อนตรวจ
เมื่อมาถึงห้องตรวจแพทย์จะอธิบายข้อบ่งชี้ แผนการตรวจรักษา และภาวะแทรกซ้อน จากนั้นพยาบาลจะให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้ายบนเตียงตรวจ ผู้ป่วยจะได้รับยาลดอาการวิตกกังวลและ/หรือยาแก้ปวดทางเส้นเลือดดำ ซึ่งจะทำให้มีอาการง่วงนอน หลังจากนั้นแพทย์จะใส่กล้องเข้าทวารหนักและตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด หากพบความผิดปกติแพทย์อาจสะกิดชิ้นเนื้อ จี้ด้วยไฟฟ้า หรือตัดก้อนเนื้อ(polypectomy)ออกมา โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บ ซึ่งจะใช้เวลาตรวจประมาณ 20-40 นาที
ภายหลังการตรวจ ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปยังห้องสังเกตอาการอีก 1-2 ชั่วโมง แพทย์จะแจ้งผลการตรวจ เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดี เนื่องจากผู้ป่วยได้รับยาทางเส้นเลือด ซึ่งอาจมีฤทธิ์ทำให้มีอาการสะลึมสะลือ จึงควรงดการขับรถ และการทำงานในวันตรวจ ควรมีญาติพาผู้ป่วยกลับบ้าน บางรายอาจรู้สึกแน่นท้อง เนื่องจากมีการใส่ลมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ในขณะตรวจ เมื่อผายลมออกมาแล้ว อาการก็จะดีขึ้น
หลังการตรวจทั้ง 2 แบบ อาจมีอาการปวดแน่นท้องได้เล็กน้อย แต่หากมีอาการปวดท้องมาก มีไข้ หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก ควรรีบติดต่อแพทย์หรือมาตรวจที่โรงพยาบาลทันที
การเตรียมตัวข้างต้นนี้ใช้กับผู้ป่วยทั่วๆ ไปเท่านั้น หากคุณมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ มีลิ้นหัวใจเทียม มีภาวะเลือดออกผิดปกติ กำลังได้รับยาแอสไพรินหรือยาละลายลิ่มเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนการตรวจ