โรคฮันนีมูน วายร้ายคุกคามกระเพาะปัสสาวะ
โรคฮันนีมูน
วายร้ายคุกคามกระเพาะปัสสาวะ
อ.นพ.ศิรส จิตประไพ
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคฮันนีมูน(Honeymoon disease)เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในเพศหญิงที่มีการอักเสบบริเวณท่อปัสสาวะ(Urethritis)หรือ ช่องคลอด(Vaginitis)หรือ กระเพาะปัสสาวะ (Cystitis)หลังจากมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดอาการแสบหรือเจ็บบริเวณท่อปัสสาวะในขณะถ่ายปัสสาวะ บางคนอาจถึงขั้นติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้ามีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบหลังการมีเพศสัมพันธ์ ก็จะเรียกว่า โรคฮันนีมูน ซิสไตติส (Honeymoon Cystitis)
ที่มาของชื่อโรคฮันนีมูน
ในสมัยโบราณ การมีเพศสัมพันธ์จะเกิดได้ต้องหลังแต่งงานเท่านั้น และมักเกิดในช่วงที่มีเพศสัมพันธ์หลาย ๆ ครั้ง ในระยะเวลาอันสั้น ก็คือช่วงที่ฮันนีมูน จึงเรียกกันว่า โรคฮันนีมูน
สัญญาณอันตราย สังเกตดูคุณมีหรือไม่
- ขณะถ่ายปัสสาวะ มีอาการแสบบริเวณปลายท่อปัสสาวะ หรือบริเวณปากช่องคลอด
- ถ้ามีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย ก็จะมีอาการปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวัน กลางคืน ปัสสาวะแสบ ปัสสาวะขัด กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะแล้วรู้สึกว่าไม่สุดต้องไปปัสสาวะอีกแม้เพิ่งปัสสาวะเสร็จ
- บางคนอาจจะมีอาการปวด หรือแสบบริเวณท้องน้อยร่วมด้วยทั้งตอนปวดและไม่ปวดปัสสาวะ
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้
1.กลุ่มคนที่มีกิจกรรมเพศสัมพันธ์ หรือลักษณะคล้าย ๆ กันนั้นบ่อยครั้ง และหลายครั้งในเวลาอันสั้น
2.ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย
3.ผู้ที่ชอบกลั้นปัสสาวะนาน ๆ
4.ผู้ที่เคยรับการผ่าตัด หรือการรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะเพศมาก่อน
5.ผู้ที่มีภาวะต้านทานของร่างกายต่ำกว่าปกติ
การรักษา
เบื้องต้นควรจะพักกิจกรรมทางเพศในระหว่างที่มีอาการดังที่กล่าวมา หมั่นดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อระบายเชื้อโรคบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะออก(ถ้ามี)
*ถ้ามีอาการมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งมักจะต้องกรวดน้ำปัสสาวะ และอาจจะเพาะเชื้อน้ำปัสสาวะ ซึ่งถ้าพบว่าผิดปกติก็ต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
หากปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามสู่โรคอื่น ๆ ได้หรือไม่
โดยส่วนใหญ่ถ้าดื่มน้ำมาก ๆ และพักกิจกรรมทางเพศก็จะหายเองได้ภายในเวลา 5-7 วัน แต่หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และยิ่งถ้าหากติดเชื้อจากแบคทีเรียร่วมด้วย ก็มีโอกาสเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน เช่น กรวยไต หลอดไต ซึ่งมีผลต่อไตในระยะยาว ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรืออาจเกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้
การป้องกัน
- ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
- ดูแลความสะอาดบริเวณปลายท่อปัสสาวะและอวัยวะเพศ
- มีกิจกรรมทางเพศอย่างเหมาะสม โดยหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ควรไปปัสสาวะและทำความสะอาดบริเวณท่อปัสสาวะ รวมถึงอวัยวะเพศ
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานเกินไป
- สังเกตพฤติกรรมการปัสสาวะของตนเองว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากปกติที่เคยปฏิบัติหรือไม่ ภายหลังการเดินทาง โดยเฉพาะการฮันนีมูน
- ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
การมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เป็นธรรมชาติของมนุษย์ชาติ แต่ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป และอย่างถูกกาลเทศะ เพราะโรคนี้มีโอกาสเป็นซ้ำได้ ถ้ามีกิจกรรมทางเพศบ่อยในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นการฮันนีมูนรอบสอง หรืออีกหลาย ๆ รอบได้ ดังนั้นกระเพาะปัสสาวะของเราเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าดูแลรักษาไม่ดีก็อาจนำไปสู่ภาวะหรือโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคไต นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ และเนื้องอกได้.