โรคตับอักเสบบี คืออะไร
โรคตับอักเสบบี คืออะไร
ผศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี
ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคระบบทางเดินอาหาร
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคตับอักเสบบี คืออะไร
ตับอักเสบบี คือ การอักเสบของเซลล์ตับ อันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี(HBV)การอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็งและมะเร็งตับได้
ไวรัสตับอักเสบบี มีความสำคัญกับเราหรือไม่
ในประเทศไทย คาดว่าประชากรประมาณร้อยละ5 มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นั่นหมายถึงประชากรประมาณ 3 ล้านคน มีไวรัสนี้พร้อมที่จะแพร่ให้ผู้อื่น และก่อให้เกิดความเจ็บป่วยกับผู้ติดเชื้อ
ไวรัสตับอักเสบ ติดต่อกันอย่างไร
การติดเชื้อที่พบบ่อย คือการถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก แต่ในปัจจุบันจะลดลงมาก เพราะการฉีดวัคซีนให้ทารกที่คลอดมาจะช่วยป้องกันได้เกือบร้อยละ 100 ดังนั้นการติดต่อที่สำคัญในปัจจุบัน คือทางเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โดยไม่ได้ป้องกัน ซึ่งไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอดส์ การสัก เจาะหู หรือการฝังเข็ม โดยอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง การได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ไม่จำเป็น ก็อาจเป็นสาเหตุได้แต่พบได้น้อยมาในการตรวจกรองของธนาคารเลือดในปัจจุบัน
หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีอาการอย่างไร
หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะเข้าไปฟักตัวในร่ายกายเราประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลียคล้ายเป็นหวัด คลื่นไส้ อาเจียน จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับโต ปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นในเวลา 2-3 สัปดาห์ และร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดไวรัสตับอักเสบบีออกไปพร้อม ๆ กับการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีซ้ำอีก ผู้ป่วยร้อยละ 5-10 อาจโชคไม่ดี ไม่สามารกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ เกิดการติดเชื้อเรื้อรัง โดยเฉพาะหากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยบางรายจะมีอักเสบของตับร่วมด้วย ซึ่งหากมีการอักเสบตลอดเวลาจะทำให้มีการตายของเซลล์ตับ เกิดมีพังผืดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นตับแข็งในที่สุด ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งกลายเป็นมะเร็งตับซ้ำเติม
แพทย์สามารถวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบบี ได้อย่างไร
การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบบี ในปัจจุบันทำได้ง่ายมาก เพียงตรวจเลือดในปริมาณเล็กน้อยเพื่อหาเปลือกของไวรัส (HBsAg)ก็จะทราบได้ว่าท่านมีไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งแพทย์อาจตรวจหาหลักฐานว่ามีตับอักเสบหรือไม่ โดยการตรวจระดับเอ็นซัยม์ของตับ(AST/ALT)โดยในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจนัดตรวจ 1-2 ครั้ง ในเวลาห่างกันทุก ๆ 1-2 เดือน ก็จะทราบได้ว่าท่านมีตับอักเสบเรื้อรังหรือไม่ นอกจากนั้นแพทย์อาจตรวจปริมาณไวรัสโดยทางอ้อมด้วยการตรวจ HBeAg หรือตรวจนับไวรัสในเลือดโดยตรง เพื่อประเมินปริมาณของไวรัส ก่อนการรักษา แพทย์อาจจะตรวจชิ้นเนื้อตับโดยใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนัง หลังจากฉีดยาชาซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อนี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างมาก เกี่ยวกับการอักเสบของตับ
หากตรวจพบว่าท่านเป็นตับอักเสบบีเรื้อรังจะทำอย่างไร
ในปัจจุบันมีการรักษาที่ได้ผลในการลดการอักเสบของตับอยู่หลายวิธี ทั้งโดยยาฉีดอินเตอร์เฟียรอนหรือยารับประทานลามิวูดีน ซึ่งยาทั้งสองอย่างสามารถลดปริมาณของไวรัส ลดการอักเสบของตับ ทำให้ระดับเอ็นซัยม์ของตับกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนั้นยังอาจลดเนื้อเยื่อพังผืดในตับ ป้องกันการเกิดตับแข็ง หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ การตัดสินใจเลือกชนิดยาสำหรับการรักษา แพทย์ผู้ดูแลจะอธิบายกับท่านถึงผลดีผลเสียของการใช้ยาทั้งสองอย่าง และช่วยพิจารณาว่าท่านเหมาะสมกับยาชนิดใดมากกว่ากัน นอกจากนั้นท่านควรปฏิบัติตัว โดยการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรงดดื่มสุรา และหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น พร้อมกับไปพบแพทย์เป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจการทำงานของตับ และแพทย์อาจตรวจกรองหามะเร็งตับร่วมด้วย ท่านสามารถแต่งงานมีบุตรได้ โดยควรตรวจคู่สมรสของท่านก่อนแต่งงาน หากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรได้รับการฉีดวัคซีน ในกรณีมีบุตร ทารกทุกรายจะได้รับฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากมารดาอยู่แล้ว และมารดาสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ
หากท่านสงสัยว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบบี ควรทำอย่างไร
ท่านควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเลือด ซึ่งสามารถให้คำตอบแก่ท่านได้ในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก โปรดอย่าลืมว่าไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และแม้ท่านได้รับเชื้อไปแล้ว มีภาวะตับอักเสบก็ยังรักษาได้โดยการใช้ยา ถึงแม้ว่าไวรัสตับอักเสบบี อาจไม่ได้หมดจากร่างกายแต่ก็สามารถหยุดยั้งไม่ให้เกิดการอักเสบ ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้