อัมพฤกษ์อัมพาต โรคเรื้อรังที่ต้องดูแล

อัมพฤกษ์อัมพาต  โรคเรื้อรังที่ต้องดูแล

อ.นพ.ยงชัย  นิละนนท์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

             เป็นที่ตระหนักกันว่า อัมพฤกษ์อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ทั่วโลก และเป็นสาเหตุที่สำคัญของความพิการที่รุนแรง ข้อมูลทางสถิติพบว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเกิดใหม่ทั่วโลกราว 10 - 15 ล้านคน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคนเสียชีวิต และอีก 5 ล้านคนกลายเป็นคนพิการอย่างถาวร

             สำหรับในประเทศไทยสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตาย หรือพิการสูงเป็นอันดับ ในเพศชาย รองจากโรคเอดส์และอุบัติเหตุ และสูงเป็นอันดับ 2 ในเพศหญิงรองจากโรคเอดส์  จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก

อัมพฤกษ์อัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
             1. สมองขาดเลือด พบประมาณ 70-80% ของผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการตีบหรืออุดตัน ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ  เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง  การสูบบุหรี่   ภาวะหัวใจวายหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด การขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  โรคเลือดบางอย่าง เช่น ภาวะเลือดข้นผิดปกติ   เกร็ดเลือดสูง  เม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ  ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอยู่เป็นเวลานานจะเป็นผลให้ผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว เกิดการตีบหรืออุดตัน ทำให้สมองขาดเลือดเกิดอัมพาตตามมาในที่สุด  โดยผู้ป่วยเหล่านี้มักมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วย
             2. หลอดเลือดสมองแตก เมื่อเกิดการแตกของหลอดเลือดสมอง ก้อนเลือดจะเบียดดันเนื้อสมองส่วนที่ดีทำให้เสียหน้าที่เซลล์สมองทำงานผิดปกติ  เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตตามมา ภาวะนี้มักสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาอยู่เป็นเวลานาน  นอกจากนี้ยังเกิดจากความเครียด  การดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งยาบางชนิด
อาการของอัมพฤกษ์อัมพาต
หากมีอาการในข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองทั้งสิ้น
             1.มีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนขา หรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
             2. ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น 
             3. พูดลำบาก พูดไม่ได้ หรือไม่เข้าใจคำพูด 
             4. มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน 
             5. มีอาการมึนงง หรือเดินไม่มั่นคง เสียศูนย์

การรักษา
การรักษาให้ได้ผลดีขึ้นอยู่กับ
             1.  เวลา ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไร จะยิ่งมีโอกาสหายเป็นปกติได้มาก
             2.  ความรุนแรงของโรคที่เป็น  ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงน้อยจะมีโอกาสหายได้สูงกว่า
             3.  ความพร้อมของเทคโนโลยีในการรักษา โดยใช้อุปกรณ์หรือเทคนิคที่เหมาะสมและยาที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นปัจจัยที่สำคัญของผลการรักษา
             สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดในระยะเฉียบพลันที่มีการศึกษายืนยันแล้วว่าได้ผลดีชัดเจน ได้แก่
              1. การให้ยาสลายลิ่มเลือด (Tissue plasminogen activator, tPA) ทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันภายในเวลา 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ  จะเพิ่มโอกาสของการฟื้นตัวจากความพิการให้อาการกลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 1.5 – 3  เท่า  เมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับยา อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้มีความเสี่ยงของเลือดออกในสมองได้ประมาณ 6%
              2.  การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg ต่อวันภายใน  48  ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำและเสียชีวิตลง
              3. การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute stroke unit) นับเป็นการรักษาที่ช่วยลดอัตราการตายหรือพิการอีกวิธีหนึ่ง
              4. การผ่าตัดเปิดกะโหลก (Hemicraniectomy) จะพิจารณาทำเฉพาะกรณีที่มีอาการรุนแรงและมีการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแดงใหญ่ Middle cerebral atery ในสมองเท่านั้น โดยมีหลักฐานการศึกษาว่าการผ่าตัดดังกล่าวสามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้

              นอกจากนี้การควบคุมความดัน การป้องกันภาวะแทรกซ้อน  การทำกายภาพฟื้นฟู  การที่คนในครอบครัวร่วมมือกันในการดูแลยามที่ผู้ป่วยท้อแท้  การให้กำลังใจผู้ป่วย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยทั้งสิ้น

ดูแลอย่างไรไม่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต 
              เรื่องการดูแล มีความสำคัญมากในการป้องกันไม่ให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้
              1. การรักษาและควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้แก่การรักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การงดสูบบุหรี่
              2. การป้องกันการกลับเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
              3. การลดอาหารไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว   อาหารเค็ม   กินผักและผลไม้ให้มาก 
              4. จำกัดการดื่มสุรา  เบียร์
              5. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
              6. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

              ได้มีการคาดการณ์ว่า มีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคอัมพาตเกิดขึ้นในประเทศไทยปีละ150,000 ราย ถ้าการรณรงค์ป้องกันได้ผลจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย ปลอดจากโรค ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ใช้รักษาสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ต่อคน คิดเป็นเงินประมาณ 100,000 บาท ต่อปี  ดังนั้นการป้องกันอัมพาตอย่างต่อเนื่อง และจริงจังจะสามารถประหยัดเงินประเทศชาติได้ถึงปีละห้าพันล้านบาท
              ดังคำกล่าวจากสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยว่า “อัมพฤกษ์ อัมพาต ตระหนักลดเสี่ยง  เลี่ยงได้”

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด