มะเร็งสมอง

ทำไงดี! เมื่อเป็นมะเร็งสมอง

                                                                         อ.นพ. ศรัณย์  นันทอารี
ประสาทศัลยแพทย์
  Faculty of Medicine Siriraj Hospital
 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

               เมื่อเอ่ยถึงสมอง จะเห็นว่าเป็นอวัยวะพิเศษอวัยวะหนึ่งที่อยู่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย และถูกปกป้องไว้ด้วยกระดูกที่หนา (กะโหลกศีรษะ)   เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายได้โดยง่าย ...สมองเปรียบเสมือนซีพียูของร่างกาย เพราะทำหน้าที่ คิด อ่าน เขียน คำนวณ และควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมด อาทิ ตา หู จมูกปาก ลิ้น กาย ใจ   
              ความผิดปกติของสมองที่พบส่วนใหญ่  มักจะมีสาเหตุมาจากการตีบ ตันหรือแตกของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง  ทำให้เกิดอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น  อัมพฤกษ์  อัมพาต นอกจากนี้ยังมีโรคของสมองอื่น ๆ  อีก  โดยเฉพาะ “โรคเนื้องอกสมอง”    ที่จะกล่าวถึงต่อไป
              กรณีของเนื้องอกสมองนั้น จะมีอาการแตกต่างกับโรคที่เกิดจากหลอดเลือดของสมองโดยอาการจะเกิดขึ้นค่อยเป็นค่อยไป  ไม่ฉับพลันเหมือนโรคหลอดเลือดสมอง  เนื้องอกสมองจะมีการงอกหรือขยายตัวเพิ่มขึ้นตามเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความกดดันภายในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น   ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน ประสาทตาบวม (สามารถตรวจพบโดยแพทย์) นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย   เช่น   แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก   อาการชาครึ่งซีก   การพูดฟังอ่านเขียนผิดปกติ   เดินเซ   ทรงตัวไม่ดี  ตาเหล่เห็นภาพซ้อน   ตามัว   หูหนวกหนึ่งข้าง ความคิดช้าลง บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง  และอาการชักกระตุก เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่าเนื้องอกอยู่ตำแหน่งใดของสมอง
            เนื้องอกของสมองนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกไม่ร้ายแรง  และเนื้องอกร้ายแรงหรือมะเร็ง  ในที่นี้จะขอกล่าวถึงส่วนที่เป็นเนื้องอกร้ายแรง
            เนื้องอกร้ายแรงของสมอง  แบ่งเป็น กลุ่ม คือ
           1. กลุ่มเนื้องอกสมองร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสมอง ไม่มีปัจจัยที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดเนื้องอกโดยตรง แต่พบว่ามีหน่วยพันธุกรรมที่ผิดปกติของเซลล์สมองเป็นปัจจัยร่วม    
            2. กลุ่มเนื้องอกที่แพร่มาจากที่อื่น เช่น มะเร็งของปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
          การรักษามะเร็งสมอง  มีหลายวิธี และอาจต้องใช้หลายวิธีในการรักษาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด อาทิ  
           1. การเจาะดูดชิ้นเนื้องอกเพื่อตรวจวินิจฉัย 
           2. ผ่าตัดเอาเนื้องอกออก 
           3. การฉายแสงรักษา
           4. การให้เคมีบำบัด

            ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผ่าตัดมะเร็งสมอง ทำให้ได้ผลดีขึ้นกว่าในอดีต มากและมีผลแทรกซ้อนน้อยลง โดยมีการใช้เครื่องมือนำวิถี  ( frame –based and frameless navigation) ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูง  มีการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (endoscopic surgery) ทำให้แผลผ่าตัดเล็ก  มีการทำผ่าตัดโดยไม่ดมยาสลบเพื่อทำแผนที่สมอง (awake craniotomy and brain mapping)  ช่วยให้ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกจากสมองส่วนสำคัญได้โดยปลอดภัย  มีการตรวจเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าสมองขณะผ่าตัด  ทำให้สามารถผ่าตัดมะเร็งสมองได้สมบูรณ์มากขึ้น  มีการตรวจเช็คประสาทสรีรวิทยาระหว่างผ่าตัด (EEG, SSEP, MEP) เพื่อป้องกันการพิการที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเนื้องอก นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางยา  เคมีบำบัด และการฉายแสงทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายขึ้น มียาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งสมองชนิดรับประทานที่มีผลแทรกซ้อนต่ำ  มีเครื่องฉายแสงฉายรังสีชนิด 3 มิติ ที่มีความแม่นยำสูง  ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนจากการฉายแสงน้อยลง เป็นต้น
           โรคมะเร็งสมองนั้น ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่จะป้องกัน วิธีที่ดีที่สุดคือ สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนในครอบครัว เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น  สมควรรีบตรวจรักษาโดยเร็ว  ในระยะที่เนื้องอกมีขนาดเล็กอยู่  ซึ่งการไปพบแพทย์อาจต้องทำอย่างต่อเนื่อง  เพราะอาการอาจไม่ชัดเจนในระยะแรก ส่วนผู้ที่มีอาการแล้ว ก็อย่าสิ้นหวังหรือหมดกำลังใจและไม่ควรปฏิเสธการรักษาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เนื่องจากปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก การรักษาทั้งในแง่การผ่าตัด  ให้ยา หรือฉายแสงรักษานั้นมีประสิทธิภาพอย่างมาก ที่สำคัญท่านจะต้องไม่ลืมดูแลรักษาตนเอง

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด