ท้องอืด...อาหารไม่ย่อย (ตอนที่ 1)

ท้องอืด.... อาหารไม่ย่อย (ตอนที่ 1)


ศ.พญ.ศศิประภา บุญญพิสิฎฐ์
อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          สังเกตไหมคะว่า   น้อยคนนักที่จะไม่เคยมีอาการท้องอืดเลย  โดยเฉพาะคนในเมืองหลวง  แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มีอาการนี้กันทุกครัวเรือน  

  
          ผู้ที่มีอาการท้องอืด  จะรู้สึกปวดท้องส่วนบน  ทำให้แน่นท้อง มีลมในท้อง ต้องเรอบ่อยๆ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็ว หรืออาจมีอาการแน่นท้อง แม้กินอาหารเพียงเล็กน้อย และแสบบริเวณหน้าอก


          สาเหตุนั้น  เกิดจากหลายอย่างด้วยกัน  ตั้งแต่ 
          1. โรคในระบบทางเดินอาหารเอง ได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร  กระเพาะอาหารอักเสบ  มะเร็งกระเพาะอาหาร พยาธิในทางเดินอาหาร  อาการแสบบริเวณหน้าอก  ซึ่งอาจจะเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อนได้
          2. โรคที่เกิดจากสิ่งภายนอก ได้แก่ 
          • ยาต่าง ๆ  ที่กิน  ยาหลายชนิดจะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ ยาแก้ปวดข้อทั้งหลาย 
          • ยาบางชนิด จะทำให้กระเพาะและลำไส้บีบตัวน้อยลง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาปฏิชีวนะบางอย่าง  
          • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เช่น สุรา  เบียร์  หรือน้ำชา  กาแฟ จะทำให้กระเพาะอาหาร
               อักเสบ รวมทั้งการระคายเคืองจากบุหรี่ 
          • ตลอดจนอาหารที่ย่อยยากหลายอย่าง รวมทั้งอาหารที่มีกากมาก ๆ  อาหารรสจัด อาหารหมักดอง         
          3. โรคของทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี 
          4.  โรคของตับอ่อน
          5.  โรคทางร่างกายอย่างอื่น ๆ เช่น เบาหวาน   โรคต่อมไทรอยด์  
          6.  พฤติกรรมในการกิน ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการท้องอืด  โดยเฉพาะอาหารรสจัด จะทำให้เยื่อบุอาหารอักเสบ การกินอาหารรีบร้อน เคี้ยวไม่ละเอียด หรือกินครั้งละมากๆ  รวมทั้งกินอาหารที่ย่อยยาก  อาหารมัน


          สำหรับผู้ที่ชอบกินผัก  แม้จะมีเส้นใยมาก  ถ้ากินมากไปอาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืดขึ้นได้  เนื่องจากร่างกายเราไม่มีน้ำย่อยเส้นใยเหล่านี้  ต้องอาศัยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่เป็นตัวช่วยย่อยสลาย   อย่างไรก็ตามอาหารประเภทผักก็มีประโยชน์  เพราะทำให้การขับถ่ายสะดวก


          เช่นเดียวกับอาหารประเภทนมนั้น  ในคนแถบเอเชียจะไม่มีน้ำย่อยที่ย่อยนม  หรือถ้ามีก็มีปริมาณน้อย เมื่อกินนมเข้าไปมาก  อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือท้องเสีย   ควรงดหรือค่อย ๆ  ดื่มนมทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายปรับตัวจนดื่มนมได้ในปริมาณที่ต้องการ แต่หากดื่มนมเปรี้ยว   จะไม่มีอาการ  เนื่องจากในนมเปรี้ยวจะมีการย่อยนมไปเป็นบางส่วนแล้ว


          ท้องอืดบ่อย ๆ  ผิดปกติหรือไม่
          อาการท้องอืด  ถ้านาน ๆ  เป็นครั้งคราว  จะไม่เป็นไร  แต่ปัญหาที่พบบ่อยในคนที่ท้องอืด  คือ  โรคกระเพาะ อาจเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ บางคนอาจเป็นโรคของทางเดินน้ำดี เช่น  นิ่วในถุงน้ำดี หรือจากอาหารที่เรากินเข้าไป    แต่ถ้าเป็นบ่อย  โดยเฉพาะผู้สูงอายุ  มักจะเป็นสัญญาณเตือนถึงอาการนำอย่างหนึ่งของมะเร็งในช่องท้อง  ร่วมด้วยอาการอื่น ๆ  เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด ซีด  ซึ่งควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด


          แก้ไขเบื้องต้น 
          การแก้ไขเบื้องต้น อาจใช้ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาขับลม หรือ ยาธาตุน้ำแดง ลองกินดูก่อน และปรับอาหารโดยกินอาหารอ่อนๆ  ย่อยง่ายแต่พอควร  ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์
ส่วนการกินยาช่วยย่อย  อาจช่วยลดอาการท้องอืดได้บ้าง แต่ถ้าต้องกินทุกวัน คงจะไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการท้องอืด ซึ่งอาจจะทำให้โรคเป็นมากขึ้นได้


          เมื่อใดควรไปพบแพทย์
          ผู้ที่มีอาการดังนี้  ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษา 
               1. ในผู้สูงอายุ  เช่น อายุเกิน 40 ปี เพิ่งจะเริ่มมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ
เนื่องจาก พบว่ามะเร็งของกระเพาะอาหาร หรือตับมักจะพบในคนอายุเกินกว่า 40 ปี
                2. ในคนที่มีอาการท้องอืดร่วมกับมีน้ำหนักลด
                3. มีอาการซีด ถ่ายอุจจาระดำ
                4. มีอาเจียนติดต่อกัน หรือกลืนอาหารไม่ได้
                5. ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีก้อนในท้อง
                6. ปวดท้องมาก
                7. ท้องอืดแน่นท้องมาก
                8. การขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น เช่น อาการท้องผูกมากขึ้น  จนต้องกินยาระบายหรืออาการท้องผูกสลับท้องเดิน  เป็นต้น

          การรักษา 
          ถ้าในคนอายุน้อยไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคที่อันตราย   แพทย์อาจให้ยามากิน และแนะนำวิธีปฏิบัติตัว   ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกิน   และนัดมาพบเพื่อดูอาการ    ถ้าไม่ดีขึ้น แพทย์อาจดำเนินการสืบค้นหาสาเหตุ ที่แท้จริงต่อไป 


          เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก หากละเลย  สุขภาพดีเกิดขึ้นได้ถ้าคุณใส่ใจ

                                                                 - มีต่อตอนที่ 2 -                                        

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด