พังผืดใต้ลิ้นไม่ใช่เรื่องเล็ก

พังผืดใต้ลิ้นไม่ใช่เรื่องเล็ก

ผศ.นพ.มงคล  เลาหเพ็ญแสง
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          น้อยคนนักจะรู้จัก “พังผืดใต้ลิ้น”  ถ้าไม่ประสบกับลูกน้อย

          พังผืดใต้ลิ้นคือ  เยื่อบาง ๆ  บริเวณโคนลิ้น  เกิดขึ้นได้กับเด็กทารกทุกคน  ถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะมีจำนวนไม่มากที่ต้องทำการรักษา  อย่างรายที่ทารกมีพังผืดยึดติดมากกว่าปกติจนถึงบริเวณปลายลิ้น   ทำให้เกิดปัญหาการขยับปลายลิ้นหรือการเคลื่อนไหวของลิ้นไม่ดีเท่าที่ควร 

 
          ปกติแล้วลิ้นมีหน้าที่สำคัญอยู่หลายประการ  แต่สำหรับทารกแรกเกิดนั้น ลิ้นมีหน้าที่ในการช่วยดูดนม   โดยเด็กทารกจะแลบลิ้นไปที่ลานหัวนมและรีดน้ำนมเข้าช่องปาก  แต่ในกรณีเด็กทารกที่มีพังผืดติดใต้ลิ้นมากเกินไป   จะทำให้ปลายลิ้นของเด็กขยับออกมาเลียลานหัวนมไม่ได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการดูดนมแม่ ตั้งแต่งับหัวนมไม่ติด ดูดเบา  ดูดบ่อย  น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด  มีอาการตัวเหลือง  บางรายจะใช้เหงือกช่วยในการดูดนม   ซึ่งจะทำให้แม่เจ็บหัวนม หรือหัวนมแตกเป็นแผล   สร้างน้ำนมน้อยลง ๆ เกิดปัญหาการได้น้ำนมไม่เพียงพอ  ถึงจุดนี้การยึดติดพังผืดใต้ลิ้นไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว  จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


          การรักษาภาวะพังผืดใต้ลิ้นในเด็กทารกเป็นสิ่งที่ทางการแพทย์ให้ความสำคัญและมีการพัฒนามากขึ้น  ในอดีตเราใช้การผ่าตัด   ซึ่งเด็กทุกรายจำเป็นต้องดมยาสลบ ทำให้สร้างความวิตกกังวลแก่พ่อแม่ของเด็กอย่างมาก  แม้ทางการแพทย์จะมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยต่อเด็กทารกก็ตาม  แต่ก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ  อีกทั้งจะต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาลต่ออย่างน้อย 2 – 3 วัน 

  
          ปัจจุบันเราได้ประยุกต์วิธีการผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่  ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นวิธีที่ปลอดภัย  และมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการรักษาด้วยการดมยาสลบ และที่สำคัญที่สุดคือ หลังผ่าตัดแล้ว ทารกสามารถกลับมาดูดนมแม่ได้ทันที และไม่ต้องกังวลเรื่องแผลผ่าตัด   ซึ่งจะหายเองภายใน 1 สัปดาห์  มีคุณแม่หลายท่านสงสัยว่าผ่าตัดแล้ว  ลิ้นจะยาวขึ้นมั้ย... ไม่ครับ  แต่จะทำให้การเคลื่อนไหวของลิ้นเป็นไปตามปกติคือ ไม่ติด เพราะเป็นการตัดเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะระหว่างใต้ลิ้นกับพื้นล่างของช่องปากให้พอเหมาะ


          อย่างไรก็ตาม ภาวะพังผืดใต้ลิ้นมีแนวโน้มที่จะยืดออกได้เอง หากยังไม่มีปัญหาการดูดนมแม่  แพทย์จะทำการนัดมาตรวจเป็นระยะๆ เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งในการพูด  โดยเฉพาะปลายลิ้นที่ต้องช่วยในขณะออกเสียงควบกล้ำ  ดังนั้นในเด็กโตที่มีพังผืดยึดมาถึงบริเวณปลายลิ้นก็อาจพูดไม่ได้  พูดช้า  และมีปมด้อยได้   

 
          น่าดีใจที่ปัจจุบันบ้านเรารณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันมากขึ้น  จึงทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่ต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้  ซึ่งความรักความห่วงใยนี้เอง นำมาซึ่งความใส่ใจ จนพบความผิดปกติของลูกน้อยและพามาพบแพทย์ 


          แม้ภาวะพังผืดใต้ลิ้น มักเป็นกรรมพันธุ์แต่กำเนิด ไม่สามารถป้องกันได้ แต่แก้ไขได้ หากคุณแม่ท่านใดมีปัญหานี้เกิดขึ้นกับลูกน้อยล่ะก็  มาปรึกษาได้ครับ

 

 


 

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด