เมื่อคุณหมอบอกว่าเป็นหลอดลมอักเสบ

เมื่อคุณหมอบอกว่าเป็นหลอดลมอักเสบ

 

รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน

สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้

    ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โรคหลอดลมอักเสบเป็นอย่างไร

โรคหลอดลมอักเสบ (bronchitis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลม หรืออากาศที่หายใจเข้าสู่ปอด ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม มีเสมหะในหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย  แน่นหน้าอก อาจหายใจมีเสียงดังหวีดได้  อาจมีอาการเจ็บคอ  แสบคอ หรือเจ็บหน้าอกได้  ผู้ป่วยอาจมีไข้  รู้สึกครั่นเนื้อ ครั่นตัวได้ ซึ่งควรวินิจฉัยแยกโรคจากโรคปอดบวม (pneumonia) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีไข้  ไอ และหอบเหนื่อย

 

โรคหลอดลมอักเสบเกิดจากสาเหตุใด

1.  โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (acute bronchitis) (มีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์)  ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อไวรัส เหมือนไข้หวัด [เช่น rhinovirus, adenovirus, corona virus, influenza virus, parainfluenza virus, respiratory syncytial virus (RSV)]  มีเพียงร้อยละ 10 ที่เกิดจากเชื้อ Bordetella pertussis, Chlamydia pneumoniae, Mycoplasma pneumoniae  ส่วนใหญ่มักเป็นตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง  ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม  ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นหวัด แล้วมีอาการไอ มีเสมหะเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน    เมื่อผู้ป่วยมีการอักเสบของโพรงจมูก หรือเป็นหวัด  ควรให้การรักษา หรือปฏิบัติตนให้ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นหลอดลมอักเสบ

 

2.  โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (chronic bronchitis) (มีอาการเกิน 3 สัปดาห์)  อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ [โรคหืด (asthma)] หรือเกิดจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน [อยู่ในกลุ่มของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease: COPD) คือมีอาการไอมีเสมหะมากกว่า 3 เดือน/ ปี เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี]  หรือสัมผัสกับมลภาวะ (air pollution) หรือสารระคายเคืองจากการประกอบอาชีพ (occupational irritants) เช่นฝุ่น, ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้   โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง นี้ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น  เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้แก่ Streptococcus pneumoniae, Hemophilus influenzae, Moraxella catarrhalis ซึ่งอาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียว 

 

อาการที่ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ คือ
            - มีอาการไอเรื้อรัง ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์

        - มีอาการไอเป็นเลือด ร่วมด้วย

        - มีอาการที่สงสัยว่า อาจเป็นปอดอักเสบร่วมด้วย เช่น มีไข้  ไอ และหอบเหนื่อย

        - มีอาการไอมาก จนรบกวนการรับประทานอาหาร หรือการนอนหลับ 

            - ในกรณีที่ผู้ป่วยสูงอายุ การไอมากๆ อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหักได้ (rib fracture)  มีอาการเจ็บหน้าอก เวลาไอ, หายใจ หรือ มีการเคลื่อนไหวทรวงอก หรืออาจทำให้ถุงลม หรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก ออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax or hemothorax) เกิดอาการหอบเหนื่อยทันที หลังๆการไอ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

 

การวินิจฉัยโรคทำอย่างไร

ทำได้โดย แพทย์จะซักประวัติ  ตรวจร่างกาย โดยใช้ที่ฟังปอด  ฟังหลอดลม ว่ามีการตีบแคบของหลอดลมหรือไม่ และให้การวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการไอ การที่เสมหะมีสีขาว หรือเขียว ไม่ได้ช่วยแยกว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย

การส่งตรวจภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) อาจช่วยวินิจฉัยแยกโรคปอดอักเสบได้  เนื่องจากอาการไอ อาจเป็นอาการเดียวของโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ ที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์  นอกจากนั้นผู้สูงอายุที่เป็นโรคปอดอักเสบ อาจมีอาการที่ไม่จำเพาะได้ เช่น เบื่ออาหาร, ล้มง่าย, ทรงตัวไม่อยู่, ซึม, ปัสสาวะราด ผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการไอมาก หรือมีอาการที่ไม่จำเพาะดังกล่าว ควรได้รับการส่งตรวจภาพรังสีทรวงอกทุกราย

 

การรักษา

โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน มักจะหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน  ถ้าปฏิบัติตนถูกต้อง (ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ การรับประทานยาต้านจุลชีพในผู้สูงอายุโดยไม่จำเป็น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา, มีปฏิกิริยาระหว่างยาต้านจุลชีพ และยาที่ผู้สูงอายุรับประทานประจำได้, เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็น หรือทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ) เช่น

            - พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพราะน้ำเป็นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด
            - หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่   หลีกเลี่ยง ควัน, กลิ่นฉุน, ควันบุหรี่, สารเคมี, ฝุ่น,  สารระคายเคืองต่างๆ ซึ่งจะทำให้การอักเสบในหลอดลมเป็นมากขึ้น
            - ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น และแห้ง ซึ่งจะทำให้ไอมากขึ้น โดยเฉพาะแอร์  พัดลมเป่า   การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ถ้าต้องการเปิดแอร์  ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า
25 องศาเซลเซียส  ในกรณีที่ใช้พัดลมไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา   ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง  เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถทำให้ร่างกายอ่อนแอ  มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง และยังสามารถกระตุ้นเยื่อบุหลอดลม  ทำให้เยื่อบุหลอดลมอักเสบมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการไอมากขึ้นได้
            - ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายขณะนอนให้เพียงพอ เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้า หมวก หรือผ้าพันคอ เวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้า หรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว ควรใส่เสื้อหนาๆ หรือใส่เสื้อ
2 ชั้น และกางเกงขายาวเข้านอน
            - ควรหาสาเหตุที่ทำให้เป็นหลอดลมอักเสบด้วย เนื่องจาก ถ้าผู้ป่วยยังมีภูมิต้านทานต่อโรคดี  ผู้ป่วยมักจะไม่เป็นหลอดลมอักเสบ  เมื่อใดเป็นหลอดลมอักเสบ แสดงว่าร่างกายมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลงได้แก่ เครียด, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ, ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้  การหาสาเหตุเหล่านี้มีความสำคัญ  ถ้าผู้ป่วยไม่ได้หาและไม่หลีกเลี่ยง  นอกจากจะทำให้หายช้าแล้ว อาจทำให้เป็นหลอดลมอักเสบซ้ำได้อีก
            - รักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้   อาจรับประทานยาลดไข้
[paracetamol หรือ non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)], ถ้ามีอาการไอมาก จนรบกวนการนอน หรือเป็นที่น่ารำคาญ อาจรับประทานยาลดหรือระงับอาการไอ (cough suppressants or antitussives เช่น dextromethorphan, codeine) หรือยาขยายหลอดลม (bronchodilator)  , ถ้ามีเสมหะมาก อาจรับประทานยาขับเสมหะ (expectorants) หรือ ยาละลายเสมหะ (mucolytics)

 

            การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ  ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ (antibiotic) เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ  ถ้าหลอดลมอักเสบเฉียบพลันนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งควรสงสัย ถ้าผู้ป่วยยังคงมีอาการไอ และไม่ดีขึ้นภายใน14 วัน     หรือผู้ป่วยมีโรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อน)  นอกจากนั้นถ้าสงสัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อ Bordetella pertussis (ทำให้เกิดโรคไอกรน) (เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน, ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน, ผู้ป่วยที่อาการไอเกิดขึ้นติดกันเป็นชุดๆ หรือ ในช่วงสุดท้ายของการไอ มีเสียงดังวู๊ป หรือวู้) ก็ควรให้ยาต้านจุลชีกลุ่ม macrolides   เพื่อลดการแพร่ระบาด หรือผู้ป่วยสูงอายุ (เช่นมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ที่มีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคปอดอักเสบ ก็ควรให้ยาต้านจุลชีพ

ยาต้านจุลชีพที่แพทย์ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรก ถ้าผู้ป่วยไม่ได้แพ้ยา penicillin คือ amoxicillin   แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยา penicillin อาจพิจารณาเลือกใช้ยาในกลุ่ม macrolides เช่น clarithromycin, azithromycin, midecamycin ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาต้านจุลชีพกลุ่มแรก ถ้าผู้ป่วยไม่ได้แพ้ยา penicillin อาจพิจารณาให้ ยาต้านจุลชีพกลุ่มที่สอง เช่น amoxicillin/clavulanate, cefuroxime, cefprozil, cefpodoxime proxetil, cefdinir หรือ cefditoren pivoxil   ถ้าผู้ป่วยแพ้ยา penicillin อาจพิจารณาเลือกใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones   ซึ่งควรรับประทานยาต้านจุลชีพ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 – 10 วัน
          โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ควรหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ  อาจให้ยาลดการอักเสบของหลอดลม (inhaled corticosteroids or short-course systemic steroids), ยาขยายหลอดลม [inhaled β-adrenergic agonists (เช่น salbutamol), inhaled anticholinergics (เช่น ipratropium bromide) or oral bronchodilator] และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม

 

วิธีป้องกัน

  โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน-ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง (ได้แก่ เครียด,นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ, ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้) และหมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิก (การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยานแบบปรับน้ำหนักความฝืดได้, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล) อย่างน้อยวันละ 30 นาที  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน

โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง-ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่   หลีกเลี่ยง ควัน, กลิ่นฉุน, ควันบุหรี่, สารเคมี, ฝุ่น,  สารระคายเคืองต่างๆ

 

ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าให้การรักษาไม่ถูกต้อง การติดเชื้อจากหลอดลมอาจลามไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ (pneumonia)ได้ หรือจากหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพองได้