สิ่งที่ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน(2)

สิ่งที่ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน(2)

 

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

9. อาการที่รู้สึกคล้ายมีก้อนในคอ หรือแน่นคอ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ หรือกลืนลำบาก คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในคอ เกิดจากกรดไหลย้อนไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ทำให้มีความรู้สึกดังกล่าว การรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน อาจช่วยให้อาการดังกล่าวลดน้อยลง นอกจากนั้นการที่กรดไหลขึ้นไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอ หรือลิ้นทำให้กล้ามเนื้อคออักเสบ หรือลิ้นอักเสบ ทำให้มีอาการ กลืนเจ็บ, เจ็บคอ, แสบคอหรือปาก หรือแสบลิ้นได้ ที่มีอาการมากช่วงเช้า ก็เนื่องจากเหตุผลเดียวกับข้อ 5

10. การที่มีเสมหะอยู่ในคอตลอด เกิดจากการที่กรดไหลขึ้นมา สัมผัสกับต่อมสร้างเสมหะในลำคอ และกระตุ้นทำให้ต่อมดังกล่าวทำงานมากขึ้น นอกจากนั้นการที่กรดไปกระตุ้นเส้นประสาทในคอ อาจทำให้มีอาการคันคอ หรือระคายคอได้ และเมื่อกรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้มีอาการกระแอมไอได้

11. อาการเจ็บหน้าอก เกิดจากกรดไหลย้อนขึ้นมาผ่านหลอดอาหาร ที่อยู่ในช่องอก ทำให้มีอาการดังกล่าวได้ และเมื่อกรดไหลลงไปในหลอดลม และปอด ทำให้มีอาการอักเสบของปอดเป็นๆ หายๆได้

12. อาการไอ, สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน เกิดจากกรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้หลอดลมอักเสบ และมีการหดตัวของหลอดลม ที่มักเป็นในเวลากลางคืน เนื่องจากเหตุผลข้อเดียวกับข้อ 5 เวลานอน จึงควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น เริ่มประมาณ 1/2-1 นิ้วจากพื้นราบก่อน โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ถ้านอนพื้น หรือไม่สามารถยกเตียงได้ ให้หาแผ่นไม้ขนาดเท่าฟูก รองใต้ฟูก แล้วใช้ ไม้ หรืออิฐ ยกแผ่นไม้ดังกล่าวขึ้น

13. การที่กรดไหลย้อนออกไปนอกหลอดอาหาร อาจไปถึง

13.1) เยื่อบุจมูกทางด้านบน ทำให้มีอาการคัน, จาม, คัดจมูก, น้ำมูกไหล หรือมีเสมหะไหลลงคอได้ หรือทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ของจมูกอยู่แล้ว มีอาการแย่ลงได้

13.2) ถ้ากรดขึ้นไปสูงถึงรูเปิดของหูชั้นกลางที่อยู่ที่โพรงหลังจมูก อาจทำให้รูเปิดดังกล่าวบวม ทำให้ท่อยูสเตเชียนที่เชื่อมต่อระหว่าง หูชั้นกลางและโพรงหลังจมูกทำหน้าที่ผิดปกติไป ทำให้เกิดหูอื้อ เป็นๆ หายๆ หรือมีอาการปวดหูได้

13.3) ถ้ากรดไหลเข้าไปในช่องปาก อาจกระตุ้นต่อมสร้างน้ำลาย ทำให้มีน้ำลายมากผิดปกติ หรือกรดไปกัดกร่อนฟัน ทำให้เกิดฟันผุ หรือเสียวฟันได้ การที่กรดไหลย้อนขึ้นมา ทำให้พาเอากลิ่นอาหารในกระเพาะอาหารขึ้นมาด้วย จึงอาจเป็นสาเหตุของการมีกลิ่นปากได้

14. โรคนี้ แพทย์มิได้ให้ผู้ป่วยรับประทานยาไปตลอดชีวิต เมื่อผู้ป่วยปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ทั้งนิสัยส่วนตัว, นิสัยในการรับประทานอาหาร และนิสัยการนอน แพทย์จะค่อยๆลดขนาดยาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหยุดยาได้

15. ไม่ควรปรับยารับประทานเอง ในระยะแรก นอกจากแพทย์อนุญาต ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังให้การรักษาประมาณ 1 – 3 เดือน ซึ่งจะดีขึ้น เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยว่า จะลดเหตุ (ข้อ 14) ได้มากน้อยเพียงใด

16. โรคนี้ถึงแม้ว่าแพทย์จะให้หยุดยาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้หายขาด ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมามีอาการใหม่ได้ ถ้าปฏิบัติตนออกนอกคำแนะนำที่ให้ไว้ เช่น ไปรับประทานอาหารที่แนะนำให้หลีกเลี่ยง เป็นต้น จะทำให้มีอาการกลับมาเป็นอีกได้ ซึ่งเมื่อมีอาการกลับมาใหม่ ให้รับประทานยาที่แพทย์ให้ไว้ รับประทานเวลามีอาการ ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีอาการดีขึ้น หรืออาการน้อยลง สามารถจะหยุดยาดังกล่าวได้

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด