กระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคร้ายที่รักษาได้ (ตอนที่ 1)

กระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคร้ายที่รักษาได้ (ตอนที่ 1)

 

อ.ประจักษ์  ศรีรพีพัฒน์

ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

                                             

            ภัยเงียบที่กว่าจะรู้ตัวก็เกือบสายเสียแล้ว เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องเคยได้ยินว่าคนรู้จักหรือคนใกล้ตัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เจ็บป่วยกะทันหันจากโรคเลือดออกในสมองบ้าง  เส้นเลือดฝอยในสมองแตกบ้าง หรือกระเปาะเลือดโป่งพองในสมองแตกบ้าง  และส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเหล่านี้ มักจะลงเอยด้วยสภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต  หรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่พอควร โดยเฉพาะในปัจจุบันที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก มีภาวะหรือโรคเลือดออกในสมองหลายชนิด ที่การรักษาได้ผลดีมาก โดยเฉพาะโรคเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง อะแร็คนอยด์ ซึ่งเกิดจากการแตกของกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นต้น

 

            กระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นพยาธิสภาพที่เกิดจากการโป่งออกของหลอดเลือดสมองเฉพาะจุด มีผลทำให้ผนังหลอดเลือดสมองบริเวณดังกล่าวบางลงและแตกออกง่ายก่อให้เกิดเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง อะแร็คนอยด์ ซึ่งเป็นภาวะที่มีอันตรายสูง หากไม่ได้รักษา หรือรักษาไม่ทันเวลา จะมีอัตราเสียชีวิตสูงมาก  ในผู้ป่วยบางรายกระเปาะหลอดเลือดโป่งพองไม่ได้แตกออก แต่ขยายขนาดขึ้นก่อให้เกิดการกดทับ   เส้นประสาทสมองหรือเนื้อเยื่อสมองก่อให้เกิดอาการทางสมองได้ หรือผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมองที่เกิดจากการที่ลิ่มเลือดซึ่งเกิดจากเลือดที่ไหลวนอยู่ในกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่นั้น หลุดออกไปอุดตันหลอดเลือดสมองส่วนปลาย

 

            สาเหตุของการเกิดกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองมีมากมาย แต่ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรคนี้ ซึ่งจะพบกระเปาะหลอดเลือดโป่งพองที่บริเวณหลอดเลือดใหญ่ที่ฐานสมอง และมีลักษณะกลม สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการที่มีกระแสเลือดไหลมากระทบตลอดเวลา ร่วมกับอายุที่มากขึ้น และปัจจัยที่เร่งกระบวนการเสื่อมของหลอดเลือดสมอง ที่พบบ่อยได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ เป็นเวลานาน จะเห็นได้ว่ามีภาวะหรือปัจจัยหลายชนิดร่วมกัน สร้างความเสื่อมให้แก่หลอดเลือดสมอง จนเกิดพยาธิสภาพเป็นกระเปาะโป่งพองขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 50-60 ปี และมักจะมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองดังที่กล่าวแล้ว   ยังมีสาเหตุอีกมากที่ก่อให้เกิดโรคกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ อาทิ เช่น อุบัติทางสมองที่มีการบาดเจ็บของหลอดเลือดสมอง, การติดเชื้อในกระแสเลือด ที่มีผลทำให้เชื้อฝังตัวที่ผนังหลอดเลือดสมอง, โรคที่เป็นโดยกำเนิดของชนิดที่มีผลทำให้หลอดเลือดสมองไม่แข็งแรง, โรคหลอดเลือดสมองชนิดอื่นที่มีผลทำให้มีการไหลเวียนของเลือดมากกว่าปกติมาก และทำให้หลอดเลือดสมองต้องรับกระแสเลือดมากกว่าปกตินานๆ  หรือการใช้ยาเสพติดบางชนิดที่มีผลทำให้หลอดเลือดสมองเสื่อมเร็ว เป็นต้น อย่างไรก็ตามสาเหตุต่างๆ กลุ่มนี้พบได้เป็นสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือด

 

            อุบัติการณ์ของโรคกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองในประเทศไทย ยังไม่มีการศึกษาในภาพรวมทั้งประเทศ หากใช้การอ้างอิงจากการศึกษาของต่างประเทศที่มีลักษณะของชาติพันธุ์ใกล้เคียงกับคนไทย คาดว่าจะมีความชุกของโรคนี้ประมาณ 0.5 ถึง 2% ในประชากรรวมทุกกลุ่มอายุ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากกว่าที่ประมาณการในอดีต โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางการตรวจหาโดยวิธีต่างๆ  มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพอง ที่จะเกิดการแตกขึ้น

 

อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยแบ่งออกได้เป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้ คือ

          1.กลุ่มที่ตรวจพบกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยบังเอิญ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการแสดงที่สัมพันธ์กับพยาธิสภาพนี้  แต่ได้พบพยาธิสภาพจากการสืบค้นพิเศษขณะตรวจรักษาโรคหรือภาวะอื่น อาทิ เช่น ได้ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจากอุบัติเหตุทางสมอง และพบพยาธิสภาพนี้โดยบังเอิญ เป็นต้น

            2.กลุ่มที่มีการแตกออกของกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพอง ทำให้เกิดภาวะเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง อะแร็คนอยด์ ซึ่งเป็นชั้นที่หลอดเลือดอยู่นั่นเอง ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณต้นคอส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้  อาเจียน ผู้ป่วยบางรายจะหมดสติหลังจากปวดศีรษะ และฟื้นขึ้นมาโดยยังคงมีอาการ ปวดศีรษะ และต้นคออย่างรุนแรงอยู่ มีผู้ป่วยบางส่วนจะหมดสติและอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงเสียชีวิตก็มี  ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพบได้มากที่สุด และต้องการการรักษารีบด่วน ซึ่งจะได้ผลการรักษาที่ดี

            3. กลุ่มที่มีกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่ และกดทับเนื้อเยื่อสมองหรือเส้นประสาทสมอง จะมีอาการหรืออาการแสดงขึ้นกับบริเวณที่ถูกกดทับ อาทิ เช่น หากกดทับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 จะมีอาการปวดร้าวบริเวณใบหน้า หากกดทับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 จะทำให้หนังตาตก และตาเหล่ออกด้านนอก เป็นต้น

            4. กลุ่มที่กระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีขนาดใหญ่ ทำให้เลือดไหลวนอยู่ภายใน ก่อให้เกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองส่วนปลาย อาการและอาการแสดงจะเป็นไปตามบริเวณของสมอง ที่ขาดเลือด เช่น ถ้าอุดตันหลอดเลือดที่เลี้ยงสมองซีกซ้าย อาจทำให้อ่อนแรงซีกขวาและพูดไม่ชัด เป็นต้น

                   

การตรวจรักษา   ขึ้นอยู่กับกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ได้แก่

            1.กลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการและอาการแสดง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมาพบประสาทศัลยแพทย์ หลังจากได้รับการตรวจพิเศษ เช่น การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) หรือการตรวจหลอดเลือดสมองโดยการฉีดสารทึบรังสี (Cerebral Angiography) แล้วพบพยาธิสภาพโดยบังเอิญ การตัดสินใจรักษาขึ้นอยู่กับขนาดของกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพอง เป็นสำคัญ ถ้าขนาดใหญ่ประสาทศัลยแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อหนีบกระเปาะหลอดเลือดโป่งพองนั้น (Clipping) หรือปรึกษารังสีแพทย์เพื่อใส่ขดลวดสปริง (Coiling) ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ป่วย แต่ละราย  จุดประสงค์ของการรักษาก็เพื่อให้กระเปาะหลอดเลือดโป่งพองนั้นอุดตันไป,ไม่แตกอีก โดยที่เลือดยังคงไหลไปตามหลอดเลือดที่ปกติได้ ผลการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ผลดีมาก  มีผลแทรกซ้อน และอัตราเสียชีวิตต่ำมากๆ

                                                           

   

 

       

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด