การคุมกำเนิด ( ตอนที่ 2 )
การคุมกำเนิด ( ตอนที่ 2 )
แพทย์หญิงธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์ ตำแหน่ง อาจารย์
สาขาเวชศาสตร์เจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด
การใช้แผ่นแปะที่มีฮอร์โมนคุมกำเนิดอยู่ในแผ่นขนาดประมาณ 4x4 เซนติเมตร (รูปที่ 4) แปะที่บริเวณสะโพก ท้องน้อย ต้นแขน หรือแผ่นหลังส่วนบน (แต่ไม่ควรแปะบริเวณเต้านม) โดยจะเปลี่ยนแผ่นทุกสัปดาห์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ อีก 1 สัปดาห์ไม่ต้องแปะแผ่นยา จะเป็นช่วงที่มีประจำเดือน ข้อดีคือประสิทธิภาพการคุมกำเนิดค่อนข้างดี ไม่ต้องกินยาทุกวัน ไม่เจ็บตัวที่ต้องถูกฉีดยา ฝังยาหรือใส่ห่วงคุมกำเนิด ผลข้างเคียงคือ บริเวณที่แปะอาจมีอาการคัน รู้สึกไม่สบายตัว กังวลว่าจะลอกหลุด คัดตึงเต้านม
การใช้ถุงยางอนามัย
การใส่ถุงยางอนามัยนอกจากคุมกำเนิดแล้วยังสามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย โอกาสล้มเหลวในการคุมกำเนิดอาจจะสูงเพราะ วิธีการใช้ไม่ถูกต้อง คุณภาพของถุงยางไม่ดีทำให้ขาดหรือรั่วได้
การนับวัน
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีรอบประจำเดือนสม่ำเสมอ โดยช่วงที่ปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์ คือ ก่อน 7 หลัง 7 หมายถึง ช่วงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำถ้ามีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ คือในช่วงก่อนมีประจำเดือน 7 วัน และหลังจากมีประจำเดือน 7 วัน การคุมกำเนิดวิธีนี้มีโอกาสล้มเหลวในการคุมกำเนิดได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากการนับวันผิดพลาด และไม่เหมาะสำหรับผู้ที่รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ
นอกจากนี้ยังมีการคุมกำเนิดวิธีอื่น ๆ อีกเช่น การหลั่งภายนอก การใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออสุจิ การสวนล้างช่องคลอด ซึ่งเหล่านี้เป็นวิธีที่มีโอกาสล้มเหลวในการคุมกำเนิดได้มาก ดังนั้นการคุมกำเนิดแต่ละวิธีอาจเหมาะกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นกับ ความต้องการมีบุตรอีกหรือไม่ ระยะเวลาในความต้องการคุมกำเนิด การยอมรับได้กับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ความสะดวก ราคา โรคประจำตัวที่เป็นข้อบ่งห้ามในการคุมกำเนิดแต่ละวิธี เหล่านี้จึงเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมในแต่ละคน