ไส้เลื่อนในเด็ก

โรคไส้เลื่อนในเด็ก

รศ. นพ. รวิศ เรืองตระกูล 
สาขาวิชากุมารศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

          จะว่าไปแล้ว โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเหมือนกัน อย่างเช่นโรคไส้เลื่อน ผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่เคยได้ยินว่าในเด็กเล็กๆ ก็มีไส้เลื่อนเช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ และไม่เคยทราบว่าไส้เลื่อนอาจจะเกิดได้ในเด็กผู้หญิงด้วย
         ไส้เลื่อนขาหนีบคือภาวะที่อวัยวะในช่องท้องเลื่อนลงไปในส่วนถุงของเยื่อบุช่องท้องซึ่งยื่นออกมาตรงขาหนีบ ส่วนถุงของเยื่อบุช่องท้องที่ยื่นออกมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คุณหมอขอตอบว่า โดยปรกติแล้วอัณฑะกำเนิดขึ้นในบริเวณด้านหลังของช่องท้อง ในการเคลื่อนที่ของอัณฑะลงมาที่ถุงอัณฑะนี้จะมีการดึงรั้งให้เยื่อบุช่องท้องซึ่งคลุมด้านหน้าของอัณฑะเคลื่อนที่ตามอัณฑะออกมาด้วย อัณฑะจะลงไปในถุงอัณฑะ สมบูรณ์เมื่อทารกในครรถ์อายุประมาณ 8 เดือน หลังจากนั้นรูที่เกิดขึ้นจากถุงของเยื่อบุช่องท้องที่ยื่นออกมานี้ก็จะมีการปิดตัวและสลายไป การคงอยู่ของช่องทางซึ่งควรจะปิดได้ตามธรรมชาตินี้เองที่เป็นต้นเหตุของโรคไส้เลื่อนและโรคถุงน้ำที่อัณฑะตามมา
          ไส้เลื่อนในเด็กนี้เกิดได้ในทุกช่วงอายุ โดยพบว่าเด็กผู้ชายมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากกว่าเด็กผู้หญิง และเกิดขึ้นในข้างขวามากกว่าข้างซ้าย และพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่าเด็กที่ครบกำหนด
          เมื่ออวัยวะภายในโดยเฉพาะลำไส้เคลื่อนที่เข้าออกผ่านมาในรูดังกล่าวก็จะทำให้เกิดเป็นก้อนที่บริเวณหัวเหน่า ซึ่งมักจะยุบเข้าออกได้ แต่ก็ไม่เสมอไปที่ลำไส้จะเคลื่อนที่ได้โดยสะดวกในทุกครั้ง อันตรายของไส้เลื่อนจะเกิดขึ้นเมื่อลำไส้เคลื่อนที่ลงมาในถุงไส้เลื่อนและมีการติดค้างของขดลำไส้ภายในสถานที่อันจำกัดของขาหนีบ จะทำให้เกิดการอุดกั้นของเลือดที่ไปเลี้ยงลำไส้ในส่วนที่ติดคา จนอาจจะทำให้ลำไส้เน่าตายได้ นอกจากนั้นขดของลำไส้ที่ติดค้างอยู่ในถุงเยื่อบุช่องท้องนี้ก็จะมีการกดทับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอัณฑะซึ่งวางอยู่ขอบถุงเยื่อบุช่องท้องจนอาจจะทำให้อัณฑะฝ่อตัวในเวลาต่อมาได้
          อาการของเด็กที่เป็นไส้เลื่อน จะมีประวัติว่ามีก้อนบริเวณเหนือขาหนีบและข้างหัวเหน่าเข้าๆ ออก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเบ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ ไอ หรือร้องไห้ก็ตาม ก้อนที่ออกมาจะยุบหายไปหมดเมื่อเด็กนอนหลับ การตรวจร่างกายจะพบว่ามีก้อนออกมาหลังการเบ่ง (โดยอาจจะให้เด็กไอหรือเบ่งให้ดู) ก็จะสังเกตเห็นว่าเป็นก้อนนูนจากข้างหัวเหน่าลงไปในถุงอัณฑะในผู้ชายหรือข้างหัวเหน่าในผู้หญิง  บางครั้งผู้ปกครองก็สามารถดันก้อนไส้เลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องได้ ซึ่งถ้าแพทย์ได้ตรวจร่างกายและพบก้อนไส้เลื่อนดังกล่าวและสามารถดันกลับเข้าไปได้ ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ทันทีว่าเป็นไส้เลื่อน สมควรที่จะได้รับการผ่าตัดรักษาโดยไม่ต้องรับการตรวจด้วยวิธีการพิเศษอื่นๆ
          อันตรายที่สำคัญที่สุดของไส้เลื่อนก็คือไส้เลื่อนขาหนีบติดคา ซึ่งหมายถึงภาวะที่มีอวัยวะในช่องท้องซึ่งในเพศชายมักจะเป็นลำไส้เล็กและถ้าเป็นในเพศหญิงมักจะเป็นรังไข่ ท่อนำไข่ หรือลำไส้เล็ก เข้ามาติดคาอยู่ในถุงไส้เลื่อน เมื่อมีอวัยวะออกมาติดคาในถุงไส้เลื่อนแล้ว การไหลเวียนโลหิตของอวัยวะนั้นก็จะถูกรบกวน ทำให้อวัยวะนั้นขาดเลือด เกิดการเน่าตายได้ เมื่อเกิดภาวะไส้เลื่อนติดคานี้ ผู้ป่วยจะมีก้อนนูนเกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะโดยไม่ยุบหายไป เด็กจะร้องกวนเนื่องจากความเจ็บปวด ร่วมกับมีอาการอาเจียน การตรวจร่างกายจะพบก้อนนูนที่บริเวณขาหนีบข้างที่เป็นไส้เลื่อนติดคา ผู้ป่วยจะเจ็บเมื่อคลำบริเวณก้อน ในช่วงแรกที่เป็น ผิวหนังที่คลุมเหนือก้อนจะมีลักษณะปรกติหรือบวมเล็กน้อย แต่ถ้าปล่อยให้เป็นนานต่อไป จะเกิดการบวมแดงของผิวหนังบริเวณนั้นเนื่องจากมีการขาดเลือดของลำไส้ที่ลงมาติดคา
          การรักษาไส้เลื่อนที่ดีที่สุดก็คือการผ่าตัด แต่เมื่อบอกผู้ปกครองว่าควรจะผ่าตัด ผู้ปกครองมักจะอิดเอื้อนไม่อยากให้ผ่าตัดด้วยกลัวว่าเด็กจะมีอันตรายจากการดมยาสลบ และมีแนวโน้มที่ผู้ปกครองจะประวิงการผ่าตัดให้ทำผ่าตัดในเด็กที่โตกว่านี้ คุณหมอก็อยากจะเรียนว่าการผ่าตัดไส้เลื่อนในเด็กไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลย การดมยาสลบในเด็กซึ่งไม่เคยมีโรคประจำตัวใดๆ มาก่อนมีความเสี่ยงต่ำมากๆ การผ่าตัดนี้ไม่ได้ผ่าตัดเข้าไปภายในช่องท้องเพียงแต่ผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องที่เป็นปัญหาเท่านั้น การผ่าตัดใช้เวลานาน 30 - 45 นาที และเมื่อเด็กฟื้นจากการดมยาสลบและตื่นได้ดี ทางโรงพยาบาลก็จะให้กลับบ้านได้เลยในวันเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล ยกเว้นเด็กจะมีอายุน้อยมากๆ เช่นเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนดและมีอายุน้อยมากๆ ในขณะที่ผ่าตัดหรือเด็กมีโรคประจำตัวบางอย่างเช่นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไต เป็นต้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ก็ควรนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 1 - 2 วัน การประวิงเวลาให้ผ่าตัดตอนเด็กโตนั้น คุณหมอไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น เนื่องจากความเสี่ยงในการดมยาสลบระหว่างเด็กเล็กและเด็กโตไม่ต่างกันมาก แต่การรอทำผ่าตัดตอนเด็กโตจะมีความเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อนติดคาได้ก่อนอุบัติการณ์ของไส้เลื่อนติดคานี้มักจะเกิดขึ้นในเด็กอายุน้อยกว่าหนึ่งปี ดังนั้นถ้าประวิงเวลาการผ่าตัดไส้เลื่อนออกไป เด็กอาจจะเกิดไส้เลื่อนติดคาอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
           ถ้าพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะไส้เลื่อนติดคาโดยไม่มีลักษณะของการขาดเลือดของลำไส้ แนวทางการรักษาก็จะแตกต่างกับไส้เลื่อนปรกติที่ลำไส้ยังไม่ติดคา ในกรณีไส้เลื่อนติดคาต้องรับผู้ป่วยไว้ดูแลในโรงพยาบาล โดยทั่วไปศัลยแพทย์จะลองดันอวัยวะที่ออกมากลับเข้าไปในช่องท้องก่อน ถ้าไม่สามารถกระทำได้จึงทำการผ่าตัดฉุกเฉิน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ศัลยแพทย์สามารถดันอวัยวะกลับเข้าไปในช่องท้องได้ ทำให้เปลี่ยนสภาวะของผู้ป่วยจากที่จะต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉิน มาเป็นการผ่าตัดที่สามารถเตรียมผู้ป่วยให้ดีก่อนการผ่าตัดได้ โดยจะทำการผ่าตัดในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมงต่อมาเมื่อถุงไส้เลื่อนยุบบวมลง ในกรณีที่ลำไส้ติดคามานานจนเกิดการเน่าตายของลำไส้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน 
           เมื่อสงสัยว่าลูกน้อยป่วยเป็นไส้เลื่อน สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ก็คือ ควรรีบพาเด็กมาพบศัลยแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดรักษา โดยทั่วไปในโรงพยาบาลที่ใหญ่ จะมีกุมารศัลยแพทย์ซึ่งเป็นศัลยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเป็นอย่างยิ่งในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเด็ก ที่โรงพยาบาลศิริราชมีกุมารศัลยแพทย์ออกตรวจที่ OPD ศัลยกรรมทุกวันในเวลาราชการ เมื่อมาพบแพทย์แล้ว แพทย์ก็จะนัดวันผ่าตัด โดยทั่วไปจะเป็นการผ่าตัดในช่วงเช้า ดังนั้นผู้ป่วยทุกคนต้องอดอาหาร น้ำ และนมในตอนเช้าของวันผ่าตัด โดยทั่วไปก็ตั้งต้นตั้งแต่ตอนตี 3 ของวันผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วถ้าไม่มีปัญหาอะไร ผู้ป่วยก็สามารถจะกลับบ้านได้ในวันนั้น เนื่องจากเป็นผ่าตัดที่เลือกเวลาทำผ่าตัดได้ ศัลยแพทย์จะไม่ทำผ่าตัดถ้าพบว่าผู้ป่วยเป็นหวัดหรือมีอาการผิดปรกติอื่นๆ เช่น ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงอยู่ ในกรณีเช่นนี้ทางศัลยแพทย์ก็จะเลื่อนผ่าตัดไปจนกว่าผู้ป่วยจะพร้อมผ่าตัดมากกว่านี้
           สุดท้ายนี้ คุณหมอขอแนะนำคุณพ่อ คุณแม่และผู้ปกครองทุกท่านว่า ถ้าสงสัยว่าบุตรหลานของท่านป่วยเป็นโรคไส้เลื่อนไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม ขอให้คุณพ่อ คุณแม่รีบพาเด็กมารับการตรวจกับศัลยแพทย์โดยทันที และถ้าแพทย์แนะนำว่าเป็นไส้เลื่อนจริงและแนะนำทำผ่าตัด ก็อย่าเกิดอุปทานไปว่าบุตรหลานท่านจะเป็นอันตรายจากการดมยาสลบ หรือว่าจะผ่าตัดไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง การประวิงเวลาของการผ่าตัดออกไปอาจจะเกิดภาวะไส้เลื่อนติดคาซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กได้ คำแนะนำของคุณหมอในการรักษาโรคนี้ก็คือควรได้รับการผ่าตัดรักษาทันทีที่ผู้ป่วยพร้อม โดยไม่ต้องคำนึงถึงขนาดร่างกายของผู้ป่วย การผ่าตัดไส้เลื่อนไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องใหญ่ โดยทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล สามารถมาทำผ่าตัดตอนเช้าและกลับบ้านได้ในตอนบ่ายครับ

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด