การแพทย์ทางเลือก...ผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้อง
การแพทย์ทางเลือก...ผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้อง
ศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ ชัยศิลป์วัฒนา
ภาควิชาสูติศาสตร์-นารีเวชวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การแพทย์ทางเลือก ได้รับการกล่าวขานมากขึ้นทั้งในแวดวงสื่อสารมวลชน และในผู้ป่วยทั่วไปที่มีความสนใจในแขนงการแพทย์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งในปัจจุบันมีหลายโรคที่ให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเลือกการรักษามากกว่าเดิม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โรคเฉพาะสตรี
ดังที่ทราบกันทั่วไปว่า การผ่าตัดทางนรีเวชกรรม แพทย์จะทำผ่าตัดโดยกรีดแผลที่ผนังหน้าท้องเป็นเส้นตรงตามแนวกลางหรือแนวขวางขนาดยาวประมาณ 10 เซนติเมตรขึ้นไป เพื่อเปิดผนังหน้าท้องออกให้เห็นอวัยวะภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน แล้วจึงทำการผ่าตัดเอามดลูกหรือรังไข่ส่วนที่เป็นโรคออก แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้นรีแพทย์ทำการผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้องหรือการผ่าตัดส่องกล้อง โดยอาศัยเทคโนโลยีด้านกล้องถ่ายภาพและจอรับภาพร่วมกับการพัฒนาเครื่องมือผ่าตัดที่สะดวก ทันสมัย และมีประสิทธิภาพขึ้นมา ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กที่ท้องน้อยและเจ็บปวดน้อยลง
วิธีใหม่นี้แพทย์จะทำการผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรี ด้วยการใช้เครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษร่วมกับกล้องขยายและจอรับภาพโดยไม่ต้องเปิดหน้าท้องให้เป็นแผลกว้าง โดยเจาะช่องที่ผนังหน้าท้อง ส่วนมากเจาะตรงบริเวณสะดือให้เป็นช่องกว้างประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร เพื่อสอดกล้องขยายเข้าไปในช่องท้อง กล้องจะทำหน้าที่นำภาพอวัยวะในช่องท้องถ่ายทอดออกมาให้แพทย์ได้เห็นทางจอโทรทัศน์ จากนั้นแพทย์จะเจาะช่องที่ผนังหน้าท้องขนาดช่องละ 0.5 เซนติเมตร อีก 2 - 3 ช่อง เพื่อสอดใส่เครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษเข้าไปในช่องท้อง ทำให้สามารถมองภาพที่จอโทรทัศน์และทำการผ่าตัดได้ดีเทียบเท่ากับ หรือดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม
หลังผ่าตัดเมื่อรู้สึกตัวดีและไม่คลื่นไส้อาเจียน สามารถรับประทานอาหารอ่อนและยาแก้ปวดธรรมดาได้ตามต้องการ เมื่อผู้ป่วยไม่เวียนศีรษะสามารถลุกเดินได้ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-3 วันหลังการผ่าตัด
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง
1. ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กแตกต่างจากการผ่าตัดด้วยวิธีเดิม ขนาดแผลที่เกิดขึ้นประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร รวม 3-4 แผล ที่ผนังหน้าท้องน้อย
2. เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดจะมีน้อยกว่าวิธีเดิม ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดชนิดแรง
3. ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วันหลังการผ่าตัด สามารถปฏิบัติกิจวัตรส่วนตัวได้ด้วยตนเอง มีความสะดวกสบายมากขึ้นและสามารถออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ส่วนใหญ่พักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน หลังจากผ่าตัด
4. ไม่ต้องหยุดงานนานเหมือนวิธีเดิม ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้านเพียง 1 - 2 สัปดาห์ สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ
5. การเกิดพังผืดและภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดพบน้อยกว่าวิธีเดิม
ข้อด้อยของการผ่าตัดผ่านกล้อง
1. ไม่สามารถใช้การผ่าตัดชนิดนี้ได้กับผู้ป่วยทุกราย เช่น ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มากเกิน 15 เซนติเมตรขึ้นไป อาจจะไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องได้
2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น กระบังลมรั่ว โรคปอดหรือโรคหัวใจไม่สามารถใช้การผ่าตัดผ่านกล้องได้
3. ผู้ป่วยที่มีพังผืดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมากเกินไป เช่นผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคติดเชื้อในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมาก่อน ผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดช่องท้องมาหลายครั้ง เป็นต้น
4. ประการสำคัญที่สุดคือ แพทย์ที่ทำผ่าตัดผ่านกล้องต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผ่าตัดผ่านกล้องที่ได้รับการอบรมและฝึกฝนมาอย่างดีเท่านั้น จึงสามารถทำผ่าตัดผ่านกล้องได้
โรคที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง
1. โรคที่ทำให้เกิดการปวดท้องเรื้อรัง
2. โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
3. โรคเนื้องอกที่รังไข่และมดลูก
4. ท้องนอกมดลูก
5. การทำหมันแห้ง
6. การรักษาโรคที่มีบุตรยาก เช่น การตัดท่อนำไข่ที่ตันออกและต่อใหม่
7. การรักษาโรคของโพรงมดลูก เป็นต้น
การปฏิบัติตนหลังผ่าตัด
1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด
2. เมื่อแพทย์อนุญาตให้รับประทานอาหารได้ ให้ดื่มน้ำมากๆ และห้ามกลั้นปัสสาวะ
3. ลุกเดินบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพังผืดในช่องท้อง
4. เมื่อมีปัญหา หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล
5. มาตรวจร่างกายและตรวจภายในหลังการผ่าตัดตามวันและเวลาที่แพทย์นัด
ผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องโดยเฉพาะ มักจะไม่เกิดผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ผลแทรกซ้อนเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจพบ คือมีอาการปวดหัวไหล่หน่วงๆ คล้ายปวดเมื่อย เนื่องจากลมในช่องท้องไปดันกะบังลม อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดและจะหายกลับเป็นปกติภายใน 1 วัน หลังผ่าตัด
ก่อนที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจเลือกรับการผ่าตัดชนิดใดก็ตาม นรีแพทย์ที่ทำการผ่าตัดรักษาอยากให้ผู้ป่วยทุกท่านได้ทำการศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจรับการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดแต่ละชนิดย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้เข้าใจโดยละเอียดก่อนตัดสินใจเลือกวิธีการผ่าตัด
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http//: www.thai-germanendoscopy.com