ทำอย่างไร เมื่อฉันเป็น “เนื้องอกมดลูก”

ทำอย่างไร เมื่อฉันเป็น “เนื้องอกมดลูก”

รศ.นพ.วีรศักดิ์   วงศ์ถิรพร
ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

       เนื้องอกมดลูก  เป็นเนื้องอกที่พบบ่อยของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี  ส่วนมากจะพบในสตรีที่อยู่ในช่วงอายุ 40 - 50 ปี  การเกิดเนื้องอกมดลูกเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กล้ามเนื้อปกติของมดลูก  โดยไม่ทราบสาเหตุแน่นอน  สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม  เนื่องจากพบการสืบทอดในครอบครัวค่อนข้างบ่อย  นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่า ฮอร์โมนเพศหญิงและตัวเร่งการเจริญเติบโตที่มดลูก มีส่วนเร่งให้เนื้องอกนี้โตขึ้น เพราะพบว่าส่วนใหญ่เนื้องอกจะมีขนาดเล็กลงหลังวัยหมดระดู
       เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง  มีโอกาสเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อร้ายเพียงร้อยละ 0.25 – 1.08 ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ขนาดของเนื้องอกจะโตเร็วและมีอาการตกเลือดร่วมด้วย  เนื้องอกชนิดนี้มักเกิดหลายก้อนในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้มดลูกโตไม่สม่ำเสมอ  ผิวมักจะเป็นลอน ลักษณะค่อนข้างแข็ง  มีขนาดแตกต่างกันได้มาก  มีบางมดลูกอาจโตได้เท่ามดลูกของสตรีตั้งครรภ์ 6 – 7 เดือน  เนื้องอกที่มีขนาดเล็กมักไม่ก่อให้เกิดอาการ   สตรีที่มีเนื้องอกชนิดนี้เพียงร้อยละ 20 – 30 เท่านั้นที่มีอาการผิดปกติ

สัญญาณอันตราย และอาการที่พบบ่อย
     1.  เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด  ส่วนใหญ่มักจะมีเลือดระดูออกมากขึ้น  บางรายอาจละเลยเนื่องจากเลือดระดูที่ออกมากเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป  เมื่อปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน ๆ จะทำให้ร่างกายสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากจนซีด  มีอาการเหนื่อยง่าย  หรือหน้ามืดเป็นลมได้บ่อย  ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบระดู  ซึ่งมักจะพบความผิดปกติอื่นร่วมด้วย  เช่น การอักเสบติดเชื้อ การเปลี่ยนเป็นเนื้อร้าย  หรือมีมะเร็งของเยื่อบุมดลูก เป็นต้น
     2.  อาการจากการกดเบียดของมดลูกที่โตขึ้น  ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่สบายบริเวณหัวหน่าว  ปัสสาวะบ่อยขึ้น  หรืออาจกดบริเวณทวารหนักทำให้ท้องผูก
     3.  ผู้ป่วยบางรายอาจคลำพบก้อนในท้อง หรือรู้สึกท้องโตขึ้นโดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย
     4.  เจ็บปวดบริเวณท้องน้อย  แต่โดยทั่วไปเนื้องอกมดลูกจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด  นอกจากจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น เลือดออกภายในก้อน  หรือเกิดการอักเสบของก้อนเนื้องอก เป็นต้น


เมื่อเป็นแล้ว จะมีโอกาสตั้งครรภ์หรือไม่
       เนื้องอกมดลูกมีผลต่อการตั้งครรภ์และการคลอด  พบว่าร้อยละ 25 -35 ของสตรีที่มีเนื้องอกมดลูกจะพบร่วมกับภาวะมีบุตรยาก  ถ้าตั้งครรภ์อาจเกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้  เนื่องจากการฝังของไข่ที่ได้รับการผสมจากเชื้ออสุจิแล้วกับเยื่อบุมดลูกไม่ดี  และก้อนเนื้องอกไปขัดขวางการเจริญเติบโตของมดลูกขณะตั้งครรภ์  หรือทำให้เกิดการบีบตัวอย่างผิดปกติของมดลูก  นอกจากนี้ทารกในครรภ์อาจอยู่ในตำแหน่งหรือท่าผิดปกติ  เนื้องอกมดลูกอาจไปขัดขวางทางคลอด  ทำให้คลอดยากและอาจตกเลือดภายหลังการคลอดได้

การรักษา
       ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของผู้ป่วย  ขนาดของเนื้องอก  ความต้องการบุตร  อาการหรือภาวะแทรกซ้อน และสภาพของผู้ป่วย 
ในผู้ป่วยที่ก้อนเนื้องอกไม่โตมาก และไม่มีอาการผิดปกติ  อาจไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ เพียงแต่คอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของขนาดเนื้องอก  โดยเฉพาะในสตรีที่อายุใกล้หมดระดู  เพราะหลังจากหมดระดูก้อนเนื้องอกจะมีขนาดเล็กลง 
       ส่วนผู้ที่มีเนื้องอกขนาดโต  หรือมีอาการผิดปกติอันเนื่องจากก้อนเนื้องอก โดยส่วนมากแพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเอามดลูกทิ้ง หรือเพียงแต่เลาะเอาก้อนเนื้องอกออกก็พอ  แต่ทั้งนี้จะได้รับการรักษาด้วยวิธีใดขึ้นกับขนาดของก้อน   ความต้องการบุตรและอายุของผู้ป่วย  ในการผ่าตัดอาจใช้วิธีผ่าตัดทางหน้าท้องหรือการผ่าตัดผ่านทางกล้องก็ได้  ในรายที่ก้อนมีขนาดใหญ่อาจฉีดยาบางอย่างเพื่อทำให้ก้อนมีขนาดเล็กลง  เพื่อให้การผ่าตัดง่ายขึ้น  สำหรับผู้ที่ผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก  ก้อนเนื้องอกเล็ก ๆ ที่หลงเหลืออยู่จะโตขึ้นมาใหม่ได้ 

วิทยาการการรักษาในปัจจุบัน
       ปัจจุบันมีวิธีการรักษาก้อนเนื้องอกโดยไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่ใส่สายพลาสติกเข้าไปทางหลอดเลือดที่ขาหนีบจนถึงหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก  แล้วฉีดสารบางอย่างไปอุดหลอดเลือดนั้นจะทำให้ก้อนเนื้องอกฝ่อยุบหายได้  ซึ่งในขณะนี้ ร.พ.ศิริราช ได้เริ่มนำวิธีการรักษาแบบนี้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัด  แต่จะมีข้อจำกัด คือ ก้อนเนื้องอกจะต้องไม่โตจนเกินไป และไม่มีข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธีนี้

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด