การรักษาผนังหลอดเลือดแดงตีบตัน/โป่งพองด้วยวิธีการเจาะรู/เปิดแผลขนาดเล็กผ่านทางผิวหนัง

การรักษาผนังหลอดเลือดแดงตีบตัน/โป่งพองด้วยวิธีการเจาะรู/
เปิดแผลขนาดเล็กผ่านทางผิวหนัง

อ.นพ.ชุมพล  ว่องวานิช
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

       สภาวะเศรษฐกิจที่เร่งรีบในปัจจุบันส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของผู้คนในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัด คือ ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบก่อให้เกิดสุขลักษณะของการดำรงชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ความเครียดจากการทำงาน การจราจรที่ติดขัด หรือ ปัญหาครอบครัว การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และ การสูบบุหรี่ ปัจจัยดังกล่าวนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เร่งให้เกิดความเสื่อมของระบบหัวใจและหลอดเลือดทั่วร่างกาย ก่อให้เกิด ”ภาวะหลอดเลือดแดงตีบตัน/โป่งพอง” ได้

       ผู้ป่วยมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง บางครั้งถึงขั้นเสียชีวิต (จากการตกเลือดในช่องท้องหากเกิดการแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ช่องท้องโป่งพอง) หรือ ทุพพลภาพ (การเกิดอัมพาต/อัมพฤตจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน/แตก การเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การถูกตัดขาจากการขาดเลือดของขาเฉียบพลันหรือเรื้อรัง)

การดูแลรักษาผู้ป่วย มีหลักดังนี้ คือ
1. ปรับลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดความเสื่อมของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น การละ/ลดความเครียด การลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลปริมาณมาก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ และ การละ/ลดการสูบบุหรี่ เป็นต้น
2. การใช้ยาเพื่อป้องกัน/ชะลอการเกิดความเสื่อมของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น การให้ยาต้านเกร็ดเลือด ยาลดความดันโลหิต และ ยาลดระดับไขมันในเลือด
3. การผ่าตัดเพื่อป้องกันหรือรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการตีบตัน/โป่งพองของหลอดเลือดแดง
     ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด คือ เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัว แต่ก็มีข้อเสีย คือ ต้องการความร่วมมือของคนไข้อย่างมาก อาจมี


ผลข้างเคียงจากการยาที่ใช้รักษา และ หลอดเลือดที่ตีบตัน/โป่งพองยังไม่ได้รับการแก้ไข
       ส่วนข้อดีของการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ได้แก่ หลอดเลือดที่ตีบตัน/โป่งพองได้รับการแก้ไขโดยตรง แต่เป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดและการให้ยาระงับความรู้สึก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และ ต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นทั้งในโรงพยาบาล และ ที่บ้านหลังสิ้นสุดการผ่าตัด
เพื่อเป็นการลดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดและการให้ยาระงับความรู้สึก รวมถึงช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นอันเนื่องมาจากการผ่าตัดด้วยวิธีมาตรฐานในปัจจุบัน ทีมศัลยแพทย์ของสาขาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ จึงได้นำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดแดงตีบตัน/โป่งพอง โดย “วิธีการเจาะรูผ่านทางผิวหนัง” หรือ “ผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กที่ขาหนีบหรือต้นแขน” มาใช้ ซึ่งวิวัฒนาการ     การรักษาดังกล่าวมีหลักการง่าย ๆ คือ การรักษาหลอดเลือดแดงที่มีการตีบตัน/โป่งพองจากภายในรูของหลอดเลือดแดง โดยการสอดลวด สายสวน และ อุปกรณ์ที่ใช้รักษาผ่านทางรูที่เจาะผ่านทางผิวหนัง หรือ ผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กที่ขาหนีบหรือต้นแขน แทนที่จะต้องผ่านแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ก่อนเข้าสู่ผนังด้านนอกของหลอดเลือด ณ

ตำแหน่งที่เป็นโรคของหลอดเลือดโดยตรง ร่วมกับกระบวนการดังต่อไปนี้
     1. การรักษาโรคหลอดเลือดแดงที่ตีบตันโดยการใช้บอลลูนถ่างขยาย (ดังแสดงไว้ในรูปที่ 1.)เพื่อทำให้ขนาดของรูของหลอดเลือดแดงนั้น ๆ กว้างขึ้น เป็นการเพิ่มเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของแขน ขา และ คอ ที่อยู่ในภาวะขาดเลือด ซึ่งในบางรายอาจจะต้องตามด้วยการใช้ท่อขดลวดค้ำยันเพื่อป้องกันและรักษาการตีบตันซ้ำของหลอดเลือดแดงภายหลังการใช้บอลลูนถ่างขยาย วิธีนี้ช่วยลดระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้เหลือเพียงครึ่งวันหรือหนึ่งคืนภายหลังเสร็จสิ้นการรักษา ในกรณีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แทนที่จะเป็นหนึ่งถึงสองสัปดาห์ภายหลังเสร็จสิ้นการรักษาโดยวิธีมาตรฐานในปัจจุบัน
     2. การรักษาโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง เพื่อเป็นการป้องกัน และ รักษาการแตกของหลอดเลือดแดงนั้น ๆ โดยการสอดท่อขดลวดค้ำยันที่มีผนังหลอดเลือดเทียมหุ้มอยู่ ให้วางอยู่กลางหลอดเลือดแดงที่โป่งพอง เพื่อให้เป็นทางผ่านของกระแสเลือดจากจากหลอดเลือดแดงขนาดปกติที่วางอยู่ส่วนต้นต่อหลอดเลือดแดงที่โป่งพองไปยังหลอดเลือดแดงที่มีขนาดปกติที่วางอยู่ส่วนปลายต่อหลอดเลือดแดงที่โป่งพอง เป็นการป้องกันไม่ให้เลือดจากหลอดเลือดแดงที่มีขนาดปกติไหลเข้าไปในตัวหลอดเลือดแดงที่โป่งพอง อีกทั้งเป็นการลดความดันภายในหลอดเลือดแดงที่โป่งพอง จึงเป็นการป้องกันการแตกของหลอดเลือดแดงดังกล่าว (ดังแสดงไว้ในรูปที่ 2) ตัวอย่างของการรักษาโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองที่ได้ผลดี คือ การรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่ช่องท้องโป่งพอง ซึ่งผู้ป่วยดังกล่าวที่ได้รับการรักษาโดยการสอดท่อขดลวดค้ำยันที่มีผนังหลอดเลือดเทียมหุ้มอยู่  มักต้องการการพักรักษาตัวในหออภิบาลเพียง 1 วัน และ ในโรงพยาบาลให้เหลือเพียง 2-3 วันภายหลังเสร็จสิ้นการรักษา (ในกรณีที่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน) เปรียบเทียบกับการรักษาโดยการผ่าตัดด้วยวิธีมาตรฐานในปัจจุบัน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพักรักษาตัวในหออภิบาล ประมาณ 2-3 วัน และ ในโรงพยาบาล และ 7-10 วัน ภายหลังเสร็จสิ้นการผ่าตัด

เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้วจะกลับมาเป็นปกติหรือไม่ และต้องดูแลรักษาตัวเองอย่างไร
       โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่มักกลับมาเป็นปกติ หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในช่วงเวลาก่อนการรักษาหากไม่พบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น ผู้ป่วยสามารถเดินได้เป็นระยะทางที่ไกลขึ้น แผลขาดเลือดเรื้อรังค่อย ๆ หายจนแผลปิดสนิท สมองทำงานดีขึ้นภายหลังการใช้บอลลูนถ่างขยายหลอดเลือดแดงคอที่ตีบ และหายจากอาการปวดท้อง/ปวดหลังจากก้อนหลอดเลือดแดงใหญ่ช่องท้องโป่งพอง

สิ่งที่ผู้ป่วยต้องดูแลรักษาตัวเอง คือ การปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ได้แก่
1.  การรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างครบถ้วนและต่อเนื่องได้แก่ ยาต้านเกร็ดเลือด ยาลดความดันโลหิต และ ยาลดระดับไขมันในเลือด เพื่อป้องกันการตีบตัน/อุดตันซ้ำของหลอดเลือดแดง
2.  การติดตามการรักษากับแพทย์ผู้ทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือการเกิดซ้ำของโรค
3.  รีบรับการรักษาโรคติดเชื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้ากระแสโลหิต แล้วไปเกาะติดที่ท่อขดลวดค้ำยันที่วางไว้ในหลอดเลือดแดง
 
       ท่านที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โทร. 0 2419 8021 ครับ

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด