10 โฉมหน้าโรคแทรกซ้อน แม่ท้องต้องระวัง ตอนที่ 2

10 โฉมหน้าโรคแทรกซ้อน แม่ท้องต้องระวัง ตอนที่ 2

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา  ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
                                                                                                                 

6. โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
          มี 2 กลุ่มคือ ผู้หญิงบางคนเป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ กับผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งตอนที่ไม่ตั้งครรภ์ความดันไม่สูง แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วความดันกลับสูงได้ กลุ่มหลังเราจะเรียกว่าความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้บ่อย คุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรงและรักษาได้ไม่ดี คนไข้จะชัก อาจจะมีเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้ สมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่าครรภ์เป็นพิษ
          ส่วนลูกในครรภ์ ถ้าแม่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ชัก เด็กมักตายในท้อง หรือถ้าแม่มีอาการนานๆ จะมีผลกับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ เด็กอาจตัวเล็ก แต่ถ้าควบคุมอาการได้ดี ส่วนมากเด็กจะเจริญเติบโตได้ปกติ ไม่มีความพิการใดๆ 
          สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จะพบบ่อยๆ ในแม่บางกลุ่ม เช่น แม่ท้องที่อายุน้อยๆ หรืออายุมากๆ กลุ่มนี้มีปัญหาทั้งคู่ แต่ในคนวัยธรรมดา เช่น 20 กว่าๆ - 30 ปี เจอน้อย และมักเจอในท้องแรก ท้องหลังไม่ค่อยเจอ เจอได้บ่อยในครรภ์แฝด คนเป็นเบาหวาน หรือมีประวัติคนในครอบครัวที่แม่เคยโรคนี้ขณะตั้งครรภ์ จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ หรือเกี่ยวกับอาหารการกิน หรืออาจจะเกี่ยวกับฮอร์โมนที่สร้างจากรก หรือจากตัวเด็กที่ทำให้ความดันขึ้น เพราะสังเกตว่าเมื่อมีการคลอดเสร็จแล้วส่วนใหญ่แม่ก็จะหายเป็นปกติ
          การรักษา ในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่เจอได้น้อย ส่วนมากจะรักษาได้ หมอจะมียาป้องกันการชัก ยาลดความดัน สามารถประคับประคองให้เด็กโตพอ แล้วก็ผ่าตัดคลอด หรือให้ยาเร่งคลอดได้ ที่ควบคุมไม่ได้มีน้อย และสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ส่วนมากมักเกิดจากมาหาหมอตอนที่อาการเป็นมากแล้ว เช่น คนไข้ที่ไม่เคยรู้ตัวว่าเป็น ไม่มาฝากครรภ์เลย มาฝากครรภ์ช้า หรือบางกรณีมาถึงมือหมอก็ชักมาเสียแล้ว
การป้องกัน ควรจะตั้งครรภ์ในอายุที่เหมาะสม รีบไปฝากครรภ์ หมอจะได้ตรวจเจอตั้งแต่แรก และให้การรักษาได้ทันท่วงที 


7.โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
          มีแม่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งเป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนที่จะท้อง กับแม่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งท้องแล้วจึงเป็นเบาหวาน กลุ่มหลังนี้พบว่าการตั้งครรภ์กระตุ้นให้เป็นโรคนี้ เชื่อว่าเด็กหรือรกที่อยู่ในมดลูกสามารถสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ทำให้แม่เป็นเบาหวาน ซึ่งแม่ที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีอาจชักหรือช็อก อาจแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้
          สาเหตุ ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่มักพบในคนที่ท้องแรก แม่อายุมากๆ แม่ที่อ้วนมากๆ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือว่าตัวแม่เองมีโรคอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง ซึ่งเราเรียกพวกนี้ว่ากลุ่มเสี่ยง
          การรักษา ถ้าตรวจพบต้องรีบรักษา ไม่อย่างนั้นจะมีอาการทั้งแม่ทั้งลูก คุณหมอจะแนะนำวิธีการดูแลตนเอง เช่น คุมอาหาร ถ้าคุมอาหารก็เอาไม่อยู่ อาจต้องฉีดอินซูลินช่วย ระหว่างที่ท้องก็ต้องคอยตรวจระดับน้ำตาลแม่อย่างสม่ำเสมอ ต้องคอยเช็คว่ามีปัญหาแทรกซ้อนอื่นไหม
การป้องกัน ถ้าแม่เป็นกลุ่มเสี่ยงเวลาท้องต้องรีบไปฝากครรภ์ ถ้าตรวจเจอจะได้รักษาและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง

8. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
          สาเหตุ เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสาวะได้ไม่ดี มีการคั่งค้างนาน เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
          การรักษา นำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ ว่าติดเชื้ออะไร แล้วก็ให้ยาฆ่าเชื้อ โดยยาที่ไม่มีผลต่อลูกในครรภ์
          การป้องกัน อย่ากลั้นปัสสาวะบ่อยๆ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้มีการขับปัสาวะได้ดี ไม่มีการคั่งค้าง เป็นการชำระล้างทำความสะอาดระบบทางเดินปัสสาวะ

9.โรคโลหิตจาง
          สาเหตุ มี 2 ชนิด คือโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก กับโรคเลือดจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย
          การรักษา โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก แก้ไขได้ไม่ยาก โดยรับทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากๆ เช่น ตับบด ผักใบเขียว หรือกินวิตามินเสริมธาตุเหล็ก ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ แต่ลูกเป็นโรคนี้ และมีอาการมากก็อาจจะทำให้ลูกตายในท้อง หรือลูกบวมน้ำในท้องได้
          การป้องกัน ก่อนตั้งครรภ์ควรมีการตรวจเช็คร่างกายว่ามีโลหิตจางหรือไม่ ถ้าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรรับประทานอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย สามารถตรวจคัดกรองได้ว่าลูกจะเสี่ยงไหม โดยการตรวจเลือดของพ่อแม่ว่าเป็นพาหะหรือไม่

10.ไทรอยด์เป็นพิษ
          ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สร้างสารไทรอกซิน ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายทำงาน ร่างกายอบอุ่น ทำให้กระฉับกระเฉง แต่ในบางคนต่อมนี้ผลิตสารออกมามากกว่าปกติ ทำให้มือสั่น ใจสั่น ร่างกายสูญเสียพลังงานมาก เหงื่อออกมาก หงุดหงิด ก่อนท้องอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่ว่าการตั้งครรภ์ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ แม่ที่เป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่ดีจะทำให้ลูกเกิดปัญหาตัวเล็ก ไม่เข็งแรงได้ คนที่เป็นรุนแรงอาจทำให้แท้ง หรือบางคนแม่อาจจะช็อกเป็นอันตรายได้
          การรักษา หมอจะให้ยาที่ไปกดการทำงานของไทรอกซิน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปกติ การตั้งครรภ์ก็จะเป็นดำเนินไปตามปกติ โดยยาที่ให้ไม่มีผลกับเด็กในครรภ์
          การป้องกัน เนื่องจากโรคนี้ยังไม่รู้สาเหตุ ดังนั้นเวลาตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์ เพื่อที่หมอจะได้ให้ยาคุมระดับอาการ ได้โดยไม่ทำให้การตั้งครรภ์มีปัญหา

          เป็นอย่างไรบ้างคะ อ่านแล้วตกใจกลัวบ้างไหมกับตัวเลขของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งคุณหมอวิทยา ได้อธิบายว่านี่ไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นตัวแทนของทั้งประเทศ เพราะโรงพยาบาลศิริราชเป็นศูนย์กลางใหญ่ ดังนั้นกรณียากๆ จึงอาจมารวมอยู่ที่นี่มาก และในเมืองไทยยังไม่มีการรวบรวมสถิติเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
คุณหมอวิทยา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนจากว่า ความจริงแล้วปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้พบบ่อยๆ เพราะการตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติของคนเรา ส่วนมากแล้วการตั้งครรภ์และการคลอดจะแฮปปี้เอ็นดิ้งถึงร้อยละ 90 แต่จะมีแม่บางกลุ่มเท่านั้นที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาบางอย่าง
          “อยากจะแนะนำคุณแม่ว่า อย่าไปตกอกตกใจอะไรมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เสี่ยง หรือไม่เสี่ยงก็ตาม ทุกอย่างในขณะนี้เราสามารถให้การดูแลรักษาได้ เพียงแต่ว่าอยากจะให้ใส่ใจดูแลตัวเอง ก่อนที่จะตั้งครรภ์ตรวจเช็คร่างกาย ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็ตั้งครรภ์ได้ ถ้ามีปัญหาก็ทำการรักษาให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยมาตั้งครรภ์ มีคนที่ต้องถูกห้ามตั้งครรภ์เลยน้อยมาก ขอเตือนว่าอย่าปล่อยให้มีการตั้งครรภ์โดยที่มารู้ว่ามีปัญหาเมื่อหลังตั้งครรภ์ไปแล้ว เพราะจะทำให้การดูแลรักษายากขึ้นไปอีก เนื่องจากวิธีการรักษาหลายอย่างสำหรับคนท้อง มีวิธีคิดต่างจากการรักษาในคนไม่ท้องอย่างสิ้นเชิง เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกในท้องอีกชีวิตหนึ่ง”
          ดังนั้นคำตอบสุดท้าย ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ วางแผนก่อนตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ที่มีการวางแผน และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์จะทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาใหญ่ๆ ได้น้อยมากค่ะ
 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด