การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ในอนาคต ตอนที่ 1
การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ในอนาคต
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
งานต่างๆ อย่างหนักจึงประกอบอาชีพได้ งานทางด้านการแพทย์จัดเป็นงาน วิชาชีพ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Profession พูดง่ายๆ ก็คือใช้วิชาเป็นอาชีพนั่นเองแหละครับ ถ้าไม่มีความรู้วิชาการทางการแพทย์ก็ประกอบอาชีพนี้ไม่ได้ ไม่เหมือนบางอาชีพที่เรียนจบอะไรมาก็อาจทำได้ เช่น อาชีพค้าขาย ก่อสร้างธุรกิจ หรือนักการเมือง
การประกอบวิชาชีพเป็นแพทย์มีลักษณะแตกต่างจากอาชีพอย่างอื่นอยู่หลายประการ แต่ที่สำคัญก็คืออาชีพนี้เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องการความเจ็บป่วยของเพื่อนมนุษย์ ผู้ประกอบวิชาชีพนี้จึงจำเป็นต้องมีจริยธรรมแห่งวิชาชีพค่อนข้างสูงกว่าอาชีพอื่น
ในอดีตการบริการทางการแพทย์เป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า Profession คือคุณหมอค่อนข้างจะมีอิสระที่จะรักษาโรคหรือดูแลผู้ป่วยอย่างไรก็ได้ที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดและถูกต้องตามหลักวิชาการ หมอในอดีตจึงได้รับการยอมรับในลักษณะของการเคารพและให้เกียรติค่อนข้างสูง ถ้าหมอจะให้การดูแลรักษาผิดพลาดไปบ้างก็มักจะได้รับการให้อภัยจากตัวผู้ป่วยเองหรือจากญาติพี่น้องของผู้ป่วย
ในปัจจุบันงานทางด้านการแพทย์ถูกทำให้เป็นธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากคนส่วนหนึ่งเห็นว่าความเจ็บป่วยของเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องที่แสวงหากำไรได้ โรงพยาบาลเอกชนถูกสร้างขึ้นอย่างมากมาย โรงพยาบาลของรัฐจำนวนไม่น้อยเริ่มเอาระบบแบบเอกชนมาใช้ในโรงพยาบาล เมื่อ Profession เปลี่ยนไปเป็น Trade เช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจึงเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงในการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ก็หนีเรื่องนี้ไม่พ้นหรอกครับ และดูแล้วน่าจะต้องเปลี่ยนแปลงมากกว่าการดูแลผู้ป่วยประเภทอื่นเสียด้วยซ้ำไป สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เกี่ยวกับการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นเพียงการคาดเดาของผมเองนะครับ จะถูกหรือผิดอนาคตคงจะเป็นตัวบอกเอง ผมอยากจะแบ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ก็แล้วกันนะครับ
ซึ่งน่าจะได้แก่การเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาล คุณหมอที่ดูแล และตัวผู้ป่วยหรือคุณแม่เอง
โรงพยาบาลหรือสถานบริการ
โรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนจะมีการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้คุณแม่อยากมาใช้บริการกันมากขึ้น แต่มองดูแล้วผมคิดว่าโรงพยาบาลเอกชนน่าจะทำได้ดีกว่าเพราะคล่องตัวกว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่ผมเคยไปเห็นมา แม้แต่โรงแรมชั้นหนึ่งยังสู้ไม่ได้เลยก็มี บางโรงพยาบาลห้องหรูมากชนิดเห็นแล้วอยากมาป่วยซักเดือนสองเดือนต่อไปการจองห้องพักคงมีประเภทให้เลือกมากขึ้น อาจจะแบ่งเป็นห้องเดอลุกซ์ ซุปเปอร์เดอลุกซ์ โคตรเดอลุกซ์ หรืออภิมหาเดอลุกซ์ ในไม่ช้า
แม้ว่าแพทยสภาจะพยายามควบคุมการโฆษณาเข้มงวดอย่างไรก็ตาม แต่การโฆษณาเกี่ยวกับการดูแลรักษาในแต่ละโรงพยาบาลก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะธุรกิจกับการโฆษณาเป็นของคู่กันอยู่แล้ว เพียงแต่การโฆษณาอาจต้องใช้วิธีแอบแฝงอยู่บ้าง โฆษณาหลายอย่างจะเกินความจริงเพื่อดึงดูดความสนใจ
การให้บริการทางการแพทย์อาจจะแตกต่างกันตามกำลังเงินที่จ่าย ผมเคยเห็นใบโฆษณาของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่ให้บริการรับฝากครรภ์คุณแม่โดยมีการตรวจเลือด หรือตรวจอัลตราซาวนด์แตกต่างกันโดยทำเป็นโปรแกรมให้เลือกตามความต้องการ
เมื่อการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอีกสักระยะ ระบบการให้บริการทางการแพทย์จะเหลือแค่ 2 ระบบ คือระบบอนาถาซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาลของรัฐ และระบบเอกชนซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งผมคิดว่าคงได้เห็นในอีกไม่นานถ้าไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนแปลง ผลดังกล่าวคะเนได้เลยว่า การพัฒนาในภาครัฐจะลดลงเพราะต้องมารับภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วยอนาถาจำนวนมหาศาล และมารตฐานการรักษาก็จะลดตามไปด้วย
คุณหมอ
ในอดีตคนเรียนเก่งและเรียนดีจะเลือกมาเรียนแพทย์กันเกือบทั้งหมด แต่ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ คนเก่งจะหนีไปเรียนอย่างอื่นมากขึ้น เพราะรายได้ไม่น้อยกว่าหรือมากกว่าหมอด้วยซ้ำไป
ในอนาคตแม้ว่าหมอส่วนมากยังอยากจะรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดอยู่ แต่ทุกคนจะทุ่มเทจิตใจน้อยลงกว่าเดิม การดูแลผู้ป่วยจะทำเท่าที่จำเป็นหรือเท่าที่ได้ผลประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่อยากเปลืองตัว ดีไม่ดีถูกฟ้องทั้งๆ ที่ปราถนาดีจะช้ำใจหนักยิ่งขึ้นไปอีก
การรักษาประเภทหมอเป็นคนออกคำสั่งรักษาฝ่ายเดียวจะถูกแทนที่ด้วยการรักษาที่ผู้ป่วยมีส่วนในการตัดสินใจร่วมด้วย หมอจำนวนหนึ่งจะยอมรักษาตามความต้องการของผู้ป่วยแม้ว่าจะดูงี่เง่าหรือขัดหลักวิชาไปบ้าง เช่นผ่าตัดหรือตรวจโดยใช้เครื่องมือราคาแพงบางอย่างทั้งที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม การไม่ขัดใจผู้ป่วยของหมอจะทำสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย หมอได้เงินผู้ป่วยได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
การรับฝากครรภ์และทำคลอดจะดำเนินการกันในลักษณะหมู่คณะมากกว่าการดูแลโดยคุณหมอคนเดียว เวลาฝากครรภ์อาจต้องฝากกับคุณหมอทีเดียว 3 - 4 คน เพราะถ้าหมอคนหนึ่งไม่อยู่ คนอื่นจะได้มาทำคลอดแทนได้ หมอจะได้ไม่เสี่ยงถูกฟ้องร้องถ้ามาทำคลอดไม่ทัน หรือไม่ว่างมาทำคลอดเพราะติดงานอื่น
สูติแพทย์จะเป็นเหมือนสินค้าตัวหนึ่งที่อยู่ในใบโฆษณาของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยเลือกซื้อบริการตามความพอใจ หมอไม่มีสิทธิเลือกคนไข้ แต่คนไข้มีสิทธิ์เลือกหมอหรือเปลี่ยนหมอได้ตามที่ตนเองต้องการ
การให้บริการฝากครรภ์หรือทำคลอดจะเปลี่ยนจากการดูแลรักษาพยาบาล มาเป็นเหมือน การรับจ้างทำของ และอาจจะต้องมีการทำหนังสือสัญญากันเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอะไรให้บ้างและถ้ามีความผิดพลาดในการรักษาจะทำอย่างไร
ในอนาคตอันใกล้หมอส่วนมากจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อประกันการประกอบวิชาชีพเพราะจะเสี่ยงถูกฟ้องร้องมากขึ้น และน่าจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีเหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา และแน่นอนว่ายิ่งจ่ายมาก ค่ารักษาพยาบาลจะต้องแพงตามไปด้วยอย่างแน่นอน
ในปัจจุบันอาชีพหมอเป็นอาชีพเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตลอดเวลา ความปรารถนาดี ความตั้งใจทุ่มเทในการดูแลผู้ป่วยของหมอจะมองเห็นได้ยากขึ้นในสังคมที่ใช้เงินซื้อบริการ หมอที่มีทางออกอาจเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น แต่ไม่น่าจะมาก เพราะกว่าจะเรียนจบก็ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตแล้วการเปลี่ยนอาชีพไม่น่าจะทำได้ง่าย
การฟ้องร้องจะไม่จำกัดอยู่ในคนไข้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะหรอกครับ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยมีฐานะหรือผู้ป่วยอนาถาก็จะฟ้องร้องเหมือนๆกัน เมื่อสังคมเป็นเช่นนี้หมอจะหาที่ทำงานที่ทำน้อยๆ แต่ได้เงินมาก โรงพยาบาลเอกชนดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐ การลาออกของหมอในโรงพยาบาลรัฐไปสู่โรงพยาบาลเอกชนจะ ดำเนินต่อไปทั้งในอนาคตอันใกล้และไกล หมอที่เหลือในโรงพยาบาลรัฐส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์จริงๆ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นหมอที่ไปไหนไม่ได้เพราะไม่มีโรงพยาบาลเอกชนรับ
- มีต่อตอนที่ 2 -