บาดเจ็บจากการคลอด ตอนที่ 2
บาดเจ็บจากการคลอด ตอนที่ 2
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ทำไมถึงเกิดขึ้นได้ ?
การคลอดเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ เวลาทำคลอดคุณหมอเพียงแต่ช่วยทำให้การคลอดดำเนินไปได้ด้วยดีเท่านั้นเอง เช่น ช่วยพยุงศีรษะลูกตอนกำลังเบ่ง ช่วยตัดฝีเย็บ หรือว่าอาจช่วยดึงตัวลูกเพื่อให้การคลอดง่ายขึ้น ซึ่งส่วนมากการคลอดก็จะปกติไม่มีปัญหาอะไร แต่มีคุณแม่จำนวนหนึ่งที่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามนี้ เนื่องจากการคลอดมีปัญหาและทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บจากการคลอดได้
จากประสบการณ์ที่ได้ทำคลอดมาจำนวนไม่น้อย ผมพอจะสรุปได้ง่ายๆว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการคลอดจริงๆ แล้วมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ประการคือ ตัวแม่เอง ตัวลูก และจากตัวคุณหมอที่ทำคลอด บางรายก็เป็นปัญหาเฉพาะจากแม่ หรือลูก หรือจากคุณหมอที่ทำคลอด แต่บางทีมันก็เป็นปัญหาของทั้งแม่ ลูก และหมอรวมกันจนแยกไม่ออกว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากใครอย่างแน่ชัด
ลองมาวิเคราะห์ปัญหาของผู้ป่วยตัวอย่างแต่ละราย จะทำให้เราเข้าใจปัญหามากขึ้นครับ
รายที่ 1
คุณตามใจ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือลูกมีเลือดออกใต้หนังศีรษะ และคุณแม่ตกเลือดหลังคลอดจนต้องให้เลือด ถ้าเราวิเคราะห์ดูจะพบว่าปัญหาน่าจะเกิดจากตัวลูกที่ค่อนข้างโตทำให้คลอดยาก ต้องใช้เวลาในการเบ่งคลอดค่อนข้างนาน โดยปกติท้องแรกควรจะใช้เวลาเบ่งประมาณ 1ชั่วโมงกว่าก็ควรจะคลอดแล้วครับ แต่นี่เบ่งตั้งนานก็ไม่ออก คุณตามใจอยากจะคลอดเองทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะได้รับข้อมูลมาว่าคลอดทางช่องคลอดดีกว่าผ่าตัดคลอด ส่วนตัวคุณหมอที่ดูแลประเมินดูแล้วคิดว่าเด็กตัวใหญ่พอสมควรแต่ก็ไม่ถึงกับใหญ่มากจนถึงคลอดเองไม่ได้ จึงยินยอมให้คลอดทางช่องคลอด การตัดสินใจของคุณหมอในกรณีของคุณตามใจนี้ถือว่าไม่ง่ายสำหรับตัวคุณหมอเอง เนื่องจากขนาดเด็กที่คะเนได้มันก้ำกึ่งว่าจะคลอดได้หรือไม่ได้ เหมือนกับการดึงแหวนที่ใส่ในนิ้วคับๆ บางทีดูแล้วคิดว่าน่าจึงออกได้ง่ายแต่เวลาดึงจริงๆ ไม่ง่ายอย่างที่คิด นอกจากนี้คุณหมอยังอาจถูกบีบบังคับความคิดจากการที่คุณตามใจยืนกรานอยากจะคลอดทางช่องคลอดอีกด้วย คุณหมอจึงต้องพยายามให้ลองคลอดดูซึ่งในที่สุดก็คลอดได้ แต่เป็นการคลอดที่ใช้เครื่อง มือในการดึง ในรายนี้คงดึงยากเพราะช่องทางคลอดคงคับมาก ผลจึงลงเอยด้วยเลือดออกใต้หนังศรีษะของลูก โชคดีที่รายนี้ลูกปลอดภัย แต่บางรายที่รุนแรงอาจจะเกิดเลือดออกในสมองจนลูกเสียชีวิตได้เหมือนกัน
ในรายนี้ถ้าคุณหมอตัดสินใจผ่าตัดคลอดเสียตั้งแต่แรกก็น่าจะปลอดภัยกว่า การตัดสินใจพลาดครั้งนี้น่าจะเพราะการคะเนน้ำหนักลูกที่ผิดพลาดไปเล็กน้อย ร่วมกับน่าจะมาจากอิทธิผลของแม่ที่อยากจะคลอดเอง
ผู้ป่วยรายนี้เป็นตัวอย่างที่พอจะเตือนคุณแม่ได้ว่าการยืนยันและตัดสินใจเลือกวิธีคลอดโดยอาศัยความต้องการอย่างเดียวโดยไม่ยึดหลักเหตุผลทางวิชาการ ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียได้
รายที่ 2
คุณละเลย รายนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเลยว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานจากการตั้งครรภ์ ลูกในท้องมักจะตัวใหญ่ และตำแหน่งที่จะมีเนื้อหรือไขมันอยู่เยอะๆ ก็คือบริเวณไหล่เสียด้วย เด็กที่ตัวใหญ่ไม่ได้หมายความว่าจะคลอดไม่ได้ บางคนก็คลอดได้บางคนก็คลอดไม่ได้ มีเด็กหนัก 4,000 กรัมที่คลอดทางช่องคลอดสบายๆ ก็มี ขณะที่เด็ก 3,000 กรัมบางคนต้องผ่าคลอดก็มี
ในรายนี้เท่าที่ดูการคลอดดำเนินการมาค่อนข้างดีไม่มีปัญหาเลย คุณหมอจึงคิดว่าน่าจะคลอดได้ ซึ่งก็คลอดได้จริง แต่ตอนที่การคลอดมาติดขัดอยู่ที่ไหล่นั้นเป็นเรื่องที่คาดคะเนยากมากว่าคุณแม่คนไหนคลอดแล้วจะติดไหล่หรือไม่ติด วงการแพทย์พยายามศึกษากันมานานแล้วก็ยังสรุปไม่ได้เสียทีว่ารายใดน่าจะคลอดติดไหล่หรือไม่ติด
ถ้าเป็นอย่างนั้น เอาคุณแม่ที่เป็นเบาหวานและคิดว่าเด็กตัวใหญ่ไปผ่าคลอดให้หมดเลยดีไหมจะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการคลอดติดไหล่ที่ว่า ฟังดูก็น่าจะดีนะครับ แต่ผมอยากจะบอกว่าไม่ค่อยคุ้มหรอกครับ เพราะปัญหาการคลอดติดไหล่เจอไม่มากนักหรอกครับ นานๆจะเจอเสียที การผ่าคลอดอาจแก้ปัญหาติดไหล่ได้ แต่การผ่าคลอดในคุณแม่ที่เป็นเบาหวานก็เสี่ยงอันตรายไม่น้อยกว่าการติดไหล่ ความเสี่ยงบางอย่างอาจทำให้เสียชีวิตเลยก็มี เช่น เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง เสียเลือด หรือจากการดมยาสลบ เป็นต้น การผ่าคลอดมากๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดไม่บ่อย ไม่น่าจะคุ้มครับ
อย่างไรก็ตามในคุณแม่รายนี้ถ้าควบคุมน้ำหนักให้ดีๆ ไม่ให้ลูกตัวใหญ่จนเกินไปก็อาจจะแก้ไขปัญหานี้ได้ครับ ส่วนการทำคลอดของคุณหมอ ผมคิดว่าหมอได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้วครับ
รายที่ 3
คุณบังเอิญ ปัญหาที่ประสบคือการที่แขนของลูกหักจากการคลอด การคลอดลูกที่เอาก้นออกมาก่อนทางช่องคลอดเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายต่อลูกไม่น้อยเนื่องจากเวลาคลอดก้นซึ่งนุ่มอาจจะคลอดออกมาได้ง่ายแม้ว่าปากมดลูกจะยังเปิดไม่หมดก็ตาม แต่ศีรษะที่คลอดตามออกมาอาจจะคลอดออกมาไม่ได้ถ้าปากมดลูกเปิดไม่หมดเพราะศีรษะค่อนข้างแข็งไม่สามารถถูกบีบให้ออกมาได้ง่ายๆเหมือนก้น เด็กที่คลอดโดยเอาก้นออกจึงมีโอกาสหัวติดคาที่ปากมดลูกตายได้ง่ายจากการขาดออกซิเจน
ในคุณแม่รายนี้ยิ่งยากหนักเข้าไปอีกเพราะนอกจากจะเอาก้นออกแล้ว ยังเอาแขนมาพาดไว้ข้างหลังอีกต่างหาก การทำคลอดในคุณแม่รายนี้คุณหมอที่ทำคลอดต้องมีทั้งฝีมือและประสบการณ์อย่างสูงจึงจะทำคลอดได้อย่างปลอดภัย แต่ก็มีไม่น้อยแม้จะมีประสบการณ์สูงก็ยังเกิดปัญหาได้ เนื่องจากเด็กอาจจะตัวใหญ่มาก หรืออยู่ในท่าที่ผิดปกติ
การทำคลอดในผู้ป่วยรายนี้ต้องถือว่าทำในสถานการณ์ที่ค่อนข้างฉุกละหุก เพราะเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลก็ใกล้จะคลอดแล้ว ทำให้ไม่มีเวลาเตรียมคลอดที่ดี รายนี้ถ้าผ่าตัดคลอดเสียตั้งแต่ยังไม่เจ็บท้องก็อาจจะแก้ปัญหานี้ได้
ปัญหาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยรายนี้น่าจะมาจากสาเหตุรวมๆ กัน ทั้งในแง่ของคุณแม่ที่มีการเตรียมตัวคลอดที่ไม่ดี คุณหมอที่ทำคลอดซึ่งอาจจะยังมีประสบการณ์ไม่มาก
รายที่ 4
คุณบอบบาง คุณแม่รายนี้หมอต้องรีบผ่าตัดเอาลูกออกโดยเร็วเพราะหัวใจลูกเต้นไม่ค่อยดีแล้ว กลัวว่าจะเสียชีวิตได้ง่ายถ้าทิ้งไว้นาน ทีนี้ในการผ่าตัดที่รีบๆ รวมทั้งผนังมดลูกของคุณแม่ก็ค่อนข้างบางด้วย คุณหมออาจลงมีดที่มดลูกอย่างรีบร้อนทำให้กรีดลึกไปหน่อยจนไปโดนใบหน้าของลูกแทนที่จะโดนแค่ผนังมดลูก
ปัญหานี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์และสติของตัวคุณหมอที่ทำผ่าตัดครับ
สถิติไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์
จากตัวอย่างที่ยกมา ผมอยากเรียนให้ทราบว่าปัญหาที่เกิดทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดเป็นประจำทุกวันหรอกครับ นานๆ จะเกิดขึ้นซักที และมีไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ แต่เกิดขึ้นทีไรมักจะเป็นเรื่องราวใหญ่โต คือจะมีการฟ้องร้องกันเสมอ เพราะความคาดหวังในเรื่องการคลอดของคุณพ่อคุณแม่มีเต็มร้อย ไม่มีเผื่อ เมื่อเป็นอย่างนี้คนที่จะเป็นเป้าในการรับทุกข์ก็คือคุณหมอ เพราะคุณหมอเป็นผู้ทำคลอด จะเห็นในข่าวการฟ้องร้องเสมอว่าหมอทำคลอดไม่ดี แต่จริงๆ แล้วถ้าดูให้ดีๆ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหมอคนเดียว แต่มันรวมๆ กันทั้งตัวแม่ ตัวลูก และตัวคุณหมอ เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้เข้าใจตรงกันว่าคงไม่มีหมอคนไหนอยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นเพราะทุกคนก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น พ่อแม่ก็ทุกข์ในการที่ได้ลูกที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรงอย่างที่ตัวเองต้องการ หมอก็ทุกข์ที่ไม่สามารถทำคลอดได้ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งสาเหตุแห่งทุกข์ก็ไม่ได้เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การที่มาโทษกันมาฟ้องร้องกันจึงรังแต่จะทำให้มันทุกข์มากขึ้นไปอีก ยกเว้นแต่ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยประมาท เลิ่นเล่อ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ แต่ว่าก่อนที่จะตัดสินใจอะไรทั้งคุณหมอและคนไข้ก็ควรคุยกันให้ดีเสียก่อนจะดีกว่าครับ