บาดเจ็บจากการคลอด ตอนที่ 1

บาดเจ็บจากการคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.วิทยา  ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

          ในการคลอดบุตร ไม่ว่าจะคลอดที่ไหน คลอดอย่างไร และไม่ว่าหมอจะมีฝีมือดีอย่างไร เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ประสบการณ์หมอสูติครั้งนี้จึงอยากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบาดเจ็บหรืออันตรายจากการคลอดให้คุณแม่ได้รับทราบไว้เป็นข้อคิดโดยผ่านทางคุณแม่ตัวอย่าง 4 รายต่อไปนี้

รายที่ 1
          คุณตามใจ อายุ 28 ปี ตั้งครรภ์แรก ฝากครรภ์กับคุณหมอที่โรงพยาบาลเอกชน คุณตามใจมารับการตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอซึ่งคุณหมอตรวจดูแล้วก็ไม่พบว่ามีปัญหาผิดปกติอะไร จนกระทั่งถึงช่วงใกล้คลอดคุณตามใจก็บอกคุณหมอว่าอยากจะคลอดเอง เมื่อคุณหมอตรวจครรภ์ดูพบว่าเด็กตัวค่อนข้างจะใหญ่แต่คิดว่าน่าจะคลอดทางช่องคลอดได้อย่างที่คุณตามใจต้องการ 
          เมื่อถึงเวลาเจ็บครรภ์คลอดคุณหมอได้ปล่อยให้การคลอดดำเนินไปตามปกติ จนกระทั้งเมื่อปากมดลูกเปิดหมดคุณตามใจก็เริ่มเบ่ง แต่คุณหมอสังเกตดูจากการตรวจภายในเป็นระยะ พบว่าหัวเด็กไม่ค่อยเคลื่อนต่ำลงมา และยังพบว่าเด็กตัวค่อนข้างจะตัวใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของเชิงกราน คะเนว่าน่าจะคลอดได้แต่อาจต้องเบ่งคลอดนานและอาจต้องใช้เครื่องมือ เช่นคีม หรือเครื่องดูดสูญญากาศ ช่วยคลอด  คุณหมอได้แจ้งให้คุณตามใจทราบถึงสิ่งที่ตรวจพบ  และแนะนำว่าถ้าผ่าตัดคลอดจะปลอดภัยกว่า ภายหลังฟังคำแนะนำคุณตามใจก็ยืนยันว่าอยากจะขอลองคลอดเองก่อน ถ้าไม่ไหวจริงๆค่อยผ่า
          คุณตามใจเบ่งคลอดอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงแต่ลูกยังไม่คลอด คุณหมอจึงตัดสินใจใช้เครื่องดูดสูญญากาศดึงศีรษะของลูกออกมา ภายหลังคลอดพบว่าลูกมีเลือดออกใต้หนังศีรษะ  ส่วนคุณตามใจมีการตกเลือดหลังคลอดจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดีและต้องให้เลือด ถุง ทั้ง 2 คนต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลนาน3 สัปดาห์จึงกลับบ้านได้
 
รายที่ 2
          คุณละเลยตั้งครรภ์แรก ฝากครรภ์กับคุณหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง คุณหมอตรวจพบว่าค่อนข้างอ้วนและถามประวัติในครอบครัวพบว่าคุณแม่ของคุณละเลยเป็นโรคเบาหวานและกำลังรักษาอยู่ จากข้อมูลดังกล่าวบ่งบอกว่าคุณละเลยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จึงได้ตรวจเลือดคุณละเลยและพบว่าคุณละเลยเป็นโรค เบาหวานจากการตั้งครรภ์จริงตามที่คิดแต่ความรุนแรงของโรคไม่มากนักเนื่องจากระดับน้ำตาลไม่สูงมาก คุณหมอได้ให้การรักษาโดยให้คุณละเลยควบคุมการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลสูงอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกในครรภ์ตัวใหญ่เกินไป เพราะจะคลอดยากและมีปัญหาตามมาอีกหลายประการ เช่นลูกอาจจะชักหลังคลอด หรือตัวเหลืองได้
          คุณละเลยทำตามคำแนะนำของคุณหมอไม่ค่อยได้เพราะรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา และมักจะรับประทานอาหารนอกบ้าน นอกจากนี้ยังไม่ค่อยมาฝากครรภ์ตามนัดด้วยเพราะงานยุ่ง ประมาณ 2 เดือนก่อนคลอดภายหลังการตรวจครรภ์คุณหมอพบว่าลูกตัวค่อนข้างใหญ่ จึงแนะนำให้ตั้งใจคุมอาหารและนัดมาตรวจซ้ำถี่ขึ้นเพื่อประเมินการเจริญ เติบโตของลูกให้ละเอียดขึ้น  แต่คุณละเลยก็ยังคงมาตรวจครรภ์ตามนัดบ้างไม่มาบ้าง
          ขณะตั้งครรภ์ประมาณ 38 สัปดาห์คุณละเลยเจ็บท้องและมีน้ำเดินจึงไปโรงพยาบาล เมื่อคุณหมอตรวจภายในก็พบว่าปากมดลูกเปิดประมาณ 4 เซนติเมตรซึ่งจัดว่าเปิดค่อนข้างมาก ตรวจมดลูกพบว่าหดรัดตัวดี คุณหมอจึงปล่อยให้การเจ็บครรภ์คลอดดำเนินต่อไปและคอยตรวจติดตามเป็นระยะๆ
3 ชั่วโมงต่อมา คุณละเลยปวดท้องอยากเบ่ง  คุณหมอตรวจภายในพบว่าลูกเคลื่อนต่ำลงมาได้ดี คุณละเลยเบ่งต่อไปเรื่อยๆ จนศีรษะลูกคลอดออกมาได้ตามปกติ คุณหมอได้ช่วยดึงไหล่ของลูกเพื่อให้คลอดเป็นลำดับต่อไป ปรากฏว่าแม้จะใช้แรงดึงอย่างมาก ไหล่ของลูกก็ไม่ยอมคลอดแต่ติดแน่นอยู่ในช่องคลอดนั่นแหละ คุณหมอและพยาบาลที่อยู่ในห้องคลอดต้องมาช่วยกันทำคลอดไหล่ จนกระทั่งในที่สุดก็สามารถคลอดลูกออกมาได้
          ภายหลังคลอดคุณหมอตรวจพบว่ากระดูกไหปลาร้าข้างซ้ายของลูกหัก ส่วนคุณแม่ตรวจพบว่าช่องคลอดฉีกขาดค่อนข้างมากร่วมกับการเสียเลือดค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน คุณละเลยต้องถูกรับไว้ดูแลในโรงพยาบาลนาน 2 สัปดาห์ ส่วนลูกก็ต้องนำไปให้คุณหมอศัลยกรรมกระดูกดูแล ซึ่งคุณหมอได้เข้าเฝือกให้แล้วนัดมาดูแลต่อในภายหลัง
 
รายที่ 3
          คุณบังเอิญ อายุ 30 ปี ตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ครั้งแรกตั้งครรภ์ครบกำหนดและคลอดตามปกติ ส่วนครรภ์ที่ 2 ไปฝากครรภ์แค่ครั้งสองครั้งแล้วก็ไม่ได้ไป เนื่องจากงานยุ่งมาก
คุณบังเอิญมาโรงพยาบาลก็เมื่อเจ็บครรภ์แล้ว ขณะมาถึงโรงพยาบาลคุณหมอได้ทำการตรวจภายในพบว่าปากมดลูกเปิด 8 เซนติเมตรซึ่งถือว่าเป็นการเปิดที่มากและใกล้จะคลอดอยู่แล้ว  และยังพบว่าลูกในท้องเอาก้นลงมาอยู่ข้างล่างแทนที่จะเอาศีรษะออกมาก่อนเหมือนรายอื่น คุณหมอคะเนว่าคุณบังเอิญน่าจะคลอดในเวลาอีกไม่นานไม่น่าจะถึงครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำไป ถ้าจะนำคุณบังเอิญไปผ่าคลอดก็คงจะไม่ทัน จึงตัดสินใจทำคลอดฉุกเฉินโดยให้คลอดทางช่องคลอด
          ประมาณ 15 นาทีต่อมา คุณบังเอิญก็เบ่งคลอดลูกออกมา คุณหมอได้ช่วยคลอดโดยดึงตัวเด็กออกมา ซึ่งพบว่าขาและก้นคลอดออกมาได้ตามปกติ แต่ขณะจะคลอดไหล่และศีรษะของลูก คุณหมอพบว่าแขนของลูกไขว้อยู่ทางด้านหลังไม่ได้อยู่ทางด้านหน้าเหมือนปกติ คุณหมอได้หมุนไหล่และศรีษะของลูกเพื่อให้แขนกลับไปอยู่ในสภาพปกติแล้วจึงทำคลอดศีรษะออกมา
          ภายหลังคลอดพบว่ากระดูกต้นแขนขวาของลูกหัก และได้รับการดูแลรักษาอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ส่วนคุณแม่ปลอดภัยดี

รายที่ 4 
          คุณบอบบาง อายุ 35 ปี ตั้งครรภ์แรก มาฝากครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ตลอดเวลาที่ฝากครรภ์พบว่าทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ขณะอายุครรภ์ประมาณ 38 สัปดาห์ คุณบอบบางเจ็บท้องร่วมกับมีน้ำเดินจึงมาโรงพยาบาล คุณหมอตรวจดูแล้วพบว่าปากมดลูกเปิดประมาณ 3 เซนติเมตรและถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว  จึงรอให้การคลอดดำเนินต่อไป
          ในระหว่างที่รอคลอด คุณหมอได้ทำการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจลูกเป็นระยะๆ  ประมาณ 2 ชั่วโมงต่อมา คุณหมอตรวจพบว่าหัวใจของลูกเต้นช้ากว่าปกติและน้ำคร่ำเริ่มมีสีออกเขียวๆ ซึ่งน่าจะเกิดจากลูกมีภาวะขาดออกซิเจนเกิดขึ้น คุณหมอได้พิจารณาแล้วเห็นว่าถ้ารอให้คลอดเองอาจจะเป็นอันตรายต่อลูกได้ จึงตัดสินใจผ่าตัดคลอด
          จากการผ่าตัดคลอดพบว่าผนังมดลูกค่อนข้างบางมาก คุณหมอได้ลงมีดผ่าตัดที่มดลูกแล้วก็ทำการควักลูกออกอย่างรวดเร็ว เพื่อรีบนำมาแก้ไขภาวะขาดออกซิเจนดังกล่าว ภายหลังคลอดตรวจพบรอยมีดบาดที่บริเวณแก้มข้างซ้ายของลูกเป็นแผลลึกไม่มากนัก จึงทำแผลให้  หลังคลอดลูกและแม่ปลอดภัยดี ตรวจแผลที่แก้มลูกในภายหลังพบว่าหายดี ไม่มีแผลเป็น
          เมื่อพูดถึงการคลอดลูก คุณพ่อคุณแม่ร้อยทั้งร้อยต่างก็อยากให้ลูกของตัวเองคลอดออกมาสมบูรณ์แข็งแรงกันทุกคนแหละครับ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่การคลอดจะลงเอยอย่างสมบูรญ์แบบทุกราย ชีวิตประจำวันของเราบางครั้งยังมีหกล้ม มีดบาด เวลาเดินทางยังมีอุบัติเหตุรถชน เครื่องบินตก ให้เห็นเลย การคลอดก็ไม่มีข้อยกเว้น ต่อให้เลือกโรงพยาบาลที่คิดว่าดีที่สุด เลือกหมอที่มีชื่อเสียงหรือไว้ใจที่สุด เลือกวิธีคลอดที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด คุณแม่และลูกน้อยก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บจากการคลอดอยู่ดี ดัง  ตัวอย่างที่ได้นำเสนอทั้ง 4 ราย
 
บาดเจ็บจากการคลอดต่อลูกคืออะไร?
          บาดเจ็บจากการคลอดต่อลูก ก็คือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับทารกซึ่งเป็นผลจากการคลอดโดยตรง ไม่ได้มีผลมาจากโรคภัยไข้เจ็บของแม่ ภาวะโภชนาการหรือจากการบำรุงร่างกายขณะตั้งครรภ์ใดๆ ทั้งสิ้น
 
การบาดเจ็บจากการคลอด แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับง่ายๆ คือ
          1. บาดเจ็บเล็กน้อย เช่น มีรอยถลอกที่ใบหน้า รอยช้ำที่แก้ม
          2. บาดเจ็บปานกลาง เช่น มีจ้ำเลือดที่แขนหรือขา 
          3. บาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหัก อาจจะเป็นกระดูกไหปลาร้าหัก กระดูกต้นคอหัก
          - มีต่อตอนที่ 2 -

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด