ท่อหลอดลมคอ
ท่อหลอดลมคอ
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ท่อหลอดลมคอคืออะไร
ท่อหลอดลมคอคือท่อที่ใส่ภายหลังการเจาะคอ ซึ่งเป็นการผ่าตัดเข้าหลอดลม โดยใส่ผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อคอ เพื่อให้อากาศผ่านเข้าสู่ปอด ในรายที่อากาศไม่สามารถผ่านจากจมูกไปสู่ปอดได้
ลักษณะเป็นท่อโค้ง 2 ชั้น สวมซ้อนกันอยู่ สามารถถอดออกจากกันได้ เรียกชื่อว่า
1 ท่อหลอดลมชั้นนอก
2 ท่อหลอดลมชั้นใน
ชนิดของท่อหลอดลมมี 4 ชนิด
- แบบพลาสติก
- แบบโลหะเงิน
- แบบโลหะผสม
- แบบซิลิโคน
ประโยชน์ของท่อหลอดลมคอ
- ช่วยให้หายใจเอาอากาศเข้าหลอดลมสู่ปอดได้
- สามารถไอหรือดูดเสมหะออกจากลำคอได้
- มีท่อชั้นในสามารถถอดล้างเสมหะออกได้ ป้องกันการอุดตันเมื่อต้องใส่ระยะยาว
จะใส่ท่อหลอดลมคอเมื่อใด แพทย์จะเจาะคอช่วยผู้ป่วย โดยใส่ท่อหลอดลมคอ เมื่อ
- มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน
- ผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจทางปากเป็นเวลานาน
- ดูดเสมหะ ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในปอด หรือผู้ป่วยที่มีเสมหะคั่งมากๆที่ไม่สามารถไอออกได้ดี
- ก่อนทำผ่าตัดบริเวณศีรษะและคอ
การดูแลท่อหลอดลมคอ
การทำความสะอาดท่อหลอดลมคอ
- ทำความสะอาดแผลเจาะคอ และเปลี่ยนผ้าก๊อสทุกวัน อย่างน้อยวันละ1- 2 ครั้ง หรือเมื่อเปียกแฉะ ในกรณีที่เป็นท่อปีกนิ่มอาจไม่ต้องใส่ผ้าก๊อสรองก็ได้
- ทำความสะอาดท่อหลอดลมคอชั้นใน (inner tube) อย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง ขึ้นกับว่าเสมหะมากหรือเหนียวหรือไม่
วิธีทำความสะอาดท่อหลอดลมชั้นใน (inner tube)
- หมุนล๊อคท่อหลอดลมคอ แล้วถอดท่อหลอดลมคอชั้นในออก
- เปิดน้ำให้ไหลผ่านภายในท่อหลอดลมคอ
- ใช้แปรงหรือผ้าดันเสมหะออก
- ใช้แปรง หรือผ้าชุบน้ำยาล้างจาน หรือสบู่ ถูไปมาทั้งภายในและภายนอก
- ท่อโลหะ ล้างน้ำให้สะอาด ต้มให้เดือดนาน 20 นาที แล้วนำขึ้นมาวางไว้ให้หายร้อน
- ท่อพลาสติก ล้างแล้วแช่ใน 0.5% ไฮโปคลอไรด์ (virkon) 30 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดเพื่อล้างสารเคมีออกไป
- ก่อนนำไปใช้ ต้องสลัดท่อให้แห้งสนิท ไม่มีหยดน้ำค้างอยู่ในท่อเลย
- ใส่ท่อหลอดลมชั้นในและหมุนล๊อคท่อหลอดลมคอให้เรียบร้อย ป้องกันการหลุด
ขั้นตอนการทำความสะอาดแผลท่อหลอดลมคอ( tracheostoma)
- ดึงผ้าก๊อสที่รองใต้ท่อหลอดลมคอออก
- ล้างมือให้สะอาด
- ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์หรือน้ำเกลือล้างแผล เช็ดผิวหนังรอบๆท่อหลอดลมคอ
- ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุก เช็ดใต้ท่อหลอดลมคอทั้งด้านบนและด้านล่างให้สะอาด
- สอดผ้าก๊อสที่ตัดเป็นรูปตัว Y รองใต้ท่อหลอดลมคอ
- ปิดพลาสเตอร์บริเวณชายผ้าก๊อสด้านล่าง
ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่ใส่ท่อหลอดลมคอ
1. การเปลี่ยนเชือกผูกท่อหลอดลมเอง ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ท่อชั้นนอกหลุด ถ้าไม่แน่ใจควรมาเปลี่ยนที่โรงพยาบาล
2. ถ้าท่อหลอดลมคอชั้นนอกหลุด หรีอท่อหลอดลมคอชั้นในหาย ให้มาพบแพทย์ทันที
3. ระวังน้ำเข้าหลอดลมโดย
ห้ามลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อไม่ให้น้ำเข้าท่อหลอดลมคอซึ่งน้ำจะเข้าไปในปอดได้
ไม่ควรเล่นสาดน้ำกัน
หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเรือ
หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเวลาฝนตก
ระวังในขณะ อาบน้ำ สระผม อย่าให้น้ำเข้าไปในหลอดลมคอ
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่ใส่หลอดลมคอ
- ดื่มน้ำมากๆ
- ดูแลร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นหรือแห้งจัด
- ไม่คลุกคลีกับคนที่เป็นหวัดหรืออยู่ในที่ชุมชนแออัด
- ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าท่อหลอดลม โดยใช้ผ้าบางๆ หรือผ้าเช็ดหน้าปิดคอไว้เมื่อออกจากบ้าน
- ไม่ดูดเสมหะภายหลังรับประทานอาหารทันที เพื่อป้องกันการอาเจียน
- สามารถออกเสียงหรือพูดโดยการใช้นิ้วปิดปากท่อไว้ขณะพูด
อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์
- ท่อหลอดลมคอหลุด ท่อชั้นในหาย หรือใส่เข้าไม่ได้
- หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
- มีการติดเชื้อที่แผลเจาะคอเช่น ปวด บวม แดง มีหนอง
- มีเลือดออกจากท่อหลอดลม หรือรอบๆท่อ
- มีการติดเชื้อในปอดหรือหลอดลม เช่น ไอมาก เสมหะข้น และมีไข้ร่วมด้วย
ไขข้อข้องใจบางประการ
การผ่าตัดเจาะคอใส่ท่อหลอดลมคอนั้น มักพบว่าผู้ป่วยและญาติมีข้อสงสัยมากมายหลายประการ
1. ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้หรือไม่
ตอบ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เพราะท่อหลอดลมคอและหลอดอาหารแยกกันคนละทาง จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องระมัดระวังไม่ให้อาหารหรือน้ำกระเด็นหลุดลงไป โดยใช้ผ้าบางๆ ที่อากาศสามารถผ่านได้ มาคลุมปิดปากท่อไว้ ในขณะรับประทานอาหารเท่านั้น
ในเด็กเล็กขณะดูดนม ควรผูกผ้ากันเปื้อนไว้ใต้คาง เพื่อป้องกันการไหลของนมลงหลอดลมคอ
2. ผู้ป่วยที่ใส่ท่อหลอดลมคอจะพูดได้หรือไม่
ตอบ ผู้ป่วยสามารถพูดได้ แต่ไม่สามารถพูดคุยตามปกติได้นาน หรือเป็นประโยค
ยาวๆ เพราะต้องใช้นิ้วมือปิดปากท่อไว้ขณะพูด และต้องเปิดท่อบ้างเพื่อรับอากาศหายใจ หากหมดสาเหตุของโรคแล้ว สามารถหายใจได้ทางจมูก ก็จะพูดได้ตามปกติ ยกเว้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งกล่องเสียง ที่มีการตัดกล่องเสียงออก หรือผู้ป่วยที่หลอดลมส่วนบนตีบสนิท
3. หลังใส่ท่อหลอดลมคอแล้ว สามารถอาบน้ำ, ว่ายน้ำได้หรือไม่
ตอบ ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำกระเซ็นเข้าหลอดลมคอ จึงต้อง
- งดอาบน้ำด้วยฝักบัว
- งดอาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง
- งดลงสระว่ายน้ำ
หากน้ำเข้าหลอดลมคอ ผู้ป่วยจะสำลักน้ำและมีอาการเหมือนคนตกน้ำทุกประการ
และในเด็กเล็ก ถ้าจะอาบน้ำในอ่าง ควรใส่น้ำแต่น้อย และไม่เอนตัวเด็กลงไปจนน้ำท่วมเข้าหลอดลมคอ เพราะน้ำจะเข้าไปท่วมปอดและเสียชีวิตได้
4. เมื่อไรจึงจะเอาท่อหลอดลมคอออกได้
ตอบ แพทย์จะถอดออกหลังจากรักษาสาเหตุของโรคที่เป็นแล้ว และประการสำคัญคือผู้ป่วยสามารถหายใจได้ทางจมูกสะดวกดี