การใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Volumetric Tissue Reduction: RFVTR) ในการรักษาอาการนอนกรน

การใช้คลื่นความถี่วิทยุ
(
Radiofrequency Volumetric Tissue Reduction: RFVTR)

ในการรักษาอาการนอนกรน

 

รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน

สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้

    ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา 
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

เป็นการผ่าตัดที่นิยมทำในการรักษาอาการนอนกรน (snoring) และ/ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea)  โดยเป็นการนำเข็มพิเศษ เข้าไปในเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เพดานอ่อน (soft palate),  ต่อมทอนซิล (tonsils),  โคนลิ้น (tongue base) เพื่อส่งคลื่นความถี่สูง (radiofrequency) ที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนให้แก่เนื้อเยื่อรอบๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียสภาพ และการตายของเนื้อเยื่อ (coagulation necrosis) ขึ้นภายใน 1-2 เดือน  หลังจากนั้นจะเกิดเนื้อเยื่อพังผืด  เกิดการหด และลดปริมาตรของเนื้อเยื่อ (volume contraction)   วิธีนี้สามารถลดขนาดเนื้อเยื่อต่างๆ ที่อุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น  อาการนอนกรนและ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ น้อยลง  ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น   วิธีนี้สามารถใช้เป็นการรักษาเสริมกับการผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานอ่อน, ลิ้นไก่, ผนังคอหอยให้ตึงและกระชับขึ้น (uvulopalatopharyngoplasty: UPPP) ภายใต้การดมยาสลบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา  นอกจากนั้นอาจใช้ คลื่นความถี่วิทยุผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่หย่อนยาน บริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนออกทีละน้อยได้ด้วย (radiofrequency assisted uvulopalatoplasty: RAUP) ในรายที่อาการนอนกรนมีสาเหตุมาจากการอุดกั้นระดับเพดานอ่อนและลิ้นไก่ (uvula)
       
ปริมาณความร้อนที่เนื้อเยื่อได้รับจะต่ำกว่าการใช้เลเซอร์   ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบๆ น้อยกว่า  ดังนั้นทำให้อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัด น้อยกว่าการใช้เลเซอร์  ได้มีการศึกษาผลของคลื่นความถี่วิทยุ ในรายที่อาการนอนกรนมีสาเหตุมาจากการอุดกั้นระดับเพดานอ่อน พบว่ามีการลดลงของอาการนอนกรน และอาการง่วงผิดปกติในเวลากลางวัน  การศึกษาเปรียบเทียบอาการปวดหลังทำการผ่าตัดรักษาอาการนอนกรนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ, เลเซอร์ (laser assisted uvulopalatoplasty: LAUP) และการผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานอ่อน, ลิ้นไก่, ผนังคอหอยให้ตึงและกระชับขึ้น (UPPP) พบว่าอาการปวดหลังทำคลื่นความถี่วิทยุ น้อยกว่าการผ่าตัดชนิดอื่นชัดเจน     
       
วิธีนี้สามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือภายใต้การดมยาสลบ  ถ้าทำโดยใช้ยาชาเฉพาะที่  ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล  ผลของการลดขนาดของเนื้อเยื่อดังกล่าวจะเห็นชัดเจนภายใน 4-6 สัปดาห์  อาจทำซ้ำได้อีก ถ้าผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ  วิธีนี้ง่ายในการทำผลข้างเคียงน้อย และได้ผลดี  การผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดผ่านทางช่องปาก  แพทย์จะใส่เครื่องมือทางช่องปาก  ผู้ป่วยจึงไม่มีบาดแผลใดๆ ที่มองเห็นได้จากภายนอก  การผ่าตัดชนิดนี้ควรทำเมื่อผู้ป่วยมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี และพักผ่อนอย่างเพียงพอ  ไม่เป็นหวัด หรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน

ก่อนผ่าตัด   แพทย์จะตรวจความสมบูรณ์ของร่างกาย และประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด เช่นการตรวจเลือด  ปัสสาวะ  ถ่ายภาพรังสีปอด หรือ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วแต่ความจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด  แพทย์อาจให้หยุดยาดังกล่าวก่อนผ่าตัดหลายวัน  ถ้าแพทย์ทำผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่  ผู้ป่วยสามารถมาโรงพยาบาลวันที่นัดทำผ่าตัดได้เลย   ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนในหอผู้ป่วยหลังผ่าตัด 1 คืน เพื่อสังเกตการหายใจหลังผ่าตัด  

การใช้ยาชาเฉพาะที่  มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ใจสั่น  หน้ามืด  เป็นลม  หูอื้อ แต่อาการเหล่านี้มักหายได้เอง   อาจหายใจลำบาก เนื่องจากทางเดินหายใจบวม  ในรายที่มีอาการดังกล่าวรุนแรงมาก  อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ (endotracheal tube) ไว้หลังผ่าตัดเสร็จ  และนอนในหอผู้ป่วยหลังผ่าตัด  

การดมยาสลบ  ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล 1 วันก่อนผ่าตัด เพื่อวิสัญญีแพทย์จะได้เตรียมความพร้อมสำหรับการดมยาสลบในวันรุ่งขึ้นที่จะผ่าตัด  คืนวันก่อนผ่าตัดแพทย์จะให้งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนเพื่อป้องกันการสำลักอาหาร และน้ำลงปอดเวลาดมยาสลบ การดมยาสลบ  มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียงแหบจากสายเสียงบวม หายใจลำบาก  ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนในหออภิบาลวิสัญญี (ICU) หลังผ่าตัด  1 คืน เพื่อสังเกตการหายใจหลังผ่าตัด

หลังผ่าตัด        

        1.  ผู้ป่วยจะมีแผลที่เพดานอ่อน โคนลิ้น หรือต่อมทอนซิล  อาจมีอาการเจ็บคอ  กลืนอาหารหรือน้ำลายลำบากจากแผลผ่าตัด  ทำให้รับประทานไม่ค่อยสะดวก  อาจมีน้ำลายปนเลือดออกมาได้บ้างเล็กน้อย

        2.  ผู้ป่วยอาจจะมีไข้ หรือมีอาการบวม หรือรู้สึกติดๆ ขัดๆ ตึงๆ คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอ กลืนไม่สะดวก หรือมีเสียงเปลี่ยนได้   ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์  

        3.  หลังการผ่าตัด 1-2 วันแรก เพดานอ่อน โคนลิ้น หรือต่อมทอนซิล อาจบวมมากขึ้นได้  ทำให้หายใจอึดอัด ไม่สะดวก ทำให้อาการกรนมากขึ้นได้  ดังนั้นจึงควรนอนศีรษะสูง โดยใช้หมอนหนุน หรือนอนบนที่นอนที่สามารถปรับความเอียงได้  อมและประคบน้ำแข็งบ่อยๆ ในช่วงสัปดาห์แรก    เพื่อลดอาการบวมบริเวณที่ทำผ่าตัด   โดยเฉพาะถ้าทำการผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น  ถ้าอาการหายใจไม่สะดวก เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นรุนแรง  ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที ในกรณีนี้ แพทย์อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเจาะหลอดลมคอ 

        4.  ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้อักเสบ  ยาแก้ปวด  ยาลดบวม และยากลั้วคอ ผู้ป่วยควรจะรับประทานยาดังกล่าวให้หมด  ไม่ว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ก็ตาม  ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เมื่อจำเป็นได้

        5.  ควรหลีกเลี่ยงการขากเสมหะแรงๆ  การล้วงคอ  หรือแปรงฟันเข้าไปในช่องปากลึกเกินไป  การออกแรงมาก  การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนักหลังผ่าตัดภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลในช่องปากได้   ซึ่งปกติมักมีปริมาณน้อยและหยุดได้เอง  ถ้ามีเลือดออกจากช่องปาก ควรนอนพัก  ยกศีรษะสูง อมน้ำแข็งในปาก  นำน้ำแข็งหรือ cold pack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ  เพื่อให้เลือดหยุด  การประคบ หรืออมน้ำแข็ง ควรประคบ หรืออมประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบ หรืออมใหม่เป็นเวลา 10 นาที  ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อยๆ  ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที ซึ่งอาจต้องไปทำการห้ามเลือดในห้องผ่าตัด  

        6.  ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม   ไม่ควรรับประทานอาหารที่แข็งหรือร้อน หรือรสเผ็ดหรือจัดเกินไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด  อาหารที่รับประทานหลังผ่าตัด ควรเป็นอาหารเหลวที่เย็น  หรือไอศกรีม สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ใช้ คลื่นความถี่วิทยุผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่หย่อนยาน บริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนออกด้วย (RAUP) ในระยะแรกเวลาดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร  อาจมีสำลักออกจมูกได้บ้าง  จึงควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารอย่างช้าๆ และอย่างระมัดระวัง  ส่วนใหญ่เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อนและคอหอยปรับตัวได้  อาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง  นอกจากนั้นควรกลั้วคอ ทำความสะอาดบ่อยๆ และแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร

        7.  โดยปกติ หลังผ่าตัดประมาณ 1-2 สัปดาห์  แผลจะหายเป็นปกติ  ยกเว้นผู้ป่วยที่แพทย์ใช้ คลื่นความถี่วิทยุผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่หย่อนยาน บริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนออกด้วย (RAUP) อาจใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์  กว่าแผลจะหายเป็นปกติ   โดยปกติ เพดานอ่อน โคนลิ้น หรือต่อมทอนซิล จะลดขนาดลง  อาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะดีขึ้น หลังทำการผ่าตัดประมาณ 4-6 สัปดาห์  ถ้าอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่ดีขึ้นจนเห็นได้ชัด ภายในระยะเวลาดังกล่าว   อาจต้องรับการรักษาซ้ำอีก  จนกว่าอาการดังกล่าวจะดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน   โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เลือดออกจากแผลผ่าตัด ซึ่งถ้าออกมากจะต้องไปทำการห้ามเลือดในห้องผ่าตัด   การหายใจลำบากจากการบวมของเนื้อเยื่อรอบๆ บริเวณผ่าตัด  หรือแผลผ่าตัดติดเชื้อ  แต่พบได้น้อย  ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อ้วนมาก  มีโรคหัวใจหรือโรคปอดร่วมด้วย  มีดัชนีของการหยุดหายใจขณะหลับ (apnea index) สูง   มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำมากในเวลาหลับที่ตรวจพบตั้งแต่ก่อนผ่าตัด จะเป็นผู้ที่มีอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดที่ไม่มีภาวะดังกล่าว

        ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้  ไม่พบบ่อยแต่ควรทราบและระวังล่วงหน้าคือ การหายใจลำบากจากการบวมในช่องคอ  ผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะได้รับการแนะนำให้นอนในหอผู้ป่วยหลังผ่าตัด 1 คืน เพื่อสังเกตการหายใจหลังผ่าตัด

        โดยทั่วไป ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัดโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ถ้าทำผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่  การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องภายหลังการผ่าตัดมักทำให้การผ่าตัดรักษาได้ผลดี

การนัดตรวจหลังออกจากโรงพยาบาล  แพทย์จะนัดมาดูแผล ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และหลังจากนั้น  4-6  สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาเพื่อประเมินผลการรักษา  ถ้าอาการต่างๆ เช่น นอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่ดีขึ้น  แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาซ้ำ หรือ แนะนำทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ ที่เหมาะสมมากกว่าต่อไป


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด