การผ่าตัดกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท

การผ่าตัดกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท

รศ.นพ.วิทเชษฐ  พิชัยศักดิ์
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

          กระดูกสันหลังแต่ละปล้องมีส่วนที่ยึดติดกับอีกปล้องหนึ่งด้วยหมอนรองกระดูกสันหลัง(intervertebral disc)และข้อต่อกระดูกสันหลัง(facet joint)
          หมอนรองกระดูกสันหลังประกอบด้วย
๑.เปลือกนอก มีลักษณะเป็นวงที่เป็นเนื้อเยื่อที่แข็งแรงมาก
๒.เนื้อใน มีลักษณะเป็นวุ้นของเหลว( gel ) มีองค์ประกอบของน้ำเป็นส่วนใหญ่ถึง ๘๘ %

            หมอนรองกระดูกสันหลังจะทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักของศีรษะ แขน และลำตัว ในกรณีที่มีการก้มตัว ยกของหนัก  หรือในกรณีที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแรงกดที่ผ่านหมอนรองกระดูกสันหลังและข้อต่อก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
      
            ลักษณะพิเศษของหมอนรองกระดูกสันหลังนี้จะทำให้ทนทานต่อการใช้งานเหมือนเป็นตัวลดแรงกระแทก (shock absorber)
 
            เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน จะมี การเสื่อมสภาพและเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ  กล่าวคือตัวเปลือกนอกอาจมีการฉีกขาดและสูญเสียความแข็งแรงไป ตัวเนื้อในจะมีปริมาณน้ำลดลง ทำให้การรับน้ำหนักหรือการลดแรงกระแทกได้ไม่ดี ต่อมาจะส่งผลให้เกิดการทรุดตัวของหมอนรองกระดูก ทำให้ ช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังแคบลง และมีการเสื่อมสภาพของผิวข้อต่อกระดูกสันหลัง (facet joints ) ด้วย  
 
ดังนั้นในคนสูงอายุจึงมีอาการปวดหลังได้ง่าย  และเมื่อพยาธิสภาพนี้ก่อตัวมากขึ้นก็จะทำให้โพรงกระดูกสันหลังนี้มีการตีบแคบลงเนื่องจาก
๑. หมอนรองกระดูกสันหลังทรุดตัวลงจะมีการโป่งของเปลือกนอกของหมอนรองกระดูกสันหลัง
๒. การเสื่อมสภาพของผิวข้อต่อกระดูกสันหลัง จะมีการสร้างกระดูกใหม่ขึ้นรอบๆข้อ ( osteophytes ) ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าหินปูน
๓. มีการหนาตัวของเอ็นรอบๆโพรงกระดูกด้านใน

            ผลจากการที่มีการตีบแคบของโพรงกระดูกสันหลังนี้จะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทที่ออกจากโพรงกระดูก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังและร้าวไปยังขาและน่องเมื่อยืนนานหรือเดินไกลๆ ในรายที่เป็นมากอาจเดินได้เพียงไม่กี่ก้าวก็ต้องนั่งหรือหยุดเดินสักพักสักครู่ ต่อเมื่ออาการดีขึ้น ก็สามารถเดินต่อได้ โดยต้องหยุดพักเป็นช่วงๆ

การรักษา
            ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากหรือเป็นมาไม่นาน จะรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด
๑. ปรับเปลี่ยนหรือลดการใช้หลังโดยหลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนานๆ หลีกเลี่ยงการก้มหลังหรือยกของหนักๆ
๒. ลดน้ำหนักตัวโดยการควบคุมการรับประทานอาหาร
๓. ทำการรักษาด้วยกายภาพบำบัด
๔. รับประทานยาต้านการอักเสบและยาแก้ปวดเท่าที่จำเป็น
๕. บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง

            ถ้าการรักษานี้ไม่ได้ผลกล่าวคืออาการปวดไม่ทุเลาหรือเป็นมากขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ อาจให้การรักษาโดยการผ่าตัด
            การผ่าตัดตามปกติจะกรีดแผลที่กึ่งกลางหลังบริเวณกระเบนเหน็บเป็นทางยาว ขนาดของแผลขึ้นอยู่กับจำนวนปล้องกระดูกสันหลังที่ก่อให้เกิดปัญหาอาการปวด
            หลักการผ่าตัดก็คือการใช้เครื่องมือตัดหรือกรอกระดูกหรือเนื้อเยื่อส่วนที่กดทับเส้นประสาทออกจนโล่ง ในบางกรณีที่จำเป็นอาจต้องเสริมความแข็งแรงของ กระดูกสันหลังด้วยโลหะดามกระดูกสันหลัง
            การผ่าตัดแบบใหม่จะใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อให้เห็นส่วนที่ผ่าตัดชัดเจนและแผลมีขนาดเล็กลง ทำให้อาการปวดแผลหลังผ่าตัดลดลง ผู้ป่วยสามารถลุกขึ้นยืนเดินได้รวดเร็วขึ้น

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด