การตรวจหัวใจด้วยสารธัลเลียมและสารคาร์ดิโอไลท์ ตอนที่ 2
การตรวจหัวใจด้วยสารธัลเลียมและสารคาร์ดิโอไลท์
(ตอนที่ 2)
ภาควิชารังสีวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การตรวจขณะออกกำลังกาย
7. แพทย์จะให้นั่งหรือนอนพักจนการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจกลับเป็นปกติ ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที นักรังสีเทคนิคจะนำท่านมาถ่ายภาพหัวใจด้วยเครื่องมือพิเศษ เรียกว่าเครื่องแกมมา คาเมรา ใช้เวลา 30 นาที ถือเป็นการถ่ายภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย
8. หลังจากนั้นท่านจะต้องกลับมานอนพักที่ห้องรอตรวจอีกจนครบ 3 ชั่วโมงนับจากเวลาที่แพทย์ฉีดยาธาลเลียม ท่านจะได้รับการถ่ายภาพหัวใจโดยเครื่องแกมมาคาเมราอีกครั้งนับเป็นการถ่ายภาพหัวใจขณะพักใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถือเป็นการเสร็จสิ้นการตรวจ
การตรวจหัวใจด้วยสารคาร์ดิโอไลท์
ขั้นตอนการเตรียมจะทำเช่นเดียวกับการตรวจหัวใจด้วยสารธาลเลียม ข้อ 1 ถึงข้อ 5
5. แพทย์จะฉีดสารคาร์ดิโอไลท์ให้โดยฉีดเข้าทางสายน้ำเกลือ แล้วให้ท่านนอนพัก 40 นาที
6. เมื่อครบเวลา 40 นาที จะให้ท่านดื่มเครื่องดื่มที่ทำจากไข่ผสมกับนม (เอ็กน็อค) 1 แก้ว หรือถ้าดื่มไม่ได้จะเปลี่ยนให้ดื่มน้ำเปล่า 1 แก้ว แทนแล้วนอนพัก
7. อีก 20 นาทีต่อมาหรือครบ 1 ชั่วโมงหลังฉีดสารคาร์ดิโอไลท์ นักรังสีเทคนิคจะนำท่านเข้าห้องตรวจและถ่ายภาพหัวใจโดยเครื่องแกมมาคาเมรา ใช้เวลา 30 นาที ถือเป็นการถ่ายภาพหัวใจขณะพัก
8. ประมาณ 3 ชั่วโมงภายหลังแพทย์ฉีดยาครั้งแรก เจ้าหน้าที่จะนำท่านเข้าห้องตรวจเพื่อติดสายตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บริเวณหน้าอก และพันแขนเพื่อวัดความดันโลหิต
9. แพทย์จะแนะนำและสาธิตวิธีการเดินออกกำลังบนสายพานให้เข้าใจ และเน้นย้ำว่าเมื่อจะเดินไม่ไหวให้บอกก่อนหยุดเดินประมาณ 1 นาทีจากนั้นจะให้ท่านเดินบนสายพานโดยค่อย ๆ ปรับความเร็วสายพานเพื่อให้ท่านเดินเร็วขึ้นจนเกือบเป็นวิ่ง และปรับความชันของสายพานเพื่อให้ออกแรงมากขึ้น หัวใจจะทำงานเพิ่มขึ้น จนเมื่ออัตราชีพจรถึงเกณฑ์ที่กำหนดคือ 220 ลบด้วยอายุของท่านหรือจนกระทั่งท่านรู้สึกเหนื่อยมากที่สุด แพทย์จะฉีดสารคาร์ดิโอไลท์เข้าหลอดเลือดทางสายน้ำเกลือท่านจะต้องวิ่งหรือเดินบนสายพานนี้ต่ออีก 1 นาที หลังจากฉีดสารคาร์ดิโอไลท์
10. แพทย์จะให้นั่งหรือนอนพัก จนการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจกลับเป็นปกติ เจ้าหน้าที่จะนำท่านไปนอนพัก 30 ถึง 60 นาที
11. เมื่อครบเวลา เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคจะนำท่านมาถ่ายภาพหัวใจด้วยเครื่องแกมมาคาเมรา เป็นการตรวจหัวใจขณะออกกำลังกาย ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถือเป็นการสิ้นสุดการตรวจ
เครื่องแกมมาคาเมรา
เป็นเครื่องมือพิเศษที่ใช้ในการถ่ายภาพปริมาณรังสีที่กล้ามเนื้อหัวใจ ในการตรวจท่านต้องนอนราบบนเตียงที่แคบพอดีตัว เจ้าหน้าที่จะจัดให้ท่านนอนราบและใช้ผ้าพันตัวท่านให้ติดกับเตียง โดยให้ยกแขนซ้ายขึ้นและจับหัวเตียงไว้ ท่านต้องนอนนิ่ง ๆ ตลอดเวลาที่ทำการตรวจ ในขณะที่ท่านนอนอยู่เครื่องฯ จะหมุนไปรอบ ๆ ตัวท่านเพื่อตรวจวัดปริมาณรังสีที่กล้ามเนื้อหัวใจจนครบทุกส่วนของพื้นที่ของกล้ามเนื้อหัวใจ นักรังสีเทคนิคจะทำหน้าที่ควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์และอยู่กับท่านตลอดเวลา ท่านควรต้องนอนให้นิ่งมากที่สุดเพื่อให้ผลการตรวจมีความถูกต้องและชัดเจน
ข้อปฏิบัติภายหลังการตรวจ
1. สารรังสีที่ท่านได้รับจากการตรวจเป็นปริมาณที่น้อยและจะสลายตัวหมดไปในเวลาประมาณ 2 วัน ไม่ต้องมีข้อปฏิบัติใดเป็นพิเศษ
2. เจ้าหน้าที่จะนัดให้มารับผลการตรวจหลังจากวันที่ตรวจแล้ว ประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยติดต่อรับผลได้ที่สาขาหทัยวิทยา ตึกอัษฎางค์ ชั้น 1 ผลการตรวจที่จะได้รับนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการรักษา ที่จะช่วยให้แพทย์ตัดสินเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับท่าน
3. ควรดูแลสุขภาพของท่านให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมันสูง ดูแลระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ ทำจิตใจให้สบายไม่เครียดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป รับประทานยาตามเวลาและมาพบแพทย์ตามนัด แต่ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
4. หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการตรวจหัวใจด้วยสารธาลเลียม หรือสารคาร์ดิโอไลท์ สามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ที่ให้ใบนัดแก่ท่าน หรือที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2419-7748 ในเวลาราชการ
สัญญาณเตือนของโรคหัวใจขาดเลือด
แน่น เจ็บกรุ่น ๆ หรือร้อนในอก-ไม่จำเป็นต้องเจ็บมากเสมอไป-อาการมักจะเป็นมากเมื่อออกแรงและทุเลาลงเมื่อพัก
แน่น จุกเสียดในอกหรือหายใจไม่ได้ มักจะเป็นอยู่นานกว่าสองนาที ระยะแรกอาจเจ็บไม่มาก หายไป และกลับมามีอาการใหม่ซึ่งมักจะเป็นนานกว่าเดิม หรือรุนแรงขึ้นเรื่อยในแต่ละครั้ง
เจ็บฟัน ขากรรไกร แขนท่อนบนด้านในโดยเฉพาะแขนซ้าย หรือปวดหลัง
ตาลาย เวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืดเป็นลม พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้ เหงื่อกาฬแตก หายใจไม่ทัน หรืออ่อนเพลีย
ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าอาการนั้นเกิดจากโรคหัวใจหรือเกิดจากกรดในกระเพาะอาหารให้ตอบคำถามต่อไปนี้ เจ็บที่ตรงกลางหน้าอกเลยใช่หรือไม่ เป็นซ้ำหรือเปล่า ถ้าเป็นซ้ำครั้งหลังเจ็บมากขึ้นกว่าครั้งแรกหรือไม่ออกแรงแล้วเจ็บทวีคูณและดีขึ้นเมื่อได้พักหรือไม่
ถ้าอาการตรงกับคำถามข้อใดข้อหนึ่งแม้เพียงอาการเดียวให้รับประทานยาแอสไพรินหนึ่งเม็ด โทรศัพท์เรียกรถพยาบาล หรือหาคนขับรถพาท่านตรงไปยังห้องฉุกเฉินหรือศูนย์รักษาอาการเจ็บอกที่ใกล้ที่สุดทันที ห้ามขับรถเอง