ตาเหล่! ใครว่ารักษาไม่ได้
ตาเหล่! ใครว่ารักษาไม่ได้
รศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ตาเหล่สำหรับคนทั่วไป อาจคิดว่าเป็นโรคที่รักษายาก แต่สำหรับจักษุแพทย์แล้วมีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยตาเหล่อยู่หลายวิธี โรคตาเหล่เป็นภาวะที่ตาสองข้างไม่อยู่ในแนวแกนเดียวกัน เป็นผลให้ไม่สามารถมองวัตถุเดียวกันพร้อมกันด้วยตาทั้งสองข้าง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะใช้ตาข้างที่ปกติจ้องวัตถุ ส่วนตาข้างที่เหล่อาจเบนเข้าด้านใน หรือเบนออกด้านนอก หรือขึ้นบนลงล่าง ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเป็นตาเหล่ประเภทใด ผู้ป่วยบางรายอาจมีตาเหล่สลับ หมายถึงในบางเวลาผู้ป่วยจะใช้ตาขวามองวัตถุส่วนตาซ้ายจะเหล่หรือกลับกัน และในบางรายอาจตาเหล่ตลอดเวลา (constant) หรือเป็นครั้งคราว (intermittent) ก็มี เมื่อเริ่มเป็นโรคนี้ สำหรับเด็กอาจแสดงอาการหยีตาบ่อย โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่มีแสงจ้า การหยีตาข้างหนึ่งช่วยให้การมองเห็นภาพซ้อนหายไป ผู้ป่วยโรคตาเหล่บางประเภทอาจมีอาการปวดศีรษะเวลาใช้สายตามองใกล้เป็นเวลานาน เนื่องจากมีการเกร็งกล้ามเนื้อลูกตาเพื่อแก้ไขภาวะตาเหล่ จากการศึกษาพบว่า ประมาณร้อยละ 5 ของเด็กทั้งหมด จะตรวจพบโรคตาเหล่ซึ่งอาจเป็นน้อยหรือมาก และเป็นประเภทต่างๆ กันไป ในระยะแรกเด็กอาจมองเห็นภาพซ้อน เนื่องจากตาสองข้างมองไปยังจุดที่ต่างกัน แต่ในระยะต่อมาสมองจะปรับตัวโดยไม่สนใจภาพที่เห็นจากตาข้างหนึ่ง (suppression) ช่วยให้ภาวะเห็นภาพซ้อนหายไปได้ สาเหตุสำคัญของโรคตาเหล่ ในเด็กมักไม่ทราบสาเหตุ และมากกว่าครึ่งหนึ่งจะตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 6 เดือน ผู้ป่วยบางราย เมื่อซักถามถึงประวัติครอบครัว พบว่ามีผู้เป็นโรคตาเหล่ อยู่ แสดงถึงโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ในกรณีที่สมองไม่สนใจภาพที่เห็นจากตาข้างที่เหล่เป็นระยะเวลานานๆ อีกทั้งไม่ได้รับการรักษาภายในช่วงอายุที่เหมาะสม เด็กอาจเกิดภาวะสายตาขี้เกียจ (amblyopia) ซึ่งเป็นผลให้ตาข้างที่ไม่ได้ใช้งานมองภาพไม่ชัดอย่างถาวร สำหรับโรคตาเหล่ในผู้ใหญ่อาจเกิดจากอุบัติเหตุทางตาและสมอง หรือเกิดจากโรคเบาหวานทำให้มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลูกตาลดลง เป็นผลให้กล้ามเนื้อลูกตาเป็นอัมพาตและตาเหล่ตามมา ไม่ว่าจะสูญเสียสายตาข้างหนึ่งจากสาเหตุใดก็ตาม มักพบว่าตาข้างนั้นค่อยๆ เหล่ออกด้านนอก ผู้ป่วยอาจมีอาการเห็นภาพซ้อนเวลามองด้วยตาสองข้าง เมื่อปิดตาข้างหนึ่งภาพซ้อนจะหายไป สำหรับภาวะสายตาขี้เกียจจะไม่พบในผู้ซึ่งภาวะตาเหล่เริ่มภายหลังอายุ 9 ปี เนื่องจากสมองได้พัฒนาการมองเห็นจนสมบูรณ์แล้ว
แนวทางการรักษา
ก่อนจะให้การรักษาโรคตาเหล่ ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการตรวจตาโดยละเอียดรวมถึงการตรวจจอตา เพื่อหาความผิดปกติภายในลูกตาซึ่งอาจเป็นสาเหตุของตาเหล่ และให้การรักษาตามความเหมาะสม ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคมะเร็งจอตา (retinoblastoma) ตาข้างที่เป็นโรคอาจมีระดับสายตาลดลงมากเนื่องจากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่บังจุดภาพชัด (macula) เป็นผลให้เกิดภาวะตาเหล่ตามมา ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาโรคมะเร็งโดยไม่ชักช้า เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายออกไปนอกลูกตา
การรักษาโรคตาเหล่ในเด็กควรกระทำตั้งแต่เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด คือเด็กมีระดับสายตาปกติทั้งสองตาและสามารถมองเห็นภาพสามมิติได้ แนวทางการรักษาโรคตาเหล่ในเด็กประกอบด้วยการรักษาภาวะสายตาขี้เกียจ โดยการปิดตาข้างที่สายตาดี เพื่อกระตุ้นให้เด็กใช้ตาข้างที่มีสายตาขี้เกียจบ่อยขึ้น ระยะเวลาในการปิดตาขึ้นกับความรุนแรงของภาวะสายตาขี้เกียจและอายุของเด็ก หากเป็นเด็กเล็กการปิดตาข้างที่ดีในแต่ละวันไม่ควรปิดติดต่อกันนานหลายชั่วโมง เพราะอาจทำให้ระดับสายตาข้างที่เคยปกติลดลง เรียกภาวะนี้ว่า occlusion amblyopia เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักไม่ให้ความร่วมมือในการปิดตาข้างที่ดี การรักษาจึงต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองและครู โดยต้องเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการรักษาภาวะสายตาขี้เกียจในระยะที่เหมาะสม ในกรณีที่ไม่สามารถปิดตาได้แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาหยอดขยายรูม่านตาในตาข้างที่ปกติเพื่อทำให้ตานั้นมัวลง ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยหันมาใช้ตาข้างที่มีสายตาขี้เกียจบ่อยขึ้น สำหรับการให้แว่นสายตาหรือการฝึกกล้ามเนื้อลูกตาอาจช่วยรักษาโรคตาเหล่บางประเภทได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่มักต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อลูกตา โดยทั่วไปการผ่าตัดจะกระทำภายใต้การให้ยาดมสลบ ในรายที่ยังมีลักษณะตาเหล่เหลืออยู่ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติม สำหรับการรักษาโรคตาเหล่ในผู้ใหญ่อาจช่วยแก้ไขปัญหาการเห็นภาพซ้อน ทำให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจและมีบุคลิกภาพดีขึ้นได้
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ การรักษาตาเหล่จะหายหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย คนในครอบครัว แพทย์ หรือสิ่งแวดล้อม แต่ที่สำคัญต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย