การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีฮอร์โมน (Hormonal treatment) ตอนที่ 2

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีฮอร์โมน (Hormonal treatment) ตอนที่ 2

รศ.นพ.อดุลย์  รัตนวิจิตราศิลป์
 ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            Aromatase inhibitors (การยับยั้งการเปลี่ยนแปลง ฮอร์โมนเพศชายที่ต่อมหมวกไต มาเป็น เอสโตรเจน)
         
ในหญิงวัยหมดประจำเดือนแล้วนั้น อาจจะยังมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ได้ในปริมาณเล็กน้อย โดยที่ฮอร์โมนที่พบในหญิงวัยหมดประจำเดือน ไม่ได้มาจากรังไข่ แต่เป็นฮอร์โมนที่มาจากต่อมหมวกไต ซึ่งจะแปลงฮอร์โมนเพศชาย มาเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้น การลดประมาณฮอร์โมนเพศหญิงให้เหลือ ต่ำที่สุดในหญิงวัยหมดประจำเดือน ก็คือ การทำลายต่อมหมวกไต หรือ ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่ต่อมหมวกไต
            ในอดีต การผ่าตัดเพื่อทำลายต่อมหมวกไต (Adrenalectomy) ได้เคยถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่วิธีนี้ มีภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก เนื่องจากต่อมหมวกไตยังทำหน้าที่อีกหลายประการ ทั้งในด้านการควบคุมระดับสารน้ำในร่างกาย ระดับฮอร์โมน cortisol ซึ่งหากขาดฮอร์โมนดังกล่าวระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะผิดปกติไปอย่างมาก วิธีการผ่าตัดต่อมหมวกไต จึงไม่ได้รับความนิยม
            ในปัจจุบัน มีการคิดผลิตยาที่จะยับยั้งการทำงานของต่อมหมวกไต ในส่วนที่เฉพาะเจาะจงในการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศชายเป็นเอสโตรเจน ซึ่งได้มีการพัฒนามาถึง 3 รุ่น ในรุ่นที่ 3 นี้ เรียกว่ายากลุ่ม aromatase inhibitors ซึ่งได้ผลในการยับยั้งการเปลี่ยนฮอร์โมน ขณะเดียวกันผลข้างเคียงก็มีน้อยมาก จึงได้รับการยอมรับในปัจจุบัน และ กำลังมีที่ใช้แทนหรือ ใช้ต่อเนื่องจากยากลุ่ม anti-estrogen

Pituitary-ovarian axis inhibitions (การยับยั้งการกระตุ้นรังไข่จากต่อมใต้สมอง)
            ต่อมใต้สมองเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนที่จะกระตุ้นให้รังไข่ผลิต ฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้น ในหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน จึงมีอีกหนทางหนึ่งที่จะลดปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ ยับยั้งการทำงานของต่อมใต้สมอง ในอดีต อาศัยการผ่าตัดต่อมใต้สมอง (Hypophysectomy) หรือ การฉายรังสี ซึ่งมีผลแทรกซ้อนข้างเคียงมาก เนื่องจากต่อมใต้สมองจะควบคุมระบบฮอร์โมนอีกหลายอย่าง ทั้ง ของไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ฯลฯ ปัจจุบันจึงไม่นิยมใช้การผ่าตัดทำลายต่อมใต้สมอง ขณะเดียวกันก็มีการคิดค้นยาที่สามารถลดการทำงานของต่อมใต้สมอง ในกลุ่ม gonadotropin releasing analog (GnRH analog) ซึ่งได้ผลในการยับยั้งการกระตุ้นรังไข่ได้ดี แต่เป็นยาฉีด ซึ่งต้องฉีดเดือนละครั้ง

สรุป
            การรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนมีหลายวิธี และ หลายลำดับขั้นตอน แต่โดยรวมแล้ว ผู้ป่วยที่จะได้รับผลดีจากการรักษาด้วยฮอร์โมนนั้น จะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีเนื้อเยื่อมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen or progesterone receptor – positive) ส่วนจะเลือกใช้วิธีไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเป็นหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน หรือ หมดประจำเดือนแล้ว และ มีข้อดี ข้อเสีย จากการรักษาแต่ละวิธีอย่างไรบ้าง
 อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของวิธีการรักษามะเร็งเต้านมด้วยฮอร์โมน ก็คือ การบริหารยาง่าย ส่วนใหญ่ เป็นยาที่รับประทานได้ และ ผลข้างเคียงมีไม่มาก ขณะที่ผลการรักษาได้ผลดี

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด