การตรวจหัวใจด้วยสารธัลเลียมและสารคาร์ดิโอไลท์

การตรวจหัวใจด้วยสารธัลเลียมและสารคาร์ดิโอไลท์
(ตอนที่
1)

ภาควิชารังสีวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           เอกสารที่ท่านกำลังถือยู่นี้ เป็นเพียงคำแนะนำอย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับการตรวจหัวใจด้วยสารนิวเคลียร์ (สารกัมมันตรังสี) ได้แก่ สารธัลเลียมและสารคาร์ดิโอไลท์ เอกสารฉบับนี้จึงไม่อาจใช้แทนคำแนะนำที่ท่านจะได้รับจากแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลท่านได้ ถ้าท่านหรือญาติมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการตรวจนี้กรุณาสอบถามจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจที่รักษาท่านอยู่

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้ป่วยทราบถึงประโยชน์ของการตรวจ
2. เพื่อให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนในการตรวจ
3. เพื่อให้ผู้ป่วยทราบถึงการเตรียมตัวเพื่อมารับการตรวจ
4. เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในวันมาตรวจ

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการตรวจ
1. ช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ
2. ทำให้ทราบตำแหน่งของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ
3. เป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม
4. เพื่อประเมินผลการรักษา

ข้อปฏิบัติสำหรับการเตรียมตรวจ
1. งดยาโรคหัวใจ (ตามแพทย์สั่ง) 2 วันก่อนมาตรวจ ยกเว้นยาอมใต้ลิ้นหากจำเป็น
2. งดอาหารและเครื่องดื่มมื้อเช้าวันมาตรวจดื่มน้ำเปล่าได้ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะให้รับประทานข้าวต้มกับผักกาดดองได้ก่อน 5.00 น. ของวันที่มาตรวจ
3. เครื่องแต่งกาย ควรสวมกางเกงและรองเท้าสำหรับการเดินออกกำลังกายบนสายพาน
4. ควรมีญาติมาด้วยอย่างน้อย 1 คน

ข้อแนะนำสำหรับการเตรียมตัวเพื่อมารับการตรวจ
           ท่านควรลางานหรือทำตัวให้ว่างจากภารกิจการงานในวันตรวจทั้งวัน เนื่องจากกระบวนการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมงหรือมากกว่านี้ โดยเริ่มนับจากเวลาที่ฉีดสารธาลเลียมหรือสารคาร์ดิโอไลท์ การตรวจจะมีเฉพาะวันอังคารและวันพุธ ซึ่งจะตรวจได้ประมาณ 2-3 รายต่อวัน โดยจะเริ่มตรวจรายแรกประมาณ 8.30 น. และแล้วเสร็จประมาณ 13.00 น. ส่วนรายที่เริ่มตรวจ 10.00 น. จะแล้วเสร็จประมาณ 14.00 น.ถ้าเป็นเบาหวานให้งดยาเบาหวานในวันที่มาตรวจและแจ้งย้ำให้แพทย์และพยาบาลที่ห้องตรวจทราบ  งด ชา กาแฟและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนมาตรวจ  งดยาโรคหัวใจ 2 วันก่อนมาตรวจ หากสงสัยหรือไม่แน่ใจเรื่องการรับประทานยาหรือการงดยา ให้รีบสอบถามจากแพทย์ทันที
           ถ้าเป็นเบาหวานให้งดยาเบาหวานในวันที่มาตรวจและแจ้งย้ำให้แพทย์และพยาบาลที่ห้องตรวจทราบ
           ควรนำญาติที่สามารถดูแลท่านได้มาในวันตรวจด้วยอย่างน้อย 1 คน เนื่องจากในระหว่างการตรวจท่านจะยัง รับประทานอาหารไม่ได้ต้องรอจนกว่าการตรวจจะเสร่จสิ้นลงภายหลังการตรวจท่านอาจจะรู้สึกอ่อนเพลีย ญาติจะได้ช่วยดูแลเตรียมหาอาหารไว้ให้ท่านและพาท่านกลับบ้าน
           ท่านจะต้องแจ้งยืนยันก่อนถึงวันนัด 1 วันว่าท่านจะมารับการตรวจตามนัดได้ ถ้าไม่สามารถมาได้ตามนัดกรุณาแจ้งล่วงหน้า เพื่อจะได้ติดต่อผู้ป่วยรายอื่นที่รออยู่ให้มารับการตรวจแทน

           สถานที่ใช้ในการตรวจคือที่ สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา อาคารศูนย์โรค
หัวใจฯ ชั้น 10

การตรวจหัวใจด้วยสารธาลเลียมและสารคาร์ดิโอไลท์ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
1. การตรวจหัวใจขณะออกกำลังกาย
2. การตรวจหัวใจขณะพัก
      
           การเลือกการตรวจหัวใจแบบใดหรือการตรวจด้วยสารนิวเคลียร์ตัวใดขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์การตรวจหัวใจขณะพักมักไม่ค่อยเป็นปัญหา ส่วนการตรวจหัวใจขณะออกกำลังกายนั้น ถ้าท่านสามารถวิ่งหรือเดินเร็ว ๆ ได้แพทย์จะให้ออกกำลังโดยวิ่งบนสายพานเพื่อเพิ่มการทำงานให้หัวใจ แต่ถ้ามีปัญหาอื่นทางร่างกายที่ไม่สามารถวิ่งหรือเดินเร็ว ๆ ได้ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุหรือเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น แพทย์จะใช้ยาขยายหลอดเลือด (เพอร์แซนติน) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดให้แทนการออกกำลังกาย

           การออกกำลังเป็นการเพิ่มการทำงานของหัวใจซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดมาเลี้ยงมากกว่าปกติ ในรายที่หลอดเลือดหัวใจปกติจะพบว่ามีเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ทั่วถึงและเพียงพอทุกบริเวณ แต่ในรายที่หลอดเลือดหัวใจ มีพยาธิสภาพ เช่น มีการตีบหรืออุดตัน จะพบว่าบางแห่งของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ อาจเป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจก็ได้

การตรวจหัวใจด้วยสารธัลเลียม
มีขั้นตอนการตรวจดังนี้
1. หลังเที่ยงคืนก่อนวันนัดตรวจ ท่านจะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ยกเว้นให้ดื่มน้ำสะอาดได้
2. เช้าวันนัดท่านจะต้องมาถึงที่สาขาหทัยวิทยา ตึกอัษฎางค์ 1 ก่อนเวลา 8.00 น. เจ้าหน้าที่จะพาท่านไปที่ห้องตรวจที่สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ตึกศูนย์หัวใจฯ ชั้น 10
3. ที่ห้องพักรอตรวจ เจ้าหน้าที่จะให้ท่านเปลี่ยนเสื้อเป็นแบบผูกเชือกด้านหน้า ชั่งน้ำหนักตัวและวัดส่วนสูง
4. พยาบาลจะให้น้ำเกลือหยดทางหลอดเลือดดำ ที่แขนขวาโดยให้หยดช้า ๆ ซึ่งจะให้ไว้จนกว่าการตรวจจะเสร็จ
5. เจ้าหน้าที่จะติดสายตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่บริเวณหน้าอกท่าน (10 ตำแหน่ง) และพันแขนวัดความดันโลหิตเพื่อติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงขณะตรวจ
6. แพทย์จะแนะนำและสาธิตวิธีการเดินออกกำลังบนสายพานให้เข้าใจ และเน้นย้ำว่าเมื่อจะเดินไม่ไหวให้บอกก่อนหยุดเดินประมาณ 1 นาที จากนั้นจะให้ท่านเดินบนสายพานโดยค่อย ๆ ปรับความเร็วสายพานเพื่อให้ท่านเดินเร็วขึ้นจนเกือบเป็นวิ่ง และปรับความชันของสายพานเพื่อให้ออกแรงมากขึ้น หัวใจจะทำงานเพิ่มขึ้น จนเมื่ออัตราชีพจรถึงเกณฑ์ที่กำหนดคือ 220 ลบด้วยอายุของท่านหรือจนกระทั่งท่านรู้สึกเหนื่อยมากที่สุด แพทย์จะฉีดสารธาลเลียมเข้าหลอดเลือดทางสายน้ำเกลือ ท่านจะต้องวิ่งหรือเดินบนสายพานนี้ต่ออีก 1 นาที หลังจากฉีดสารธาลเลียม

- มีต่อตอนที่ 2 -

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด