อยากเช็คสุขภาพ.....ทำอย่างไรดี ตอนที่ 2

อยากเช็คสุขภาพ.....ทำอย่างไรดี ตอนที่ 2

รศ.นพ.วิทยา  ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            - ตรวจด้วยเครื่องมือหรือวิธีการพิเศษ มีมากมายหลายวิธี เช่น การฉายเอ็กซ์เรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  การฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือด การส่องกล้องเข้าไปดูในช่องท้อง ในลำไส้ ฯลฯ เป็นต้น   การตรวจด้วยวิธีเหล่านี้มักเป็นการตรวจเพื่อดูที่ตัวอวัยวะต่างๆโดยตรง เพื่อจะดูว่ามีก้อน มีแผล หรือสิ่งผิดปกติอื่นหรือไม่ ฟังดูก็แล้วน่าจะตรวจอวัยวะต่างๆด้วยวิธีนี้ไปซะเลยไม่ดีกว่ามัวไปตรวจเลือดอยู่หรือเปล่า  ขอเรียนว่าการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษต่างๆ ไม่ใช่ทำกันง่ายๆหรอกครับ ส่วนมากต้องใช้หมอที่เรียนมาโดยเฉพาะสำหรับการตรวจแต่ละอย่าง การตรวจหลายวิธีต้องมีการเจาะท้องเป็นรูเพื่อเอาเครื่องมือส่องเข้าไป คนไข้จึงต้องเจ็บตัว บางวิธีการต้องดมยาสลบถึงจะตรวจได้  นอกจากประเด็นนี้แล้ว เรื่องของค่าใช้จ่ายในการตรวจก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดด้วยเพราะการตรวจบางอย่างค่าใช้จ่ายสูงมาก โรคที่คุณเป็นอาจไม่ทำให้คุณตายแต่ค่าตรวจโรคบางวิธีอาจทำให้คุณตายได้นะครับเพราะแพงมาก  

จะเลือกตรวจด้วยวิธีไหนดี ?
            จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าวิธีการตรวจเช็คสุขภาพมีมากมายสารพัดวิธี ผมคิดว่าการจะใช้วิธีใดในการตรวจควรจะต้องมีการพิจารณาและคัดเลือกอย่างพิถีพิถันพอสมควร เนื่องจากเราคงไม่สามารถนำเลือดมาตรวจหาสารเคมีเป็นร้อยเป็นพันชนิดได้ รวมทั้งคงไม่สามารถนำการตรวจพิเศษวิธีต่างๆมาใช้ได้ทั้งหมด หรือถึงได้ก็ไม่น่าจะคุ้มค่าและอาจทำให้แปลผลผิดก็ได้อีกด้วย
 ผมคิดว่าตัวผมเองและคุณหมอท่านอื่นๆก็คงจะคิดคล้ายกันและครับว่า ถ้าจะนำวิธีการตรวจใดมาใช้สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน วิธีการตรวจนั้นต้องเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด ให้ผลแม่นยำที่สุด ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ทราบผลเร็วที่สุด และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยน้อยที่สุดด้วย  มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่เชื่อเอาเองว่าต้องตรวจด้วยเครื่องมือบางอย่างเท่านั้นจึงจะเชื่อถือได้ บางคนแค่ปวดศีรษะเพียงเล็กน้อยก็ขอให้หมอตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเลยก็มี ทั้งที่บางครั้งแค่ซักประวัติโดยยังไม่ต้องตรวจร่างกายด้วยซ้ำก็บอกโรคได้แล้วก็มี  บางคนปวดท้องน้อยเรื้อรังเพราะทำงานหนักและวันนึงๆ ต้องนั่งเป็นเวลานาน แค่ตรวจภายในคุณหมอก็บอกได้แล้วว่าอาการปวดมาจากกล้ามเนื้อหน้าท้องถูกกดจากการนั่งนาน แค่พักผ่อนให้พอก็น่าจะหายหรือดีขึ้น แต่คนไข้บางคนปักใจว่าต้องใช้อัลตราซาวนด์ตรวจถึงจะบอกได้ บางคนมาถึงก็สั่งให้หมอตรวจเลยก็มี  ความเชื่อเหล่านี้ส่วนมากฟังมาจาก “เขาบอก” และอิทธิพลของการโฆษณา

โทษของการตรวจเช็คสุขภาพ
            การตรวจเช็คสุขภาพมีประโยชน์ทำให้เราประเมินสุขภาพของเราได้  แต่โทษจากการตรวจเช็คสุขภาพก็มีนะครับ อย่างแรกเลยก็คือ เสียสตางค์ บางคนตรวจเช็คสุขภาพทีนึงหมดเงินหลายหมื่นเลยก็มีเพียงเพื่อจะบอกว่าปกติ ทั้งๆที่ตรวจแค่ร่างกายและเจาะเลือดตรวจเล็กน้อยก็บอกได้แล้ว นอกจากเสียเงินแล้ว คนที่พอตรวจแล้วผลปกติก็อาจตกอยู่ในความประมาทเพราะคิดว่าสุขภาพยังดีอยู่ ผมอยากเรียนว่าผลการตรวจที่ปกติวันนี้รับประกันอนาคตไม่ได้หรอกครับ อีกเดือนหนึ่งอาจเป็นโรคร้ายก็ได้ เพราะจนกระทั่งปัจจุบันผมยังไม่เห็นวิธีการตรวจใดรับประกันอนาคตได้เลย ที่บอกได้ก็แค่วันที่ตรวจ และอาจจะตรวจผิดก็ได้

สรุป
            การตรวจเช็คสุขภาพเป็นเรื่องดี แต่การจะเลือกตรวจอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ควรขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่แตกต่างกัน การตรวจเช็คสุขภาพหลายวิธีสิ้นเปลืองและอาจไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า การจะเลือกตรวจเช็คสุขภาพอย่างไรจึงควรจะได้ปรึกษาหารือกับคุณหมอที่ดูแลให้เข้าใจดีเสียก่อนนะครับ

การตรวจเช็คร่างกายประจำปี  สำหรับคนสุขภาพดีทั่วไป ที่ควรทำเป็นประจำทุกปี 
              . ตรวจร่างกายโดยแพทย์
              .  ตรวจกรุปเลือด (ABO ,Rh)  (ตรวจครั้งเดียวเมื่อยังไม่ทราบ)
              .  ตรวจดูความเข้มข้น ปริมาณ และขนาดของเม็ดเลือดชนิดต่างๆ
              .  ตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีโรคที่ติดต่อผ่านทางเลือดหรือไม่ เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ โรคตับอักเสบ
              . ตรวจเลือดหาระดับสารเคมีต่างๆ เพื่อดูว่าเป็นโรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคเกาส์  หรือไม่
              . ตรวจเลือดเพื่อดูระดับไขมันในเลือด
              . ตรวจเอกซเรย์ปอด
              . ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ         
ถ้าเป็นสตรีที่แต่งงานแล้ว    ควรจะตรวจเช่นเดียวกับข้างบน และควรเพิ่มการตรวจดังนี้
               . ตรวจมะเร็งปากมดลูก
               . ตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram)        
ถ้าเป็นสตรีวัยทอง   ควรจะตรวจเช่นเดียวกับข้างบนและควรเพิ่มการตรวจดังนี้
              . ตรวจความหนาแน่นของกระดูก            
ถ้าเตรียมตัวจะตั้งครรภ์   ควรจะตรวจเช่นเดียวกับคนที่สุขภาพดีทั่วไป และควรเพิ่มการตรวจดังนี้
              . ตรวจเลือดดูความเสี่ยงว่าเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียหรือไม่
              . ตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมัน
     
            วิธีการตรวจทั้งหมดที่ผมเขียนข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างนะครับ บางคนอาจจะตรวจหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ แล้วแต่การพิจารณาของคุณหมอที่ดูแลครับ สำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพ  การจะตรวจเช็คสุขภาพว่าจะตรวจอะไรควรที่จะปรึกษากับคุณหมอที่ดูแลจะดีกว่าครับ เพราะบางคนต้องตรวจบางอย่างเพิ่มเติมจากคนปกติทั่วไป เช่นบางคนต้องตรวจดูปริมาณฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ บางคนต้องส่องกล้องตรวจในช่องท้องเป็นต้น

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด