อยากเช็คสุขภาพ.....ทำอย่างไรดี ตอนที่ 1

อยากเช็คสุขภาพ.....ทำอย่างไรดี ตอนที่ 1

รศ.นพ.วิทยา  ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

                        - คุณหมอคะ เพื่อนหนูเขาเป็นเนื้องอกมดลูกเพิ่งไปตัดมดลูกมา หนูก็เห็นเขาแข็งแรงดีทำไมถึงเป็นเล่าคะ  หนูมีสิทธิเป็นอย่างเขาไหมคะ ถ้าหนูจะเช็คสุขภาพจะรู้ว่าเป็นโรคนี้หรือโรคอื่นไหมคะ  
            - หนูแต่งงานแล้วเตรียมตัวจะมีน้องคะ อยากทราบว่าควรเช็คสุขภาพก่อนไหมคะ แล้วแฟนหนูต้องตรวจด้วยไหมคะ
            - จะต้องเช็คสุขภาพอย่างไรคะ จึงจะมั่นใจว่าไม่เป็นโรคอะไรแน่นอน
 ในฐานะที่เป็นหมอรักษาคนไข้มายาวนานพอควร ผมเจอกับคำถามประเภทนี้เป็นประจำและเชื่อว่าก็จะยังคงถูกถามอยู่ต่อไปตราบใดที่ยังคงรักษาคนไข้อยู่ คุณหมอชวนคุยฉบับนี้จึงอยากจะให้ข้อคิดเห็นและข้อแนะนำเกี่ยวกับการตรวจเช็คสุขภาพ เพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปเป็นข้อคิดในการพิจารณาตรวจเช็คร่างกายนะครับ

ทำไมถึงอยากตรวจเช็คสุขภาพ ?
            สมัยก่อนคนเราจะไปหาหมอกันซักทีก็ต้องมีเหตุให้ต้องไปหา เช่นเจ็บไข้ได้ป่วยในลักษณะต่างๆ ไอ้ประเภทที่สุขสบายดีแต่เหงาอยากจะไปหาให้หมอตรวจมีไม่มากหรอกครับ บางคนขืนไปบอกคุณหมอว่าสบายดีแต่อยากให้หมอตรวจเช็คสุขภาพให้หน่อย อาจจะถูกหมอมองด้วยสายตาแปลกๆ ในทำนองสงสัยว่าไอ้คนนี้คงประสาทแหงๆ เลย เพราะลำพังแค่คนไข้ที่ไม่สบายหมอก็ตรวจไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว 
            ในปัจจุบันความคิดคนเราเปลี่ยนไปมากทั้งในหมู่ประชาชนและในกลุ่มของหมอเอง พบว่าส่วนมาก  เห็นด้วยกับการตรวจเช็คสุขภาพโดยที่ไม่ได้มีโรคภัยไข้เจ็บ และการมาหาหมอเพื่อเช็คสุขภาพก็เป็นเรื่องปกติไปแล้ว อย่างไรก็ตามเท่าที่สังเกตดู ผมคิดว่าการที่แต่ละคนอยากจะตรวจเช็คสุขภาพไม่ได้มาจากเหตุผลเดียวกันหรอกครับ แต่ละคนต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งผมพอจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มครับ
            - กลุ่มแรกคือพวกที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรหรอกครับ แต่เนื่องจากรู้มากและกลัวตายมากยิ่งรู้มากยิ่งกลัวตายมาก ทำให้อยากตรวจเช็คสุขภาพ พูดถึงความรู้ที่มี อาจจะมาได้จากหลายแหล่ง เช่นจากนิตยสารทางการแพทย์และสุขภาพ ข่าวสารทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือจากโฆษณาทางด้านสุขภาพจากสื่อต่างๆ   คนกลุ่มนี้บางทีมาหาหมอแทนที่จะให้หมอตัดสินใจว่าจะตรวจเช็คอะไรให้บ้าง ก็สั่งหมอเสร็จเลยว่าต้องการตรวจโน้นตรวจนี่เยอะแยะไปหมดเพราะเข้าใจเอาตามความรู้ที่มีว่ามันน่าจะมีประโยชน์

            - กลุ่มที่สอง พวกนี้ก็มีสุขภาพดีและไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเช่นกัน คนในกลุ่มนี้ปกติก็ไม่ได้สนใจที่ตรวจเช็คสุขภาพอะไรหรอกครับ แต่เผอิญคนที่ใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทหรือมิตรสหายเพิ่งตายจากเพราะเป็นโรคร้าย เช่น เป็นมะเร็ง หรือเพื่อนบางคนเมื่อวานยังคุยกันอยู่ดีๆ วันนี้ไปโรงพยาบาลหมอกลับบอกว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกไปซะแล้ว เจอข่าวประเภทนี้เข้าไปหลายคนเลยโรคปอดรับประทาน กล่าวคือปอดแหกกลัวตายต้องรีบแจ้นมาให้หมอเช็คสุขภาพให้ บางคนกลัวน้อยหน่อยหมออยากจะเช็คอะไรก็แล้วแต่คุณหมอจะกรุณาเถอะค่ะ แต่รายที่กลัวมากหน่อยก็อาจจะขอร้องแกมบังคับให้คุณหมอตรวจเช็คสารพัดไปหมด คำขอที่ผมมักได้รับก็เช่น “คุณหมอช่วยตรวจให้ละเอียดหมดทุกอย่างเลยนะคะ” ผมเป็นหมอมานานแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจเลยว่าที่จะให้ตรวจละเอียดทุกอย่างจะเอากันแค่ไหนดี  ต้องตรวจละเอียดขนาดดูเส้นผมทีละเส้นเลยหรือเปล่าก็ไม่รู้

            - กลุ่มที่สาม พวกนี้พบมากที่สุด คือจะต้องมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นจึงไปหาหมอ เช่น รู้สึกผอมลง ปวดศีรษะบ่อยๆ เป็นต้น บางคนถึงมีอาการผิดปกติแต่ยังไม่ยอมมาหาหมอก็มีเหมือนกัน เช่นบางคนปวดท้องมาตั้งนานแล้วแต่ก็ไม่ยอมมาหาหมอ พอถามว่าทำไมถึงทนอยู่ได้ตั้งนานก็ตอบว่ากลัวหมอบอกว่าเป็นโรคร้ายแรงแล้วจะรับไม่ได้ แต่ที่ทนปวดอยู่นั้นรับได้   บางคนก็รีรอไม่มาหาหมอเพราะอายก็มี ผมเจอคนไข้จำนวนไม่น้อยที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมานานหลายเดือนจนซีดแหงแก๋ถึงจะมาหาหมอ  พอถามว่าทำไมถึงใจเย็นจัง พบว่าส่วนมากอยากมาตรวจเร็วๆกันทั้งนั้นเพราะก็รู้อยู่ว่าเรื่องเลือดตกยางออกน่ากลัวน้อยเสียเมื่อไหร่ แต่ที่กลัวมาก กว่าก็คือถ้ามาตรวจมีหวังถูกหมอจับตรวจภายในแหงเลย มันอายนะคะคุณหมอ แต่เมื่อทนมานานพอควรสงสัยเลือดไม่หยุดแน่แล้ว ความกลัวตายก็จะถูกปลุกขึ้นมาในความคิดจนมากกว่าความอาย และลงท้ายด้วยการมาหาหมอในที่สุด

เช็คสุขภาพ....ตรวจอะไรบ้าง ?
            ในการตรวจเช็คสุขภาพของคนเรา เอาเฉพาะทางการแพทย์ไม่รวมทางไสยศาสตร์ก็มีวิธีการตรวจมากมายนับร้อยนับพันวิธีอยู่แล้วยากที่จาระไนได้หมด อย่างไรก็ตามผมขอสรุปวิธีตรวจเช็คสุขภาพออกเป็น 3 ประเภทง่ายๆดังนี้นะครับ
            - ตรวจร่างกาย  คนที่เรียนเป็นแพทย์ทุกคนจะได้รับการสั่งสอนโดยครูบาอาจารย์ตั้งแต่เริ่มเป็นหมอเด็กๆ แล้วว่า ก่อนจะนำคนไข้ไปตรวจด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่วุ่นวายต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกายของคนไข้ก่อน การตรวจที่สำคัญประกอบด้วยการตรวจหลักๆเพียงไม่กี่อย่าง ได้แก่ การตรวจโดย “ ดู คลำ เคาะ ฟัง”
            คุณหมอที่ตรวจคนไข้มาเป็นเวลานาน บางครั้งแค่ดูรูปร่างลักษณะคนไข้ก็พอจะบอกโรคหรือความผิดปกติได้แล้วก็มี เช่น บางคนที่ดูตัวผอมบาง ซีด หน้าผากโหนก จมูกแบน แค่นี้ก็พอจะบอกได้แล้วว่าเป็นโรคเลือดธาลัสซีเมีย ผู้หญิงบางคนที่ตัวอ้วนๆ ผิวมัน สิวมาก ขนเยอะ พวกนี้มักมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ บางรายพอแต่งงานก็มีลูกยากเพราะไข่ไม่ตก  คนไข้บางคนดูเฉยๆบอกไม่ได้ แต่คลำที่คอพบว่าต่อมไทรอยด์โตก็มี บางคนไม่มีอาการอะไร พอตรวจภายในพบว่าเป็นเนื้องอกมดลูกก้อนเบ้อเริ่มเลยก็มี  บางคนมาตรวจเพราะแน่นท้อง พอหมอจับให้นอนลง และเคาะที่ท้องพบว่ามีน้ำเต็มท้องก็มี บางคนพอใช้หูฟังฟังที่ปอดพบมีเสียงผิดปกติที่เกิดจากโรคปอดสารพัดชนิดก็มี
            การตรวจร่างกายที่ละเอียดลออบางครั้งไม่ต้องตรวจอะไรต่อก็พอบอกได้แล้วว่าคนไข้เป็นโรคอะไร หรือถ้าจำเป็นจะต้องตรวจด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออะไรต่อ คุณหมอก็อาจจะเลือกใช้วิธีตรวจบางอย่างเพียงไม่กี่วิธีก็สามารถสรุปได้แล้วว่าคนไข้เป็นโรคอะไร
            - ตรวจเลือด  การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายคนเราไม่ว่าจะเป็น ตับ ไต หัวใจหรืออวัยวะอื่น ๆ จะมีการสร้างสารเคมีชนิดต่างๆ ออกมากันอย่างมากมาย สารเคมีเหล่านี้ส่วนมากจะล่องลอยปะปนกันอยู่ในกระแสเลือดของคนเรานั่นเองแหละครับ เมื่อเราอยากทราบว่าอวัยวะใดของคนเราทำงานผิดปกติไปหรือเปล่าแทนที่จะต้องไปตรวจอวัยวะนั้นๆโดยตรง ก็สามารถตรวจโดยดูปริมาณสารเคมีที่สร้างมาจากอวัยวะนั้นๆแทนได้ เพราะการเจาะเลือดมาตรวจทำง่ายกว่าการตรวจอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต โดยตรง
            การเจาะเลือดมาตรวจบางครั้ง ก็บอกได้เลยว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แต่บางครั้งเจาะมาแล้วก็ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไรเพียงแต่อาจจะบอกแนวโน้มว่าน่าจะเป็นโรคอะไร และคนไข้ต้องรับการตรวจด้วยวิธีที่ยุ่งยากมากขึ้นต่อไป เป็นไงครับแค่อ่านก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมครับ
            เกี่ยวกับการตรวจเลือดผมมีเรื่องที่อยากให้คุณผู้อ่านเข้าใจซักเล็กน้อยว่าไม่อยากให้จริงจังกับผลที่ได้มามากนักนะครับ เพราะค่าตัวเลขของสารเคมีในเลือดที่เจาะออกมาได้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บางคนเจาะเลือดหาค่าสารเคมีตัวเดียวกันแต่คนละเวลากันค่ายังต่างกันได้เลย    นอกจากนี้การแปลผลการตรวจเลือดบางครั้งก็ไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยการประมวลข้อมูลหลายอย่างทั้งผลการตรวจร่างกายและการดูผลเลือดหลายๆ ตัวรวมกันจึงจะบอกได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ คุณผู้อ่านบางคนที่ชอบตรวจเลือดเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์บางครั้งเจอผลผิดปกติก็อาจตกใจเกินกว่าเหตุก็ได้  ผมอยากเรียนว่าการดูผลเลือดแบบทื่อๆเป็นตัวๆไป บางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ครับ

- มีต่อตอนที่ 2 -

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด