สารโฟเลตกับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

สารโฟเลตกับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

อ.พญ.นันตรา สุวันทารัตน์ , รศ.สมพงษ์ องอาจยุทธ
ภาควิชาชีวเคมี
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease) เป็นโรคที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของชาวไทยในปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ นั้นยังไม่ชัดเจนแต่จากการศึกษาพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ อายุ และเพศ (เพศชายอายุมากกว่า 45ปี, เพศหญิงอายุมากกว่า 55 ปีหรือวัยหมดประจำเดือน)โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะไขมันในเลือดสูงม น้ำหนักตัวมาก, การสูบบุหรี่ และภาวะที่มีสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูง เป็นต้น
 
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ประกอบด้วย
           1.การรักษาด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ (ยาอมใต้ลิ้น,ยากลุ่มไนเตรต) ยาลดการจับกันของเกล็ดเลือด ( เช่น ยาแอสไพริน ) และยาลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น 
           2.การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มาก  ในปัจจุบันมีการศึกษาเป็นที่ยืนยันแล้วว่า ภาวะที่มีสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูงมีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และการให้สารโฟเลต ร่วมกับวิตามินบี 6 และ บี 12 จะช่วยลดภาวะที่มีสารโฮโมซิสเทอีนเลือดสูงได้   สารโฟเลต หรือ กรดโฟลิกหรือโฟลาซิน เป็นสารอาหารจำพวกวิตามินบี  ร่างกายต้องการสารโฟเลตวันละ 400 ไมโครกรัม ซึ่งสามารถรับประทานได้เพียงพอ ในอาหารประจำวันหากกินหลากหลายครบหมู่ แหล่งของสารโฟเลตสำคัญคือ อาหารจำพวกผักใบเขียว ถั่วเมล็ดแห้ง ส้ม ผักสีเขียว ถั่วลิสง คะน้า แตง เมล็ดทานตะวัน มะเขือเทศ สารโฟเลตนี้มีความสำคัญในการสร้างสารพันธุกรรมในเซลล์ ( DNA,RNA ) การแบ่งตัวของเซลล์ดังนั้นการขาดสารนี้จึงมีผลให้เม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติ เป็นโรคโลหิตจางได้ ( megaloblastic anemia ) หากขาดในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้การเจริญของหลอดประสาทในทารกไม่สมบูรณ์  ( neural tube defect ) นอกจากนี้การขาดสารโฟเลตจ ะทำให้มีปริมาณสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูงมากกว่าปกติ และจะพบภาวะที่มีสารโฮโมซิสเทอีนเลือดสูงมากขึ้นถ้ามีการขาดวิตามินบี6 และบี12 ร่วมด้วย ซึ่งภาวะนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว
            มีการศึกษาในปัจจุบันที่ยืนยันได้ว่าการให้สารโฟเลตร่วมกับการให้วิตามินบี6 และวิตามินบี12 สามารถลดระดับของสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  และการให้สารโฟเลตปริมาณ 1 กรัมต่อวัน ไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบถึงผลกระทบในระยะยาว จึงยังคงต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป และเนื่องจากการศึกษาส่วนมากยังทำในผู้ป่วยจำนวนไม่มากและระยะเวลาไม่นาน
            แม้ว่ายังไม่มีการแนะนำอย่างเป็นทางการในการให้ใช้สารโฟเลตในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่จากการที่สารโฟเลตสกัดในรูปเม็ดยานั้นเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย และราคามีราคาถูก รวมถึงยังไม่พบผลข้างเคียงในการรักษาใด ๆ แพทย์ทั่วไปจึงนิยมใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วย

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด