การดูแลฟันในผู้สูงอายุ ตอนที่ 2

การดูแลฟันในผู้สูงอายุ  ตอนที่ 2

ทพ.สมนึก   วัฒนสุนทร 
งานทันตกรรม รพ.ศิริราช
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            อาหารอีกประการหนึ่งคือ อาหารแป้ง น้ำตาลและของหวานต่างๆ ควรลดปริมาณในการบริโภค อาหารพวกนี้ทำให้เกิดคราบพลัคเกาะติดฟันง่าย ทำให้เกิดคราบหินปูน เหงือกอักเสบ หรือฟันผุ และบางครั้งก็มีผลเสียต่อโรคทางระบบด้วย เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
            อาหารหวานรับประทานได้แต่อย่าให้มาก หรืออย่ารับประทานเป็นประจำ ฟันปลอมมีชนิดใดบ้าง ฟันปลอมชนิดถอดได้ จะทำในรายที่เสียฟันไปหลายซี่ ฟันปลอมชนิดนี้จะมีตะขอเกาะกับฟันจริงโดยไม่ต้องกรอฟันจริงเสีย มีส่วนของเพดานปลอมยึดเพิ่มความแน่นกระซับขณะใส่จะมีความรำคาญบ้างในระยะแรก แต่จะค่อยๆ เคยชินขึ้น ข้อดีก็คือ สามารถถอดออกทำความสะอาดได้ด้วยตนเองหลังรับประทานอาหาร ทำให้เกิดความสะอาด เศษอาหารไม่หมักหมม ผู้สูงอายุที่จะใส่ฟัน ควรปรึกษากับทันตแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำว่าควรจะใส่ชนิดใดจึงจะเหมาะสม โดยทั่วๆ ไปเท่าที่พบ ผู้สูงอายุส่วนมากจะมีการเสียฟันไปแล้วหลายๆ ซี่ เพราะปัญหาโรคเหงือกที่เป็นมานานแล้ว หรือเพราะฟันผุแตกบิ่นต้องถอนออกไป ดังนั้นจึงมักจะต้องใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้หรือฟันปลอมทั่วปาก
            มีข้อแนะนำว่า ควรใช้ฟันปลอมเคี้ยวอาหารด้วยความระมัดระวัง อย่ารีบ เพราะจะกัดแก้ม กัดริมฝีปาก หรือกัดลิ้นได้ง่าย เพราะฟันบริเวณนั้นๆ ไม่มีความรู้สึก เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วควรถอดฟันออกล้างทุกครั้ง อย่าปล่อยให้มีเศษอาหารติดค้างอยู่ใต้ฟันปลอม เพราะจะทำให้เหงือกอักเสบ เจ็บและทำให้เกิดกลิ่นเหม็นในปาก ขณะใช้ฟันปลอม ควรสังเกตดูความแน่นกระซับกับเหงือกว่าเหมือนเมื่อแรกใส่หรือเปล่าถ้าหลวม ไม่กระซับเหมือนเดิม ควรไปพบทันตแพทย์ใหม่อีกครั้ง เพื่อตรวจดูความปกติ ถ้าเป็นฟันปลอมที่มีตะขอเกาะ ถ้าตะขอหลวมควรปรับความแน่นเสียใหม่ แต่ถ้าฟันปลอมทั้งปากเกิดหลวม มักเป็นเพราะฐานเหงือกและกระดูกมีการยุบตัว ควรเสริมฐานฟันปลอมใหม่ หรือถ้าหลวมมากและใช้มานานแล้วควรทำชุดใหม่ ฟันปลอมแต่ละชุดมีอายุการใช้งานประมาณ 3-4 ปี ควรเปลี่ยนใหม่ ในกรณีที่เหงือกยุบแล้ว ถ้ายังฝืนใช้ฟันชุดเดิมอยู่จะทำให้รูปทรงของใบหน้าส่วนล่างเสียไปด้วย แก้มจะตอบ คางจะหดสิ้น ริมฝีปากห่อ ทำให้ดูแก่โทรม ในเวลากลางคืนก่อนนอน ควรถอดฟันปลอมออก แปรงฟันที่มีอยู่ให้สะอาดและเอาฟันปลอมใส่แก้วแช่น้ำไว้ในที่ๆ ปลอดภัย ช่วงเวลาที่นอนหลับจะเป็นช่วงที่เหงือกพักตัวด้วย เพราะไม่มีน้ำหนักของฟันปลอมกดอยู่ เหงือกจะสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ
            การใช้ฟันปลอม ต้องระมัดระวังและดูแลตนเองอยู่เสมอด้วย เหงือกที่เป็นแผลหรือมีรอยเจ็บอยู่ตลอดเวลา ไม่หายขาด รวมทั้งส่วนอื่นๆ เช่น ริมฝีปาก เพดาน กระพุ้งแก้ม ลิ้น แผลที่เกิดขึ้นควรหายได้เองในเวลา 1 สัปดาห์ ถ้าเกินกว่านี้ ควรสงสัยและรีบไปตรวจกับทันตแพทย์ เพราะในวัยสูงอายุ ถ้าเนื้อเยื่อในช่องปากขูดกับฟันจริงหรือฟันปลอม จะทำให้เกิดแผลมะเร็งขึ้นได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีอันตรายและการรักษาก็ยุ่งยาก

ผู้สูงอายุควรดูแลรักษาฟันอย่างไร
            ผู้สูงอายุที่ยังมีฟันจริงเหลืออยู่ทั้งหมด หรือมีฟันจริงบางส่วน และใส่ฟันปลอมบางส่วน ควรดูแลฟันจริงที่มีอยู่นั้นให้ดีและแข็งแรงอยู่ตลอดไป โดยดูแลอย่าให้เกิดรูผุขึ้นใหม่ด้วยการแปรงฟันให้สะอาดอยู่เสมอ ขนแปรงควรใช้อย่างอ่อน และแปรงฟันให้ถูกหลักวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการสึกของผิวฟัน ขณะที่เคี้ยวอาหารต้องระวับเศษอาหารแข็งที่อาจจะทำให้เกิดฟันบิ่นแตก
            นอกจากนี้ก็ดูแลเรื่องเหงือก อย่าให้เกิดอักเสบด้วยการแปรงฟันให้สะอาด ขัดคราบจับผิวฟัน และไปพบทันตแพทย์ เพื่อขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆ ฟันที่ดี ไม่มีรอยผุ รอยบิ่น แตก เหงือกแข็งแรง ไม่มีโรคเหงือกอักเสบ หรือเหงือกบวมเพราะโรครำมะนาด ฟันก็จะมีความแข็งแรงอยู่ได้ตลอดไป สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้เหมือนเดิม หรือสามารถใช้เป็นตัวเกาะฟันปลอมชนิดถอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุขภาพในช่องปากก็จะดีอยู่ตลอดไป ส่วนผู้ที่ไม่มีฟันจริงเหลืออยู่แล้ว ต้องใช้ฟันปลอมทั้งปาก ก็ต้องดูแลสภาพเหงือกและส่วนอื่นๆ ในช่องปากให้ดีอยู่เสมอ อย่าให้เกิดมีแผลเจ็บหรืออักเสบ ถ้ามีแผลต้องพยายามรักษาให้หาย ฟันปลอมที่ใช้ต้องหมั่นดูแลให้สะอาด อย่าปล่อยให้มีเศษอาหารจับเป็นคราบ เพราะทำให้แลดูสกปรกและเกิดกลิ่นเหม็น ฟันปลอมที่ใช้มานานควรเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้มีความแนบกระซับอยู่เสมอ ขณะเคี้ยวอาหารต้องไม่กดจุดใดจุดหนึ่งให้เจ็บ ถ้าเจ็บต้องไปหาทันตแพทย์เพื่อแก้ไข
            ผู้สูงอายุมักจะแยกได้ 2 ประเภท คือ ผู้สูงอายุที่แข็งแรงไม่มีโรคภัยประจำตัว สภาพในช่องปากเหงือกและฟันก็จะแข็งแรงไปด้วย อีกประการหนึ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคไขข้ออักเสบ ปัญหาเหล่านี้จะทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมลง สภาวะในช่องปากก็จะเลวลงไปด้วย เช่น มีโรคเหงือกอักเสบมาก มีหนองไหลซึม ฟันโยก เคี้ยวอาหารได้ไม่ดี ความสกปรกในช่องปากจะเป็นจุแพร่เชื้อโรคไปสู่ร่างกายส่วนต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อที่สุขภาพในช่องปากจะได้แข็งแรงตามไปด้วย 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด