เป็นโรคหัวใจแล้วตั้งครรภ์ ตอนที่ 1

เป็นโรคหัวใจแล้วตั้งครรภ์

รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            การตั้งครรภ์ขณะที่คุณแม่เป็นโรคหัวใจอยู่ด้วย ก่อให้เกิดปัญหาต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ได้หลายประการ เช่น คุณแม่อาจจะเกิดภาวะหัวใจวายได้ ในขณะที่ลูกในครรภ์ก็มักจะมีการเจริญเติบโตไม่ค่อยดี       คุณแม่ที่เป็นโรคนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและอย่างระมัดระวังทั้งในขณะที่ตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด

หัวใจ
            หัวใจเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก โครงสร้างเกือบทั้งหมดเป็นกล้ามเนื้อ มีขนาดประมาณกำปั้นมือของผู้เป็นเจ้าของ วางอยู่ในทรวงอกค่อนมาทางด้านซ้าย ทำหน้าที่เป็นเครื่องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หัวใจเต้นประมาณ 70-80 ครั้งต่อนาทีตลอดชีวิต ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยเลย เครื่องสูบฉีดคู่
            จริงๆ แล้วหัวใจจะทำหน้าที่คล้ายเครื่องสูบฉีด 2 เครื่องที่อยู่ติดกัน โดยแบ่งเป็นเครื่องสูบฉีดซีกขวาเครื่องหนึ่ง และเครื่องสูบฉีดซีกซ้ายอีกเครื่องหนึ่ง โดยแต่ละซีกแยกการสูบฉีดเลือดออกจากกันอย่างสมบูรณ์ หัวใจซีกขวาสูบฉีดเลือดดำหรือเลือดที่ผ่านการใช้แล้วไปฟอกที่ปอด ในขณะที่หัวใจซีกซ้ายสูบฉีดเลือดแดงหรือเลือดที่ผ่านการฟอกจากปอดแล้วไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย 
            หัวใจแต่ละซีกมี 2 ห้อง หัวใจห้องบนเรียกชื่อว่า เอเทรียม (atrium) หัวใจห้องล่างเรียกว่าเวนทริเคิล (ventricle) เอเทรียมขวาทำหน้าที่รับเลือดจากหลอดเลือดดำ ในขณะที่เอเทรียมซ้ายทำหน้าที่รับเลือดแดงจากปอด     แล้วจะบีบตัวพร้อมกันเพื่อขับเลือดเข้าไปในเวนทริเคิล โดยเลือดดำเข้าเวนทริเคิลขวาและเลือดแดงเข้าเวนทริเคิลซ้ายภายหลังรับเลือด เวนทริเคิลทั้ง 2 ข้างจะฉีดเลือดพร้อมกัน   โดยเวนทริเคิลขวาจะฉีดเลือดดำไปยังปอดเพื่อฟอกให้เป็นเลือดแดง และเวนทริเคิลซ้ายจะฉีดเลือดไปส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อให้นำไปใช้ในการทำงาน   ผนังของเวนทริเคิลทั้ง 2 ข้างจะหนากว่าผนังของเอเทรียมทั้ง 2 ข้างมาก เพราะต้องออกแรงฉีดเลือดแรงกว่าเอเทรียมทั้ง 2 ข้าง ระหว่างเอเทรียมกับเวนทริเคิลแต่ละด้านจะมี ลิ้นหัวใจ คอยเปิดปิดอยู่ เมื่อเอเทรียมบีบตัวขับเลือดลงมายังเวนทริเคิล ลิ้นหัวใจจะเปิดออกเพื่อให้เลือดไหลลงมาได้ แต่เมื่อเวนทริเคิลบีบตัวขับเลือดไปยังปอดหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลิ้นหัวใจจะปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าไปในเอเทรียม ลิ้นหัวใจที่ปิดระหว่างหัวใจห้องบนขวาและล่างขวาเรียกชื่อว่า ลิ้นไทรคัสพิด (Tricuspid valve) ส่วนลิ้นหัวใจที่ปิดระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้ายเรียกชื่อว่า ลิ้นไมทรัล (Mitral valve)

โรคหัวใจ
            โรคหัวใจมีมากมายหลายชนิด ทั้งชนิดที่เป็นความพิการมาตั้งแต่เกิด หรือเป็นโรคที่เกิดขึ้นในภายหลัง 
โรคหัวใจที่เป็นความพิการแต่กำเนิด
            เช่น ผนังระหว่างหัวใจซีกซ้ายและขวามีรูรั่วถึงกัน ทำให้เลือดดำและเลือดแดงมาผสมกัน ห้องหัวใจเวนทริเคิลมีขนาดเล็กกว่าปกติ ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยกว่าปกติ
            สาเหตุของโรคในกลุ่มนี้มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตัวผู้ป่วยเป็นทารกอยู่ในครรภ์ของแม่ตัวเอง แล้วคุณแม่ของผู้ป่วยมีปัญหาบางประการ เช่น ไปรับประทานยาที่มีอันตรายบางชนิด หรือมีการติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น หัดเยอรมัน เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ตัวผู้ป่วยเกิดความพิการของหัวใจในที่สุด
        
โรคที่เกิดขึ้นภายหลัง 
            เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ ทำให้เลือดไหลจากเอเทรียมลงมายังเวนทริเคิลได้น้อย  โรคลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้เลือดไหลย้อนกลับจากเวนทริเคิลไปเอเทรียม  ทั้งสองกรณีนี้ จะทำให้เลือดถูกสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย และถ้าเป็นนานอาจทำให้หัวใจวายตายได้
            สาเหตุของโรคในกลุ่มนี้มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งเมื่อเข้าไปในเลือดแล้ว สามารถไปเกาะและทำลายลิ้นหัวใจได้ ทำให้ลิ้นหัวใจที่เคยเป็นเนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่นได้ดีคล้ายประตูที่เปิดปิดได้สนิท กลายเป็นประตูที่ฝืดมาก เปิดได้ไม่เต็มที่ (กรณีเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบ) หรือเปิดได้มากเกินไปจนปิดกั้นอะไรไม่ได้ (กรณีเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว)

ไข้รูมาติกคืออะไร ?
            ไข้รูมาติกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เบต้า ฮีโมลัยติก เสตร็บโตคอคคัส (b-hemplytic streptococcus) ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในแหล่งที่ง่ายต่อการติดเชื้อ เช่น ในโรงเรียน ในตลาด หรือในโรงพยาบาล คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้คล้ายเป็นไข้เจ็บคอตามธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือ อาจจะมีอาการปวดตามข้อ หรือเจ็บหน้าอกร่วมด้วย บางรายอาจมีก้อนนูนขึ้นใต้ผิวหนังที่บริเวณต่างๆ ด้วย ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานไม่รีบไปหาแพทย์เพื่อรับการรักษาเชื้อโรคจะลุกลามไปทำลายลิ้นหัวใจได้ โดยเชื้ออาจจะอยู่ได้เป็นเวลายาวนานหลายปีแม้ว่าอาการไข้จะหายไปแล้วก็ตาม 

โรคหัวใจกับการตั้งครรภ์
            ปกติการตั้งครรภ์เองก็ทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเสี่ยงต่อการที่จะเจ็บท้องแล้วไม่ยอมคลอด ตกเลือดหลังคลอด เสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด ฯลฯ แต่ถ้ามีโรคหัวใจร่วมด้วยความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
           • ผลต่อแม่
 ขณะตั้งครรภ์ปริมาณเลือดในร่างกายของคุณแม่จะเพิ่มมากขึ้นถึงประมาณ 1 ลิตรเลยทีเดียว ทั้งนี้เพื่อนำส่วนหนึ่งไปเลี้ยงลูกด้วย การเพิ่มปริมาณของเลือดเช่นนี้ในคุณแม่ที่ปกติจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ในคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจ การที่ต้องแบกรับปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มีโอกาสหัวใจวายและเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น
            • ผลต่อลูกในครรภ์
 สำหรับลูกน้อยในครรภ์ที่มีการเจริญเติบโตขึ้นทุกวัน ก็มีความต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นด้วยเช่นกัน ผลดังกล่าวทำให้หัวใจของคุณแม่ต้องพยายามสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงลูกมากขึ้น ในคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจ ประสิทธิภาพของหัวใจจะลดลงทำให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงลูกได้ไม่มากพอ ลูกของคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจจึงมักมีการเจริญเติบโตได้น้อยกว่า ลูกของคุณแม่ที่ปกติ ซึ่งผลดังกล่าวจึงมักทำให้ลูกของคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจคลอดออกมาตัวเล็กกว่าปกติ 

-มีต่อตอนที่ 2-

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด