การตั้งครรภ์แฝด

การตั้งครรภ์แฝด

       ผศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์  บริบูรณ์หิรัญสาร
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การตั้งครรภ์แฝดเกิดจาก
            การตั้งครรภ์แฝดสามารถเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ  และเกิดจากเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ แฝดมี 2 ชนิดคือ
            - แฝดเหมือน เกิดจากไข่ 1 ใบได้รับการผสมตามกระบวนการธรรมชาติ  แล้วแบ่งตัวออกเป็น 2 จึงมีหน้าตาเหมือนกัน  เปอร์เซ็นต์การเกิดแฝดชนิดนี้คือ 1 : 250
            - แฝดไม่เหมือน เกิดจากไข่ 2 ใบ (หรืออาจมากกว่า) อาจเกิดจากการผสมทั้งตามธรรมชาติและจากการผสมเทียม เปอร์เซ็นต์การเกิดไม่แน่นอน ขึ้นกับหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกัน และใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นั่นเองที่ทำให้พบภาวะนี้ได้บ่อยมากขึ้นกว่าเดิม

รู้ได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์แฝด
            ในช่วงแรกนั้นอาการอาจไม่แตกต่างจากครรภ์ปกติ แต่คุณแม่บางคนมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ  อาจเป็นเพราะฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้นและที่ชวนให้สงสัยมากขึ้นคือขนาดของมดลูกโตกว่าที่ควรจะเป็น เช่น อายุครรภ์จริง 3 เดือน แต่มดลูกโตเท่าอายุครรภ์ 4 เดือน เป็นต้น
            เราสามารถรถวินิจฉัยครรภ์แฝดได้อย่างแน่นอนโดยการตรวจอัลตราซาวด์  ทั้งจำนวนของทารกในครรภ์ และผลของความสมบูรณ์และการเจริญเติบโตของเด็ก
ท้องแฝดต้องดูแลตัวเองอย่างไร
            - สิ่งแรกที่ควรทำคือไปฝากครรภ์ ซึ่งคุณหมอจะนัดตรวจบ่อยกว่าปกติ  เนื่องจากโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมีมากกว่า  และเพื่อตรวจดูการเจริญเติบโตของเด็กว่าเป็นอย่างไร
            - เรื่องของอาหารการกิน  คุณแม่ครรภ์แฝดต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารมากกว่าแม่ตั้งครรภ์ปกติ  อาหารที่ให้พลังงานต้องเพิ่มจากปกติอย่างน้อย 200-300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน  ควรเป็นอาหารพวกเนื้อสัตว์ ส่วนจำพวกแป้งและน้ำตาลคุณหมอไม่แนะนำมาก เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอ้วนได้
            - เรื่องของยาบำรุงต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็กและโฟลิก โดยทั่วไปตอนฝากครรภ์คุณหมอจะต้องให้เสริมอยู่แล้ว ยิ่งครรภ์แฝดก็ต้องเพิ่มขนาดตามไปด้วย เช่น ยาธาตุเหล็กแทนที่จะรับประทานวันละเม็ด ก็อาจจะต้องรับประทานวันละ 2-3 เม็ด
ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวัง
            การตั้งครรภ์แฝดมีโอกาสผิดปกติได้ เช่น
           • ปัญหาเรื่องซีด ซึ่งจำเป็นต้องได้ธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น
           • ความดันโลหิตสูง
           • เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
           • การตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากมดลูกเกิดการยืดขยายมากและหดรัดตัวไม่ค่อยดีหลังคลอด  จึงมีโอกาสที่จะตกเลือดหลังคลอดได้
           • TT TS (Twin to Twin Transfusion Syndrome)  คือมีเลือดวิ่งถ่ายเทระหว่างเด็กในครรภ์ด้วยกัน โดยคนหนึ่งให้อีกคนรับ เป็นภาวะที่เส้นเลือดมาต่อกันโดยบังเอิญ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือคนที่ให้ก็ไม่โตสักทีตัวเล็ก คนรับก็อ้วนท้วนสมบูรณ์
  
            ในกรณีที่เป็นมากส่วนใหญ่คนที่เสียชีวิตคือคนที่ตัวโต เพราะเกิดภาวะเลือดข้น หัวใจวาย บวมน้ำ เพราะว่าได้รับมากเกินไป แต่ถ้าขนาดต่างกันนิดหน่อยไม่เกิน 10-20 เปอร์เซ็นต์จะไม่มีปัญหา และในกรณีที่ลูกเสียชีวิตไปคนหนึ่งตั้งแต่อยู่ในครรภ์ด้วยสาเหตุใดก็ตาม  คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้  ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่เสียชีวิตออก เพราะเมื่อเสียชีวิตเขาจะหยุดโต ไม่มีการเน่าเสียเพราะไม่ได้เจอเชื้อโรคภายนอก ส่วนอีกคนก็โตได้ตามปกติได้
            สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์โดยการใช้ผสมเทียม  โอกาสเกิดการตั้งครรภ์แฝดจะมีมาก  ถ้าเป็นแฝดที่มากกว่า 2 คน โอกาสมีภาวะแทรกซ้อนก็มากขึ้นตามไปด้วย  การที่เด็กแฝดคลอดออกมาหลาย ๆ คน แล้วทุกคนแข็งแรงปลอดภัยดี ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อย ทางที่ดีไม่ควรใส่ตัวอ่อนมากเกินไป ถ้าอยากได้แฝดก็เป็นแฝด 2 หรือ 3 คนก็พอ


 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด