อยู่เป็นสุขกับโรคเอส แอล อี

อยู่เป็นสุขกับโรค เอส แอล อี

ภาควิชาตจวิทยา
    Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           เมื่อเห็นชื่อเรื่องผู้อ่านอาจแปลกใจว่าเป็นโรค เอส แอล อี แล้วจะมีความสุขได้อย่างไร ? ขอยืนยันว่าเป็นไปได้ ตัวอย่างโรคที่พบบ่อยและผู้ป่วยสามารถอยู่เป็นสุขกับโรคนั้นได้คือ โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่ไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยเป็นจำนวนมากก็อยู่กับโรคเบาหวานด้วนความสงบสุข เพราะผู้ป่วยเรียนรู้และเข้าใจเรื่องเบาหวานดี รู้ว่าปัจจัยอะไรทำให้โรคกำเริบ และปัจจัยอะไรทำให้โรคสงบ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกับมนุษย์มี 2 ประการคือ สิ่งแวดล้อม และตัวผู้ป่วย โรคบางโรคปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยเด่น โรคบางโรคปัจจัยที่ตัวอยู่ป่วยเป็นปัจจัยหลัก แต่โรคส่วนใหญ่มักเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมกับตัวผู้ป่วย เช่น โรค เอส แอล อี เป็นต้น ถ้าจะอยู่เป็นสุขกับโรค เอส แอล อี ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้โรคกำเริบ และมีปัจจัยอะไรที่ช่วยให้โรคสงบ

โรค เอส แอล อี คืออะไร ?
           โรค เอส แอล อี เป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย โดยมีปัจจัยแวดล้อมบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้ความผิดปกติปรากฎชัดขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติของผู้ป่วยจะทำร้ายเนื้อเยื่อตัวเองโดยการสร้างสารเคมีกลุ่มอิมมูโนโกลบูลิน และ/หรือ เซลล์ลิมซ์โฟซัยต์ ไปทำให้เกิดการอักเสบที่หลอดเลือด และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของอวัยวะต่าง ๆ เป็นผลให้อวัยวะนั้นเกิดการอักเสบและเสียหน้าที่ อวัยวะที่มีการอักเสบบ่อยในโรคนี้คือ ไขข้อ ผิวหนัง ไต ระบบโลหิตวิทยา หัวใจ ปอด ระบบประสาท เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า โรค เอส แอล อี มีอาการและอาการแสดงได้เกือบทุกอวัยวะ

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรค เอส แอล อี ?
           ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่ก่อน แล้วมีปัจจัยภายนอกบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค ปัจจัยภายนอกเหล่านี้ได้แก่ แสงแดด ความร้อน ยาบางชนิด เชื้อโรคความเครียดทางจิตใจ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบางอย่างภายในตัวผู้ป่วยเอง เช่น ฮอร์โมนเพศภายในตัวผู้ป่วย จึงพบเพศหญิงเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชายถึง 10 เท่า อายุก็เป็นปัจจัยภายในอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค จึงพบโรคนี้บ่อยในช่วงอายุ 15-40 ปี ที่สำคัญคือ แนวโน้มทางพันธุกรรม

โรค เอส แอล อี มีอาการอย่างไร ?
           อาการจากที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการปวดตามข้อต่าง ๆ เอ็นและกล้ามเนื้อ ข้อต่าง ๆ อาจพบอาการอักเสบแดง ร้อนบริเวณข้อ อาการทางผิวหนัง ที่สำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของโรค คือ ผื่นผิวหนังอักเสบที่แก้มทั้ง 2 ข้าง และดั้งจมูกทำให้ผื่นมีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ผื่นผิวหนังอักเสบมีหลายรูปแบบดังนี้ ผื่นแดงราบ ผื่นแดงนูนมีสะเก็ดลอกเป็นขุยตรงกลางผื่นอาจยุบลงกลายเป็นแผลเป็น ผื่นอาจเป็นสีดำสลับขาวเป็นต้น อาการผมร่วงมากผิดปกติพร้อมกับมีหนังศีรษะอักเสบแดงก็เป็นอาหารหนึ่งของโรค อาการบวมที่หน้า ท้อง และขาทั้ง 2 ข้างเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติของไต อาการซีด เลือดออกตามไรฟัน จุดเลือดออกตามตัวแสดงถึงความผิดปกติของระบบโลหิตวิทยา ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการชักเพราะมีความผิดปกติทางระบบประสาท ผู้ป่วยโรค เอส แอล อี แต่ละรายจะมีอาการแสดงของโรคที่ระบบใดระบบหนึ่งเพียงระบบเดียว หรือมีอาการแสดงของโรคพร้อม ๆ กันหลายระบบ หรือเริ่มมีอาการที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งก่อนแล้วต่อมาเกิดอาการที่อวัยวะอื่นตามมาภายหลังก็ได้

เมื่อมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรค เอส แอล อี ควรทำอย่างไร ?
           ผู้มีอาการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วและสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรค เอส แอล อี ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ และถ้าเป็นจริงควรได้รับการประเมินว่าโรคเกิดกับอวัยวะใดบ้าง ? ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้นับการตรวจร่างกายโดยละเอียด พร้อมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ และถ่ายภาพรังสีทรวงอก

เมื่อทราบว่าเป็นโรค เอส แอล อี ควรปฏิบัติอย่างไร ?    
1. อย่าตกใจ เพราะโรคนี้สามารถรักษาและควบคุมได้ด้วยยา ถ้าผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนะอย่างถูกต้อง โรคก็จะหายไปได้
2. รักษาสุขภาพทั่วไป ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังแต่พอควร หลีกเลี่ยงจากสิ่งเสพติดทุกชนิด และฝึกหัดทำจิตใจให้สงบจะช่วยให้ควบคุมโรคได้ง่าย
3. ต้องปรึกษาหารือกับแพทย์ผู้ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ให้ปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแล ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ผู้ดูแลรักษาบ่อย ๆ ถ้าต้องการเปลี่ยนแพทย์ผู้ดูแลเนื่องจากเหตุจำเป็นบางประการ ควรขอข้อมูลของการเจ็บป่วยและการดูแลรักษานำติดตัวไปให้แพทย์ผู้ดูแลท่านใหม่เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการดูแลรักษาต่อไป
4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแลรักษา เช่น รับประทานยาให้ตรงตามเวลาและขนาดที่กำหนด มาติดต่อกับแพทย์ผู้ดูแลรักษาตามเวลานัดหมาย
5. ควรฝึกหัดทำจิตใจให้สงบเย็น โดยการเข้าฝึกอบรมสมาธิเมื่อมีโอกาส
สิ่งที่ผู้ป่วยโรค เอส แอล อี ไม่ควรปฏิบัติ :
1. ไม่ควรออกแดดจัดทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแจ้งควรใช้ร่มและยาทาป้องกันแสงแดด
2. หลีกเลี่ยงจากสภาพทางฟิสิกส์ที่รุนแรง เช่น อาการเย็นจัด ร้อนจัด การใช้กำลังกายหนัก ๆ
3. หลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ
4. ไม่ควรทดลองรักษาโรคตนเองด้วยยาต่าง ๆ เช่น ยาไทย ยาหม้อ ยาจีน เป็นต้น
เพราะอาจเกิดอาการแพ้ยาแทรกซ้อนทำให้โรคกำเริบ
 
           เมื่อผู้ป่วยปฏิบัติตามที่ได้แนะนำมาแล้ว เชื่อว่าท่านจะสามารถอยู่เป็นสุขกับโรค เอส แอล อี ได้ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ไม่สามารถควบคุมและหลีกเลี่ยงได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ป่วยอาจยังมีอาการของโรคอยู่บ้าง ผู้ป่วยควรวางจิตใจให้เหมาะสมและรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ อาการของโรคจะไม่รุนแรงและสงบลงได้ในที่สุด


 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด