เมื่อคุณแม่คลำก้อนผิดปกติที่เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์

เมื่อคุณแม่คลำก้อนผิดปกติที่เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์

รศ.นพ.ศุภกร  โรจนนินทร์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เมื่อคุณแม่คลำก้อนผิดปกติที่เต้านมได้ในระหว่างตั้งครรภ์
            ปัจจุบัน เมื่อสตรีตั้งครรภ์ก็ฝากท้องกับสูติแพทย์ตั้งแต่ 2-3 เดือนแรกกันเลยทีเดียว  สูติแพทย์จะตรวจเต้านมของผู้ฝากครรภ์ก่อนเสมอ  ถ้าพบสิ่งผิดปกติใด ๆ ที่เต้านมก็จะส่งมาปรึกษาศัลยแพทย์  ทำไมสูติแพทย์ไม่ทำการรักษาเต้านมด้วยเลย  จะได้เป็นการรักษาครบวงจรของอวัยวะเพศหญิงทั้งหมดอันนี้เป็นสิ่งที่ตอบยากครับ  เพราะในประวัติศาสตร์ของวงการแพทย์ทั่วโลกเต้านมนั้นอยู่ในมือศัลยแพทย์  แต่ระบบอวัยวะเพศอื่น ๆ ทั้งหมดของสตรีและการคลอดบุตรอยู่ในมือของแพทย์ทางสูตินรีเวช  ยกเว้นที่ประเทศเยอรมัน  และบางแห่งในสหรัฐอเมริกา  ที่สูติแพทย์เริ่มจะทำการรักษาโรคเต้านมด้วย  ซึ่งอีกหน่อยศัลยแพทย์ก็คงจะตกงานเป็นแน่
            การพบก้อนผิดปกติที่เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์นั้นพบได้บ่อยครับ  แต่ส่วนใหญ่แล้ว  มักเป็นก้อนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำนม  หรือเนื้อเต้านมที่เจริญเพิ่มขึ้นจนดูคล้ายก้อนเนื้องอก  ส่วนน้อยจะพบก้อนเนื้องอกจริง ๆ   ซึ่งมีทั้งเนื้องอกชนิดธรรมดาที่เรียกว่า ไพโบรอะดีโนมา (fibroadenoma)  รวมทั้งมะเร็งเต้านม  และบางครั้งก็เป็นถุงน้ำ
            ส่วนใหญ่ไม่คิดว่ามะเร็งจะเกิดในช่วงตั้งครรภ์  ด้วยมักจะเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุน้อย  รวมทั้งการตรวจเต้านมที่กำลังขยายตัวและเนื้อแน่น ๆ ทำให้ตรวจได้ไม่ชัดเจน  เป็นเหตุให้มะเร็งเต้านมในหญิงตั้งครรภ์มักจะถูกตรวจพบเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า  ค่าเฉลี่ยที่พบในหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์  มะเร็งที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์  มักจะโตได้รวดเร็วกว่า  เพราะได้รับการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศสูง  จึงทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่ากับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วไป  แต่ถ้าเปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งในระยะการเกิดมะเร็งที่เท่ากัน  ผลการรักษาก็ไม่แตกต่างกันนัก
 
            การรักษามะเร็งเต้านมในระหว่างตั้งครรภ์นั้นมีความซับซ้อนมาก  เพราะต้องพิจารณาหลาย ๆ อย่างประกอบกันตั้งแต่เรื่องเต้านม  ตัวคุณแม่เอง  และผลกระทบกับลูกในท้องอีกด้วย  ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวในบทของมะเร็งเต้านม สำหรับก้อนเนื้อชนิดธรรมดาที่พบได้บ่อยกว่า  มักจะเป็นก้อนที่อาจโตมานานก่อนการตั้งครรภ์ หรือเพิ่งคลำพบ  ก้อนจะมีขอบเขตชัดเจน  และมักจะวินิจฉัยได้ไม่ยาก  โดยการคลำเต้านมของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เพียงพอ  การตรวจสอบเป็นพิเศษนั้นไม่มีความจำเป็น  เพราะการตรวจเช็คบางอย่าง  เช่นการทำเอกซเรย์แมมโมแกรม  ก็อาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้  โดยเฉพาะ  ในระยะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก   เพราะฉะนั้นขอย้ำให้สตรีทุกท่าน  จำไว้เลยนะครับว่าในระหว่างตั้งครรภ์ หรือเพียงสงสัยว่าตัวเองอาจตั้งครรภ์เมื่อจะต้องไปตรวจร่างกาย  จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ  เพราะถ้าแพทย์ไม่ซักประวัติเรื่องการตั้งครรภ์แล้ว  โดยเฉพาะในอายุครรภ์ 1-2 เดือนแรก  จะไม่ทราบเลยว่าคุณกำลังตั้งครรภ์อยู่  การให้ยาบางชนิด หรือการใช้เครื่องเอกซเรย์  โดยไม่มีการปิดบังส่วนมดลูกให้หมดด้วยแผ่นตะกั่วเป็นอันตรายมากเพราะอาจทำให้เด็กเกิดมาพิการได้  เนื่องจากในช่วงนี้ทารกในครรภ์กำลังมีการก่อตัวของอวัยวะต่างๆ อยู่ครับ

การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกที่เต้านมออกในระหว่างตั้งครรภ์มีอันตรายแค่ไหน
            ในกรณีที่เป็นก้อนเนื้องอกชนิดธรรมดา  และแพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกเพื่อพิสูจน์ชิ้นเนื้อ หรือเพื่อการรักษา  ถ้ากระทำในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์  จะมีความเสี่ยงต่อการแท้งได้บ้าง  โดยเฉพาะถ้าต้องดมยาสลบ  ถ้าผ่าตัดด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่  โดยไม่ต้องดมยาสลบ  เช่นก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก  การผ่าตัดนั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อเด็กและมีโอกาสแท้งน้อย  และแผลก็จะหายได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป  ถ้าพบในช่วงใกล้คลอด  และเป็นเนื้องอกธรรมดา  ก็สามารถเลื่อนการผ่าตัดออกไปได้  เพราะการผ่าตัดในช่วงใกล้คลอด  จะทำได้ลำบาก  ไหนจะต้องอุ้มท้องขึ้นเตียงผ่าตัดด้วยความอุ้ยอ้ายแล้ว  เต้านมที่กำลังขยายตัวก็มีเลือดมาเลี้ยงมากมาย  แถมมีน้ำนมคอลลอสตรัมอยู่เต็มเต้านม  อาจทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ  และเกิดการคั่งค้างของน้ำนม  เกิดการอักเสบ หรือมีน้ำนมคั่งและไหลออกตามรอยแผลผ่าตัดหลังการตัดไหมได้  ดังนั้นถ้าแพทย์แน่ใจในการวินิจฉัยว่าก้อนเต้านมไม่มีอันตรายอะไรก็อาจจะเลื่อนการผ่าตัดไปในช่วงหลังคลอด หรือหลังหย่านมแล้วก็ยังได้  โดยนัดให้ผู้ป่วยมารับการตรวจเป็นระยะทุก 3 เดือน


 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด