การให้นมลูก ตอนที่ 2

การให้นมลูก ตอนที่ 2

รศ.นพ.ศุภกร  โรจนนินทร์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            การคัดเต้านมไม่จำเป็นจะต้องเป็นทั้ง 2 ข้าง     ผู้เขียนเคยเจอคนไข้ อายุ 19 ปี  มาพบเนื่องจากเต้านมไม่เท่ากัน 2 ข้าง หลังจากมีลูกได้ 5 เดือน และให้ลูกกินนมตัวเอง     ซึ่งก่อนจะคลอดลูกเธอยืนยันว่าเต้านมของเธอเท่ากันมาตลอด     จากการตรวจเต้านมก็พบว่าเป็นเต้านมที่ยังคงมีน้ำนมอยู่ทั้ง 2 ข้าง     แต่ข้างขวาที่เล็กกว่าเป็นเต้านมที่ปกติ  ส่วนข้างซ้ายใหญ่กว่าประมาณ 1 เท่าตัว      จนรู้สึกตึงและหน้าอกคัด  ต่อมน้ำนมขยายใหญ่     จากการซักถามปรากฎว่าลูกจะดูดนมข้างขวามากกว่า  จึงน่าอธิบายได้ว่า  หน้าอกข้างขวาที่ลูกดูดนมมากทำให้น้ำนมไหลได้สะดวก  ส่วนด้านซ้ายที่ดูดนมน้อยกว่า  ทำให้น้ำนมค้างเต้าอยู่เป็นประจำ  และค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น  ถ้าขยายใหญ่ไปเรื่อย  ในที่สุดเต้านมข้างซ้ายก็จะหยุดสร้างน้ำนม  และไม่มีน้ำนมเกิดขึ้น  จึงแนะนำให้เธอพยายามให้ลูกดูดนมข้างซ้ายก่อน  จึงมาดูดข้างขวา  ช่วยลดการคัดเต้านมได้  เมื่อหย่านมแล้ว  หน้าอกก็คงจะเท่ากันใหม่  แต่ไม่ใช่เต้านมขวาจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นเท่ากับข้างซ้ายนะครับ  แต่ข้างซ้ายจะค่อย ๆ เล็กลงมา  จนเท่าข้างขวา  ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายของคนบางคนที่รู้สึกว่า เวลาหลังคลอดหน้าอกตัวเองจะดูเปล่งปลั่งใหญ่ดี  แต่เวลาหย่านมแล้วกลับมาเล็กเหมือนเดิม

เจ็บหัวนม
            การเจ็บหัวนมนั้นมักจะประสบกับคุณแม่มือใหม่เป็นส่วนมากที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการให้ลูกกินนมแม่   ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ก็อาจมีอาการลุกลามจากการเจ็บเต้านม  ไปจนเกิดมีแผลขึ้น อักเสบผื่นพุพอง เลือดออก  จนถึงกับเลิกให้กินนมไปเลย  ที่เป็นเช่นนี้มักมีสาเหตุ  ดังนี้
           เกิดในคุณแม่ที่มีน้ำนมคัด  บวมที่หัวนม  ทำให้ลูกดูดนมลำบากจึงยึดจับหัวนมด้วยความรุนแรง
           ปล่อยให้หัวนมชื้นตลอดเวลา  หรือ แพ้ต่อสารบางชนิดที่ใช้ เช่นครีม สบู่เครื่องพลาสติกต่าง ๆ
           รีบเอาปากลูกออกจากหัวนมในขณะที่ยังคงดูดนมอยู่จะทำให้เกิดสูญญากาศ  มีแรงดูดมากขณะที่ดึงออก  ควรรอให้เด็กคลายการดูดให้เรียบร้อยจึงเอาออกไม่ต้องรีบ
           ปล่อยให้เด็กหลับพร้อมกับการดูดที่หัวนมตลอดเวลา  หรือนานเกินไป  เด็กอาจจะกัด หรือดูดรุนแรง  ทำให้เกิดการเจ็บและเป็นแผลได้ง่าย

การปั๊มนมเก็บไว้ในตู้เย็น
            ในกรณีคุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้เนื่องจากการติดภาระหรือสาเหตุใดก็ตามบางครั้งอาจจำเป็นต้องเก็บน้ำนมไว้เลี้ยงลูกในมื้อต่อไป  การเก็บน้ำนมตัวเองที่ไม่ถูกวิธี  จะทำให้น้ำนมมีโอกาสติดเชื้อ   และแบคทีเรียขยายตัวจนทำให้น้ำนมบูดเสียทำให้เด็กท้องเสียได้
 
           วิธีการเก็บน้ำนม  จึงต้องมีมาตรฐาน  ตั้งแต่อุปกรณ์ ภาชนะ การปั๊มน้ำนม ตลอดจนการเก็บน้ำนมทั้งหมด ต้องทำอย่างถูกวิธี ดังนี้
           อุปกรณ์ปั๊มน้ำนม  พร้อมขวดและจุกนมจะต้องล้างให้สะอาดและต้มด้วยน้ำเดือดประมาณ 10-15 นาที
           ก่อนปั๊มน้ำนม  คุณแม่ต้องทำความสะอาดเต้านมเสียก่อน  โดยการอาบน้ำ หรือทำความสะอาดเต้านมและหัวนมด้วยน้ำสะอาด หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์หมาด ๆ 1-2 ครั้ง  และต้องล้างมือให้สะอาดก่อนเสมอ

เต้านมหลังหย่านม
           เมื่อเด็กหยุดกินนมแม่   น้ำนมที่ถูกสร้างมาไม่ได้ใช้  ก็จะมีการคั่งอยู่ในกลีบต่อมน้ำนมย่อย และท่อน้ำนม  จนเกิดการพองตัว  ทำให้เลือดมาหล่อเลี้ยงได้น้อย  และเซลล์ต่อมน้ำนมจะถูกเบียดจนแบน  ในที่สุด  เซลล์ต่อมน้ำนมก็จะตายไป  น้ำนมและเซลล์ต่อมน้ำนมที่ตายไปจะถูกกำจัดโดย  เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง  ซึ่งเปรียบเหมือนทหารเคลื่อนที่เร็ว  คอยปัดกวาดพื้นที่ให้เรียบร้อย  เสร็จแล้วจะมีการแตกตัวของต่อมน้ำนมขึ้นใหม่ แต่จำนวนจะลดลงไป  รวมทั้งท่อน้ำนมก็จะลดขนาดลงไปด้วย  ในเมื่อไม่มีการผลิตน้ำนมแล้ว  ก็เหลือแต่ท่อเปล่าๆ เล็กๆ  ซึ่งทั้งหมดก็จะเข้าสู่ภาวะปกติของเต้านมต่อไป  เต้านมจะค่อย ๆ เล็กลงจนเท่าขนาดก่อนตั้งครรภ์  แต่เต้านมหลังหย่านมจะไม่กลับมาเหมือนเต้านมเดิมก่อนคลอดทุกประการนะครับ  เหมือนคนที่เคยอ้วนแล้วผอมลงไปมาก  ก็จะดูเหี่ยวลง  เต้านมก็เช่นกัน  ผิวหนังที่เคยขยายตัวมาก ๆ ตอนให้นม  เมื่อขนาดเต้านมลดลงก็จะทำให้ดูไม่เต่งตึงเหมือนเก่า  บางคนผิวหนังขยายมากเกินไป  จนเกิดลายผิวหนังแตก    หัวนมจะใหญ่ขึ้นจากการดูดนม  วงปานนมที่คล้ำก็จะไม่กลับมาเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ เหมือนก่อน    และเต้านมอาจคล้อยลงได้  เนื่องจากมีการยืดตัวของผังผืดภายในเต้านม  อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้จักถนอมผิวพรรณด้วยโลชั่น  และการนวดเบาๆ  ที่ผิวหนังเต้านมเป็นประจำ  รวมทั้งการออกกำลังกายที่ส่วนหน้าอก  และการใส่ชุดชั้นในประคองอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยลง

การให้นมลูกเป็นการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติได้จริงหรือไม่
           โดยทั่วไป การให้นมลูกนับเป็นการคุมกำเนิด โดยธรรมชาติที่ดีที่สุด   ทั้งนี้เพราะธรรมชาติไม่ต้องการให้มีลูกถี่หรือติดกันเกินไป    เด็กที่เกิดมาจะแย่งกันกินนม  จนขาดอาหารได้     ซึ่งเป็นผลดีในประเทศด้อยพัฒนาในด้านการคุมกำเนิด    การให้ลูกกินนมแม่  ทำให้มีการชลอการตกไข่ของรังไข่ให้เนิ่นนานออกไปเอง     โดยเฉลี่ยในคุณแม่ที่ไม่ได้ให้นมหลังคลอด  จะเริ่มมีการตกไข่ใหม่หรือเริ่มมีประจำเดือน  ประมาณ 1-3  เดือน     แต่ถ้าให้นมลูก  การเริ่มตกไข่จะยาวนานออกไป  ประมาณ 9 สัปดาห์หลังคลอด จนถึง 18 เดือน  แต่คุณสุภาพสตรีอย่าเชื่อใจในทฤษฎีนี้มากไปนะครับ    แม้โดยเฉลี่ยจะเป็นอย่างนั้น  แต่ถ้าดูเฉพาะเป็นรายๆ ไป    การคุมกำเนิดด้วยการให้นมแม่นั้น เป็นวิธีการที่เชื่อถือไม่ค่อยได้     มีหลายรายนะครับที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต่อไปเลย  ก่อนจะเริ่มกลับมามีประจำเดือนด้วยซ้ำ     และมีถึง 50%  ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในระหว่างให้นมลูก    เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรปรึกษาสูติแพทย์เพื่อวางแผนการคุมกำเนิดไปด้วยจะดีกว่า     ซึ่งวิธีการคุมกำเนิดอาจจะทำหมันตัวคุณแม่เองหรือจับคุณสามีทำหมันก็ได้ถ้าคิดว่ามีลูกพอแล้ว     แต่ถ้าใช้วิธีอื่น ๆ เช่น การกินยาหรือการใส่ห่วง จะต้องปรึกษาแพทย์เพราะยาคุมกำเนิด จะทำให้ปริมาณน้ำนมลดน้อยลงไปจนอาจต้องหยุดการให้นมได้

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด