การให้นมลูก ตอนที่ 1

การให้นมลูก ตอนที่ 1

รศ.นพ.ศุภกร  โรจนนินทร์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


การดูแลเต้านมในช่วงให้นมลูก
            ปัจจุบัน มีการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันมาก     เพราะนมแม่ให้สารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์     และส่วนประกอบของน้ำนมก็เหมาะสมกับทารกในช่วง 3 เดือนแรกอย่างมาก      ผิดกับนมวัวผงที่จะต้องปรับสูตรและผสมความเข้มข้นของนมให้ได้ตามสัดส่วนที่ต้องการของเด็ก    นอกจากนั้น นมแม่ยังมีภูมิต้านทานต่าง ๆ ที่เด็กควรได้รับ    และยังสร้างความผูกพันและความอบอุ่นให้กับเด็ก    ซึ่งมิอาจจะตีเป็นมูลค่าได้    ขณะนี้มีหลายหน่วยงานในภาครัฐและเอกชนที่พยายามจัดสถานที่เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน     เพื่อให้คุณแม่ได้ทำงานไปและปลีกเวลามาให้นมลูกเป็นระยะ    ซึ่งก็ช่วยลดปัญหาดูแลลูกน้อยไปได้ระดับหนึ่ง  โดยเฉพาะในครอบครัวที่คุณพ่อและคุณแม่ต้องทำงานทั้งคู่และโชคไม่ดีพอที่จะมีคุณตาคุณยายใจดีมาช่วยเลี้ยงหลานให้เหมือนในอดีต คุณแม่หลายคนที่ไม่ใช้นมแม่เลี้ยงลูก    ก็มีเหตุผลพอที่จะยกตัวอย่างได้ เช่น หน้าอกเล็กน้ำนมไม่เพียงพอให้ลูกดูดนม หัวนมบอดทำให้ลูกดูดนมไม่ได้  ไม่มีเวลาเพียงพอเพราะต้องทำงาน  จึงไม่สะดวกใช้นมขวดดีกว่า บางคนก็ห่วงรูปร่างตัวเองมากไป  พยายามลดน้ำหนักตั้งแต่หลังคลอดเลยทีเดียว     ทำให้ได้สารอาหารไม่เพียงพอที่จะสร้างน้ำนม  หรือบางคนก็กลัวหน้าอกจะเหี่ยวคล้อยในอนาคต  ถ้าให้ลูกดูดนมนาน ๆ  สำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่าเด็กทุกคนควรจะได้นมแม่อย่างน้อยที่สุดก็ 3 เดือนแรก  เพราะจะลดปัญหาเรื่องระบบการย่อยและทางเดินอาหารของเด็ก  เช่น อาเจียน ท้องอืด หรือ ท้องเสีย ได้มากที่เดียว  โดยเฉพาะการให้นมแม่  จะทำให้ทารกเกิดโรคท้องเสียน้อยกว่าการเลี้ยงด้วยนมผงอย่างมาก  นอกจากนั้นก็ยังได้รับภูมิต้านทานต่าง ๆ  สร้างความผูกพันและเป็นการประหยัดได้อีกด้วย  หลังจากนั้นถ้ามีเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้จนครบปีก็จะเป็นการดีที่สุด  มีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าจะเลี้ยงด้วยนมแม่อย่าให้เด็กดูดนมขวดสลับกันไป เพราะเด็กจะดูดนมจากขวดได้สะดวกกว่า  จนบางครั้ง เด็กจะปฏิเสธนมแม่ไปเลย  ในกรณีที่คุณแม่ทำงานนอกบ้าน  ถ้าต้องการให้ลูกกินนมตัวเองจากขวดก็ได้  โดยการปั๊มน้ำนมใส่ขวดนมที่สะอาดและเก็บไว้ในตู้เย็นแต่จะต้องเก็บไว้อย่าให้เกิน 12 ชั่วโมง  เมื่อดูดนมแม่จากขวดจนอิ่ม  ถ้าน้ำนมยังเหลือ   ไม่ควรเก็บไว้อีก   เพราะนมจะบูดหรือเสียได้ง่าย
วิธีให้ลูกดูดนมตัวเองคงไม่ต้องอธิบายกันมากในที่นี้    สำหรับคุณแม่มือใหม่คงได้รับการฝึกหัดจากโรงพยาบาลหลังคลอดหรือหาหนังสืออ่านได้    โดยทั่วไปที่สำคัญคือ  ให้ศีรษะลูกอยู่สูงกว่าส่วนลำตัว     ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดส่วนเต้านมบริเวณขอบวงปานนมด้านบนและล่างไว้     ไม่ให้ปิดหรือเบียดบังจมูกของลูกขณะดูดนม    และยังเป็นการช่วยให้หัวนมชูชันขึ้นให้ลูกดูดนมสะดวกอีกด้วย    เมื่อดูดนมจนอิ่ม  ก็ให้อุ้มลูกพาดบ่า    จนกว่าจะเรอเอาลมออกมาจากกระเพาะแล้ว  จึงเปลี่ยนท่าอุ้มได้     ก่อนและหลังการให้นมแม่  คุณแม่จะต้องทำความสะอาดบริเวณหัวนมและรอบ ๆ ทุกครั้ง     โดยการเช็ดหรือล้างด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง     เสร็จแล้วใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ (ชนิดทาแผล)  พอหมาด ๆ เช็ดบริเวณหัวนม และโดยรอบให้ทั่ว     รอจนแอลกอฮอล์ระเหยไปจนหมด  จึงให้เด็กเริ่มดูดนม     สลับกันไปในแต่ละข้างอย่างสม่ำเสมอจนอิ่ม

ภูมิต้านทานของลูกที่ได้จากนมแม่
           น้ำนมแม่ให้ภูมิต้านทานเชื้อแบคทีเรียได้ดี  รวมถึงต้านทานไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเป็นประจำ เช่น เชื้อแบคทีเรียอีโคไล เชื้ออหิวาต์  เด็กที่กินนมแม่เป็นประจำ  จะเกิดท้องเสียน้อยกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผงอย่างมาก  ในสถานเลี้ยงเด็กบางแห่งที่มีโรคท้องร่วงระบาด   การให้เด็กกินนมแม่จะป้องกันโรคได้ดีทีเดียว  การป้องกันอาการท้องเสียในทารกที่กินนมแม่นั้น เชื่อว่าเกิดขึ้นจากการที่ทารกมีแบคทีเรียซึ่งได้มาขณะคลอดชนิดที่ไม่ทำอันตรายต่อร่างกายอยู่ในลำไส้  คือ แลคโตบาซิลไล และไบฟิโดแบคทีเรีย  และนมแม่จะมีสารกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดนี้  การมีแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดนี้ในลำไส้มากขึ้น  จะทำให้เกิดสภาพความเป็นกรดในลำไส้  ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อต่าง ๆ   โดยเฉพาะเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง

หัวนมบอดกับการให้นมลูก
           หัวนมบอด เกิดขึ้นจากความผิดปกติตั้งแต่เกิด  เพราะมีผังผืดยึดบริเวณท่อน้ำนมที่มาเปิดที่หัวนม  ไปดึงรั้งหัวนมไม่ให้ชูชันขึ้น  หัวนมบอดนอกจากจะทำความสะอาดยาก  การให้นมลูกก็ยากเช่นกัน  เด็กจะดูดนมได้ลำบาก ทำให้ไม่อยากกินนมแม่   หัวนมบอดบางคนเป็นไม่มากก็สามารถแก้ไขให้หัวนมชูชันขึ้นมา  เพื่อให้นมลูกได้ดี  โดยทำการบริหาร  ตั้งแต่เมื่อรู้ว่าตัวเองเริ่มตั้งครรภ์
           วิธีการบริหารหัวนมที่ง่าย ๆ ก็คือ  ดึงรั้งหัวนมด้วยนิ้วมือ  มีชื่อตามภาษาฝรั่งว่า  Hoffman’s exercise   โดยใช้นิ้วชี้ทั้ง 2 ข้าง  วางบริเวณขอบหัวนมในด้านที่ตรงข้ามกัน  ตามแนวขนาน และตามแนวดิ่ง  สลับกันไป  โดยนิ้วชี้ทั้งสองค่อย ๆ กดและแยกออกจากกันไปด้านนอกถึงขอบวงปานนม  หรือให้ค่อย ๆ ดึงจนสุดความตึงของผิวหนัง  ทำสลับกันในแนวราบและแนวดิ่งไปเรื่อย ๆ การบริหารให้ทำบ่อย ๆ  เมื่อมีโอกาส เช่น หลังอาบน้ำ เป็นต้น

ปัญหาเต้านมที่พบบ่อยในการให้นมลูก
เต้านมคัด
           การเกิดเต้านมคัดและตึงตัวนั้นมักเกิดในช่วงหลังคลอด 2-4 วัน เมื่อเต้านมเริ่มผลิตน้ำนม  มีสาเหตุจากการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล่าช้า เช่น การผ่าตัดคลอดลูก และแม่ยังไม่แข็งแรงพอ  หรือลูกมีปัญหาสุขภาพ เช่น ตัวเหลืองหลังคลอด  ยังให้นมแม่ไม่ได้    นอกจากนั้นอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น  การให้นมลูกไม่สม่ำเสมอ  การอุดตันของท่อน้ำนม  หัวนมบอด หรือ น้ำนมคัดในเวลาที่แม่ต้องการให้ลูกหย่านม 
           เต้านมคัด จะเริ่มจากมีน้ำนมสะสมในท่อและต่อมน้ำนมมาก  จนพองและบวมขึ้นในที่สุด    ทำให้ทางเดินน้ำเหลืองและเลือดที่มาหล่อเลี้ยงไหลเวียนไม่สะดวก  เป็นผลให้เกิดมีการบวมน้ำ  รอบ ๆ ท่อน้ำนมและขยายเรื่อยไปจนถึงผิวหนัง  เต้านมข้างที่คัดก็จะบวมใหญ่ขึ้นและบางครั้งมีการบวมมาถึงหัวนมและวงปานนม  ทำให้เด็กดูดนมไม่สะดวกเพราะปากเล็กยึดจับหัวนมยาก  การดูดและการบีบตัวของวงปานนมเพื่อปั๊มน้ำนมให้ออกจากเต้าจะทำลำบากขึ้น  ผลสุดท้ายก็เหมือนวงจรที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นอีก คือ เมื่อน้ำนมไม่สามารถระบายออกมาก็ยิ่งทำให้เกิดการคั่งบวมต่อไปอีก  แต่ท่านไม่ต้องกลัวว่าเต้านมจะพองตัวจนแตกเหมือนเป่าลูกโป่งนะครับ เพราะธรรมชาติกำหนดสมดุลย์ไว้ดีมาก  กล่าวคือ  เมื่อความตึงตัวมาถึงจุดหนึ่งก็จะมีความดันมากพอที่จะกดต่อมน้ำนมให้ลีบลง  และถ้ามีการกดอยู่นาน  จะทำให้ต่อมน้ำนมหยุดการสร้างน้ำนมได้ในที่สุด  เมื่อไม่มีน้ำนมสร้างขึ้นใหม่  เต้านมก็จะค่อย ๆ หยุดคัดได้

      -มีต่อตอนที่ 2-

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด