เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ (ตอนที่ 2)

เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ (ตอนที่ 2)

รศ.นพ.ศุภกร  โรจนนินทร์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เต้านมอักเสบหรือติดเชื้อเกิดได้อย่างไร
            สำหรับเต้านมของคุณแม่ที่กำลังสร้างน้ำนมอยู่นั้นจะมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียจากผิวหนังได้สูง  และทำให้เต้านมเป็นหนองได้ง่าย เพราะน้ำนมเป็นสารอาหารที่ดีมากของเชื้อโรคในการขยายพันธุ์  ถ้าลองเอานมตั้งทิ้งไว้ในห้องเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น  นมแก้วนั้นก็จะบูด  น้ำนมในเต้านมก็เหมือนกัน  จะติดเชื้อได้ง่าย  ถ้ามีเหลือค้างอยู่ในเต้านมมากเกินไป  เชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปตามท่อน้ำนมจากส่วนหัวนมและเจริญในน้ำนมที่ตกค้างในเต้านม      ร่างกายจะไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้  เพราะอยู่ในส่วนน้ำนมตกค้าง  ก่อให้เกิดการอักเสบในต่อมน้ำนม  มีอาการบวม แดง ร้อน  และปวด   เริ่มมีไข้  ปวดเมื่อยตามตัว  ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ การอักเสบก็จะกลายเป็นหนอง  มีอาการเจ็บปวดมากขึ้น  จนบวมเปล่งและแตกออกที่ผิวหนังในที่สุด เชื้อที่เป็นต้นเหตุของการอักเสบ  มีชื่อทางการแพทย์แบบสั้น ๆ ว่าสแตฟ ออเรียส (staphyllococcus  aureus)  เชื้อนี้    ปกติก็อาศัยอยู่ตามผิวหนังของคนเราโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ    ยกเว้นถ้ามีบาดแผล  หรือมีการอุดตันของท่อเปิดที่ผิวหนังจนมีสารของเสียคั่งค้าง  ก็จะทำให้เชื้อนี้เข้าไปหมกตัวขยายพันธุ์จนเกิดอาการอักเสบได้

การอักเสบในเต้านมนั้นไม่เกิดกับคุณแม่ทุกคน  แต่มักเกิดในคุณแม่ที่มีลักษณะและสถานการณ์ดังต่อไปนี้
           1. คุณแม่มือใหม่  ที่ไม่มีความรู้ในการให้นมลูกและการดูแลเต้านมอย่างถูกสุขลักษณะ  การอักเสบมักเกิดในเดือนแรกของการให้นมลูก
           2. คุณแม่ที่มีลูกอายุเกิน 6 เดือนและเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นมาใหม่ ๆ  เด็กจะรำคาญกับฟันใหม่ที่เกิด หรือเกิดอาการมันเขี้ยวก็จะดูดนมไปและกัดหัวนมไป  จนเกิดบาดแผลและเชื้อโรคก็เข้าทางบาดแผลนั้นไปสู่น้ำนมข้างใน
           3. คุณแม่ที่มีหัวนมบอด  หรือบุ๋ม  ทำให้ลูกดูดน้ำนมข้างนั้นได้ไม่สะดวก  จึงมีน้ำนมคั่งค้าง    หัวนมที่บอดจะทำความสะอาดหัวนมได้ยาก  ทำให้มีสารคั่งค้างเป็นที่อาศัยของเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายและเชื้อก็จะเข้าไปตามท่อน้ำนมเกิดอาการติดเชื้อในที่สุด
           4. คุณแม่ที่มีนมคัด   การมีน้ำนมคัด  คือการที่ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนมจนเต็มที่  แล้วนมถูกดูดออกไปไม่หมด  เกิดการคั่งค้างในท่อและต่อมน้ำนมทั้งเต้า  หรือบางส่วนของเต้านมที่ท่อน้ำนมส่วนนั้นมีการอุดตัน  น้ำนมที่คั่งค้างอาจฟอร์มตัวกลายเป็นถุงซิสท์น้ำนม (galactocoele)  ได้ในที่สุด (โดยปกติท่อน้ำนมที่รับน้ำนมจากต่อมน้ำนมจะรวมตัวกันมาเปิดที่หัวนมประมาณ 15-20 ท่อ) เมื่อมีน้ำนมคัดจะมีการตึงตัวของเต้านมและอาจมีน้ำนมไหลที่หัวนม  โอกาสติดเชื้อจึงมีได้สูง   แต่ถ้ามีการสร้างน้ำนม  โดยไม่มีการสะสมของน้ำนม  โอกาสจะติดเชื้อแบคทีเรียจะมีน้อยมาก  แม้ว่าจะมีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ร่วมด้วยก็ตาม

การป้องกันการติดเชื้อหรือเต้านมอักเสบ
           ทำความสะอาดบริเวณหัวนมและโดยรอบหัวนมทุกครั้งก่อนและหลังการให้นม
           ป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลจากการกัดหัวนม หรือ บาดแผลจากการอับชื้น จนเกิดอาการคัน ออกผื่น
           ทำความสะอาดหัวนมที่บอดให้ดี  โดยการใช้สำลีชุบน้ำสะอาดหมาด ๆ เช็ดที่หัวนมทุกครั้งเวลาอาบน้ำเพื่อไม่ให้มีสิ่งคั่งค้าง
           เมื่อมีน้ำนมคัด  ควรบีบนวด  ให้มีการระบายน้ำนมที่คั่งค้างให้หมด  หรือการประคบด้วยน้ำอุ่น ๆ เพื่อให้มีการไหลเวียนเลือดดีขึ้น
           ถ้าเริ่มมีการอักเสบ  รู้สึกตึง ปวด บวม แดง ร้อนที่เต้านม  ควรรีบปรึกษาแพทย์  ซึ่งจะให้ยาปฏิชีวนะ ที่มีความไวต่อการทำลายเชื้อ  ซึ่งปกตินิยมใช้คือ  ยาคล็อกซาซิลลิน (cloxacillin)  ยานี้ไม่มีผลต่อลูกแม้ว่าจะผ่านมาทางน้ำนม  ไม่ควรปล่อยการอักเสบให้เนิ่นนานไปโดยไม่รักษา  เพราะการอักเสบจะกลายเป็นหนอง  และแตกออกในที่สุด  ทำให้การรักษาต้องยุ่งยาก และใช้เวลานานกว่าเต้านมจะหายเป็นปกติ

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด