เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ (ตอนที่ 1)

เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ (ตอนที่ 1)

รศ.นพ.ศุภกร  โรจนนินทร์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            หลังจากที่เต้านมในหญิงสาวเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 20-25 ปี    เต้านมก็จะเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามรอบของประจำเดือน  บางคนจะรู้สึกเต้านมตึงตัวและเจ็บก่อนมีประจำเดือน  พอหลังรอบเดือน  จะเป็นช่วงที่เต้านมคลายตัว  ทำให้รู้สึกสบายและไม่เจ็บเต้านมเลย แต่ถ้าเริ่มมีการปฏิสนธิ  ฮอร์โมนจากรกที่เริ่มก่อตัวจะเป็นตัวสำคัญที่กระตุ้นรังไข่ให้มีการหลั่งฮอร์โมนเพศหญิง  เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และจะกระตุ้นให้เต้านม  โดยเฉพาะต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม  ตลอดจนไปเพิ่มกระแสเลือดที่มาหล่อเลี้ยง  เพื่อให้เต้านมอยู่ในสภาพพร้อมที่จะเป็นคุณแม่อย่างสมบูรณ์
            ฮอร์โมนจากรก  แลคโตเจน, โกแนโดโทรฟิน, โปรแลคติน  รวมทั้ง  ฮอร์โมนจากรังไข่  คือ เอสโตเจน และโปรเจสเตอโรน  จะกระตุ้นเต้านม  จากขนาดปกติ  ให้เริ่มขยายขึ้น  ในเดือนแรก  ส่วนของท่อน้ำนมจะแตกตัวขึ้นอย่างมาก  และรวดเร็วเหมือนกับการเจริญของถั่วงอกไม่มีผิด  ท่อน้ำนมจะเจริญไปจนถึงส่วนปลาย  และกลีบต่อมน้ำนมที่เป็นตุ่มเล็ก ๆ ก็จะเริ่มขยายตัวตามมากขึ้น  ในเดือนที่สอง  เต้านมจะใหญ่ขึ้นชัดเจน  สีของวงปานนมจะเริ่มเข้ม  คล้ำขึ้น  เมื่อเลย 4 เดือนไปแล้ว  กลีบต่อมน้ำนมจะเริ่มขยายและมีเซลล์ต่อมน้ำนมเกิดขึ้นชัดเจน  ต่อมน้ำนมจะสร้างน้ำคัดคลั่งที่เป็นสีใสขุ่น  แต่ยังไม่เป็นสีน้ำนม  ซึ่งน้ำคัดหลั่งนี้อุดมด้วยสารภูมิต้านทานและเซลล์เม็ดเลือด และไขมัน  ซึ่งเราเรียกว่า  คอลลอสตรัม (colostrum)  เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 เดือน  ต่อมน้ำนมจะขยายเพิ่มขึ้น  มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นจนเห็น  เส้นเลือดดำใต้ผิวหนังขยาย   รวมทั้งมีเซลล์กล้ามเนื้อรอบ ๆ ท่อน้ำนมหนาตัวขึ้น  เพื่อพร้อมให้นมลูกต่อไป  น้ำคัดหลั่งคอลอสตรัมก็จะเพิ่มจำนวน  ถ้าบีบหัวนมจะมีน้ำขุ่น ๆ ไหลออกมาได้  เมื่อครบกำหนดคลอด  หน้าอกจะขยายขึ้นประมาณ 1-2 เท่า และมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นถึง  80%  ในช่วงแรกหลังการคลอด  เต้านมจะยังไม่สร้างน้ำนมทันทีจะมีแต่น้ำคัดหลั่ง คอลอสตรัม  ซึ่งเป็นสารที่อุดมด้วย วิตามิน  ภูมิต้านทาน และไขมัน ออกมาประมาณ 2-3  วัน หลังจากนั้น  ถ้ามีการให้นม เต้านมก็เริ่มผลิตน้ำนมขึ้นมาแทน

 

การผลิตน้ำนม
            หลังคลอด ฮอร์โมนจากรกจะลดลงไปทันที่  ทำให้การกระตุ้นฮอร์โมนเพศที่รังไข่เริ่มลดลงด้วย    ฮอร์โมนเหล่านี้เป็นตัวยับยั้งไม่ให้มีการสร้างน้ำนมในขณะตั้งครรภ์  เมื่อฮอร์โมนนี้ลดลง  และลูกเริ่มดูดนมแม่  การดูดนมจะเป็นตัวกระตุ้นต่อสมองให้มีการสร้างฮอร์โมน  โปรแลคตินมากขึ้น  ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นกลีบต่อมน้ำนมที่ขยายมากมายให้มาสร้างน้ำนมทั้งหมด  น้ำนมจะเริ่มผลิตได้อย่างสมบูรณ์หลังคลอดแล้ว 2-5 วัน  ตราบใดที่ยังมีการระบายน้ำนมออกไปทุกวันด้วยการดูดนม  ก็จะมีการสร้างฮอร์โมน  มากระตุ้นการสร้างน้ำนมทดแทนตลอดเวลา  แต่หากว่าทารกหยุดการดูดนมเกิน 2 วันเมื่อไร  เต้านมจะเริ่มคัดและการสร้างน้ำนมก็จะลดลงไปอย่างรวดเร็ว

น้ำนมไหลได้อย่างไร
            ท่านผู้อ่านคงไม่ทราบว่า   ที่หัวนมของคนเรานั้นมีปลายประสาทอัตโนมัติ    เหมือนกับสายไฟฟ้าครบวงจร ไปจนถึงสมองสั่งการ    ถ้ามีการกระตุ้นหัวนมด้วยการดูดนมเมื่อไร    จะมีสัญญานอัตโนมัติเป็นรีเฟล็กให้สมองสร้างฮอร์โมน    เรียกว่า  ออกซีโตซิน  มาตามกระแสเลือด  จนถึงเต้านม     ฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นเซลล์กล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ท่อตั้งแต่ส่วนปลายมาจนถึงหัวนมและวงปานนมที่มีกล้ามเนื้อเรียบชนิดนี้อยู่มากให้บีบตัวเป็นระยะและคล้องจอง     รีดน้ำนมจากส่วนปลายที่ต่อมน้ำนม     ระบายมายังท่อน้ำนมไปจนถึงหัวนม  อย่างต่อเนื่องด้วยแรงดูดจากปากเด็ก     แรงส่งในตัวเต้านมก็จะทำให้น้ำนมไหลอย่างสม่ำเสมอในขณะดูดนม    นับเป็นการสร้างกลไกของธรรมชาติได้อย่างยอดเยี่ยมมาก
 ดังนั้น ถ้ามีเหตุที่ทำให้วงจรนี้เสียไป  เช่น จากการผ่าตัดเต้านมมาก่อน หรือมีบาดแผลที่เคยทำลายเส้นประสาทเหล่านี้ไปมาก  โดยเฉพาะคนที่เคยผ่าตัดลดขนาดเต้านมอาจทำให้การให้นมลูกมีปัญหาในการระบายของน้ำนมได้

การดูแลเต้านมในช่วงให้นมลูก
            ปัจจุบัน มีการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันมาก     เพราะนมแม่ให้สารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์     และส่วนประกอบของน้ำนมก็เหมาะสมกับทารกในช่วง 3 เดือนแรกอย่างมาก      ผิดกับนมวัวผงที่จะต้องปรับสูตรและผสมความเข้มข้นของนมให้ได้ตามสัดส่วนที่ต้องการของเด็ก    นอกจากนั้น นมแม่ยังมีภูมิต้านทานต่าง ๆ ที่เด็กควรได้รับ    และยังสร้างความผูกพันและความอบอุ่นให้กับเด็ก    ซึ่งมิอาจจะตีเป็นมูลค่าได้    ขณะนี้มีหลายหน่วยงานในภาครัฐและเอกชนที่พยายามจัดสถานที่เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน     เพื่อให้คุณแม่ได้ทำงานไปและปลีกเวลามาให้นมลูกเป็นระยะ    ซึ่งก็ช่วยลดปัญหาดูแลลูกน้อยไปได้ระดับหนึ่ง  โดยเฉพาะในครอบครัวที่คุณพ่อและคุณแม่ต้องทำงานทั้งคู่และโชคไม่ดีพอที่จะมีคุณตาคุณยายใจดีมาช่วยเลี้ยงหลานให้เหมือนในอดีต  คุณแม่หลายคนที่ไม่ใช้นมแม่เลี้ยงลูก    ก็มีเหตุผลพอที่จะยกตัวอย่างได้ เช่น หน้าอกเล็กน้ำนมไม่เพียงพอให้ลูกดูดนม หัวนมบอดทำให้ลูกดูดนมไม่ได้  ไม่มีเวลาเพียงพอเพราะต้องทำงาน  จึงไม่สะดวกใช้นมขวดดีกว่า บางคนก็ห่วงรูปร่างตัวเองมากไป  พยายามลดน้ำหนักตั้งแต่หลังคลอดเลยทีเดียว     ทำให้ได้สารอาหารไม่เพียงพอที่จะสร้างน้ำนม  หรือบางคนก็กลัวหน้าอกจะเหี่ยวคล้อยในอนาคต  ถ้าให้ลูกดูดนมนาน ๆ   สำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่าเด็กทุกคนควรจะได้นมแม่อย่างน้อยที่สุดก็ 3 เดือนแรก  เพราะจะลดปัญหาเรื่องระบบการย่อยและทางเดินอาหารของเด็ก  เช่น อาเจียน ท้องอืด หรือ ท้องเสีย ได้มากที่เดียว  โดยเฉพาะการให้นมแม่  จะทำให้ทารกเกิดโรคท้องเสียน้อยกว่าการเลี้ยงด้วยนมผงอย่างมาก  นอกจากนั้นก็ยังได้รับภูมิต้านทานต่าง ๆ  สร้างความผูกพันและเป็นการประหยัดได้อีกด้วย  หลังจากนั้นถ้ามีเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้จนครบปีก็จะเป็นการดีที่สุด   มีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าจะเลี้ยงด้วยนมแม่อย่าให้เด็กดูดนมขวดสลับกันไป เพราะเด็กจะดูดนมจากขวดได้สะดวกกว่า  จนบางครั้ง เด็กจะปฏิเสธนมแม่ไปเลย ในกรณีที่คุณแม่ทำงานนอกบ้าน  ถ้าต้องการให้ลูกกินนมตัวเองจากขวดก็ได้  โดยการปั๊มน้ำนมใส่ขวดนมที่สะอาดและเก็บไว้ในตู้เย็นแต่จะต้องเก็บไว้อย่าให้เกิน 12 ชั่วโมง  เมื่อดูดนมแม่จากขวดจนอิ่ม  ถ้าน้ำนมยังเหลือ   ไม่ควรเก็บไว้อีก   เพราะนมจะบูดหรือเสียได้ง่าย  วิธีให้ลูกดูดนมตัวเองคงไม่ต้องอธิบายกันมากในที่นี้    สำหรับคุณแม่มือใหม่คงได้รับการฝึกหัดจากโรงพยาบาลหลังคลอดหรือหาหนังสืออ่านได้    โดยทั่วไปที่สำคัญคือ  ให้ศีรษะลูกอยู่สูงกว่าส่วนลำตัว     ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดส่วนเต้านมบริเวณขอบวงปานนมด้านบนและล่างไว้     ไม่ให้ปิดหรือเบียดบังจมูกของลูกขณะดูดนม    และยังเป็นการช่วยให้หัวนมชูชันขึ้นให้ลูกดูดนมสะดวกอีกด้วย    เมื่อดูดนมจนอิ่ม  ก็ให้อุ้มลูกพาดบ่า    จนกว่าจะเรอเอาลมออกมาจากกระเพาะแล้ว  จึงเปลี่ยนท่าอุ้มได้     ก่อนและหลังการให้นมแม่  คุณแม่จะต้องทำความสะอาดบริเวณหัวนมและรอบ ๆ ทุกครั้ง     โดยการเช็ดหรือล้างด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง     เสร็จแล้วใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ (ชนิดทาแผล)  พอหมาด ๆ เช็ดบริเวณหัวนม และโดยรอบให้ทั่ว     รอจนแอลกอฮอล์ระเหยไปจนหมด  จึงให้เด็กเริ่มดูดนม     สลับกันไปในแต่ละข้างอย่างสม่ำเสมอจนอิ่ม

- มีต่อตอนที่ 2-

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด