การรักษาอนามัยของสายเสียง (Vocal Hygiene)

การรักษาอนามัยของสายเสียง (Vocal Hygiene)

ภาควิชาโสต  นาสิก  ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด
            การเปล่งเสียงพูดเกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ ได้แก่ ระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร เสียงพูดเกิดจากลมหายใจออก ที่ผ่านออกจากปอดและหลอดลมไปยังสายเสียง (สายเสียงอยู่ที่ระดับลูกกระเดือก  ช่วงที่เราพูด กล้ามเนื้อของสายเสียงจะดึงสายเสียงให้เข้ามาชิดกัน)  ลมจากปอดนี้จะดันให้สายเสียงเปิด – ปิด แยกออกเป็นจังหวะ มีผลให้สายเสียงเกิดการสั่นพริ้ว   ถ้าสายเสียงสั่นพริ้วด้วยความถี่สูง เสียงจะสูง  ถ้าสายเสียงสั่นพริ้วด้วยความถี่ต่ำ  เสียงจะทุ้ม  เสียงที่เกิดจากการสั่นพริ้วของสายเสียงเพียงอย่างเดียวจะมีเสียงเหมือนเสียงปี่คือ มีแต่เสียงสูงต่ำ  จนเมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของอวัยวะที่อยู่เหนือสายเสียงคือ อวัยวะในช่องคอ และช่องปากก็จะทำให้เกิดเป็นเสียงพูด    จะเห็นได้ว่าสายเสียงเป็นอวัยวะที่สำคัญในการสร้างเสียง  หากเกิดปัญหากับสายเสียง ใช้เสียงผิดวิธีจะทำให้เกิดสายเสียงอักเสบ  บวมแดง  เกิดตุ่มเนื้อที่สายเสียง  สายเสียงก็จะไม่สามารถผลิตเสียงที่มีคุณภาพดีๆได้  ทำให้เกิดเสียงแหบแห้งหรือ เสียงหาย      ดังนั้นเพื่อให้มีสายเสียงไว้ใช้ได้นานๆ  จึงจำเป็นต้องรักษาสุขอนามัยของสายเสียง

การรักษาอนามัยของสายเสียง
            เป็นการปฏิบัติตน เพื่อดูแลสายเสียงและลดอันตรายหรือความเสียหายต่อสายเสียง ซึ่งควรปฏิบัติให้เป็นนิสัย เพื่อให้เรามีเสียงพูดไว้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะถ้าเราต้องใช้เสียงในการประกอบอาชีพ เช่น อาชีพทนาย, ครู, พนักงานรับโทรศัพท์, พนักงานประชาสัมพันธ์, นักแสดง, นักร้อง หรือนักการเมือง 

การรักษาอนามัยของสายเสียงนั้นควรปฏิบัติดังนี้
           1. หลีกเลี่ยงการตะโกน กรีดร้อง หรือหัวเราะเสียงดัง
           2. หลีกเลี่ยงการพูดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ   ควรมีเวลาสำหรับหยุดพักการใช้เสียงด้วย เช่น ทุกครึ่งถึงหนึ่ง   ชั่วโมง
           3. ไม่พูดโดยใช้เสียงสูง หรือต่ำเกินไป
           4. ไม่พูดแข่งกับเสียงดังอื่นๆ หรือพูดในที่ๆมีเสียงดังรบกวนเช่น  เสียงเครื่องจักร   เสียงเพลง   เสียงรถยนต์   เสียงจ้อกแจ้ก จอแจต่างๆ   ถ้าจำเป็นควรเขยิบไปใกล้ๆผู้ฟัง หรือใช้เครื่องขยายเสียงช่วย
           5. ไม่ร้องเพลงหรือพูดมาก  ขณะป่วย, ร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย, มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือขณะออกกำลังกาย
           6. ไม่พูดกระแทกเสียง หรือเน้นคำหรือประโยคใดๆ  หลีกเลี่ยงการกระซิบหรือ บ่นพึมพำในลำคอ
           7. ไม่เค้นเสียงพูด หรือเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า  คอ  ไหล่  ขณะพูด
           8. ไม่ควรไอ  กระแอม  ขากเสมหะ  หรือจามบ่อย  ถ้ามีอาการเหล่านี้บ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาเมื่อใดรู้สึกว่ามีเสมหะ จำเป็นต้องกระแอม ควรกลืน หรือดื่มน้ำ หรือไอ กระแอม หรือขากเสมหะเบาๆ
           9. ไม่พูดดัดเสียงหรือเลียนเสียงแปลกๆ  ไม่พูดเร็วเกินไป  ควรพูดช้าๆ และหยุดพักเป็นช่วงๆ เพื่อหายใจ 
           10. ไม่พูดขณะหายใจเข้า หรือกลั้นหายใจพูด  ควรพูดขณะหายใจออก และผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน และควรหายใจเข้า และออกทางปากขณะพูด
           11. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่  ดื่มสุรา  ชา  กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ร้อน หรือเย็นจัดเกินไป 
           12. หลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กับบุคคลที่กำลังสูบบุหรี่
           13. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัดเช่น  เผ็ดจัด  ร้อนจัด  เย็นจัด  เปรี้ยวจัด  หวานหรือ มันจนเกินไป เพราะจะทำให้น้ำลายหรือเสมหะเหนียวข้น  รู้สึกระคายคอ และทำให้อยากไอ กระแอมมากขึ้น
           14. หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง ควันพิษ  อากาศไม่บริสุทธิ์  หรือสารเคมี  ที่ๆมีอากาศแห้งหรือเย็นจนเกินไปเช่น ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด  เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อ กล่องเสียงและสายเสียง
           15. ควรขยันดื่มน้ำมากๆ และบ่อยๆ     ในผู้ใหญ่ควรดื่มวันละ 8 – 10 แก้ว   หรือประมาณ 2 ลิตรต่อวัน  การดื่มน้ำอุ่นจะทำให้คอชุ่มชื่น และช่วยละลายเสมหะได้ดีขึ้น   หลีกเลี่ยงการรับประทาน ยาแก้แพ้ชนิดง่วง และยาแก้อาการคัดจมูก ซึ่งจะทำให้คอแห้ง
           16. ควรเข้าไปใกล้ผู้ฟังในขณะพูด เพื่อจะได้ไม่ต้องพูดเสียงดัง
           17. สำหรับผู้ที่มีอาชีพต้องใช้เสียง  ควรหาอุปกรณ์ช่วย เช่น ไมโครโฟน  จะได้ไม่ต้องตะโกนหรือ  ตะเบ็งเสียงขณะพูด
           18. หลีกเลี่ยงการใช้ยาอมแก้เจ็บคอหรือแก้ไอ หรือยาสเปรย์พ่นคอ ซึ่งมีส่วนผสมของยาชา เพราะจะทำให้ใช้เสียงได้มากขึ้น ทำให้สายเสียงแย่ลง
           19. ถ้ารู้สึกแน่นๆ ในคอ  เจ็บคอ  การหายใจเอาไอน้ำร้อนเข้าไป จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ ทำให้คอโล่งขึ้น
           20. ถ้ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการออกเสียง หรือ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะมีอาการไอ  ควรรีบปรึกษาแพทย์


 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด